xs
xsm
sm
md
lg

อุทธรณ์พิพากษาแก้ยกฟ้องอดีตแกนนำพันธมิตรทั้ง 9 คน คดีชุมนุมดาวกระจายไล่รัฐบาลสมัคร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ยกฟ้องอดีตแกนนำพันธมิตรฯ ทั้ง 9 คน คดีชุมนุมดาวกระจายตามสถานที่ราชการ ขับไล่รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ปี 51



วันนี้ (30 ม.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดี 907 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำที่ อ.3973/2558 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อายุ 79 ปี, นายสนธิ ลิ้มทองกุล อายุ 68 ปี, นายพิภพ ธงไชย อายุ 69 ปี, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อายุ 64 ปี, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข อายุ 69 ปี, นายสุริยะใส กตะศิลา อายุ 42 ปี, นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ อายุ 65 ปี, นายอมร อมรรัตนานนท์ หรือนายรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี อายุ 58 ปี และนายเทิดภูมิ ใจดี อายุ 73 ปี เป็นจำเลยที่ 1-9 ในความผิดฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการโดยผู้กระทำคนหนึ่งคนใดมีอาวุธเมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดให้เลิกแล้วแต่ไม่เลิก จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

อัยการโจทก์ฟ้อง เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2558 ระบุว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2551 เวลากลางวัน จำเลยทั้ง 9 คนซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หรือกลุ่มคนเสื้อเหลือง ได้จัดชุมนุมใหญ่ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กทม. โดยร่วมกันใช้รถยนต์บรรทุกหกล้อ 5 คัน เป็นเวทีปราศรัยเคลื่อนที่ ติดตั้งเครื่องขยายเสียงและลำโพง ต่อมาเวลากลางคืนจำเลยทั้งหมดได้นำกลุ่มพันธมิตรฯ จำนวนมากเคลื่อนขบวนไปตามถนนราชดำเนินมุ่งหน้าไปที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อรถเวทีปราศรัยเคลื่อนผ่านไปบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ได้มีเจ้าพนักงานตำรวจตั้งแถวสกัดกั้นเอาไว้ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมสามารถฝ่าแนวกั้นไปได้ และได้ปิดการจราจรในถนนราชดำเนินนอก ตั้งแต่สี่แยกมัฆวานรังสรรค์ไปจนถึงสี่แยก จปร.เป็นที่ชุมนุมประท้วงไปจนถึงวันที่ 5 ต.ค. 2551 โดยได้มีการตั้งเวทีถาวร กางเต็นท์ มีโรงครัวปรุงอาหาร ขึงลวดหนามกั้นถนนราชดำเนินนอก ห้ามบุคคลเข้าออกบริเวณที่ชุมนุม มีการตั้งกองกำลังรักษาความปลอดภัยเรียกว่า “นักรบศรีวิชัย” นอกจากนี้ยังมีการจัดเตรียมเครื่องมือเช่น ไม้เบสบอล หนังสติ๊ก ท่อนเหล็ก เพื่อใช้เป็นอาวุธ ส่อไปในทางที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงถึงขนาดก่อความไม่สงบขึ้นในประเทศ ส่วนบนเวทีปราศรัยจำเลยทั้ง 9 คน ได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นกล่าวปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช โดยจัดการปราศรัยปลุกระดมมวลชนที่มาฟังและร่วมชุมนุมไปตลอด 24 ชั่วโมง

ภายหลังได้ร่วมกันชักชวนผู้ชุมนุมหลายหมื่นคนกระทำการปิดถนนสาธารณะและเคลื่อนกำลังไปในลักษณะ “ดาวกระจาย” ใช้รถยนต์บรรทุกเป็นเวทีปราศรัยเคลื่อนที่ไปกดดันบริเวณสถานที่ราชการหลายแห่ง เช่นกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โรงเรียน สถานศึกษา ซึ่งตั้งอยู่ใกล้บริเวณที่ชุมนุม ต้องหยุดการเรียนการสอนหลายครั้ง เนื่องจากเกรงว่าจะไม่มีความปลอดภัยจากการชุมนุมในลักษณะดังกล่าว นอกจากนี้ยังได้เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลอีกด้วย

โดยวันนี้จำเลยทั้งหมดมาฟังคำพิพากษา มีเพียงนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เบิกตัวมาจากเรือนจำกลางคลองเปรม

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2560 ว่า มีประเด็นวินิจฉัยว่าคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1-6 เป็นการฟ้องซ้ำหรือไม่ เห็นว่า การกระทำที่ก่อให้เกิดความผิดของจำเลยที่ 1-6 ซึ่งโจทก์ฟ้องในคดีดำ อ.4925/2555 และคดีดำ อ.276/2556 ไปแล้วกับความผิดในคดีนี้ เป็นการกระทำความผิดในคราวเดียวกัน โดยเหตุการณ์เริ่มต้นจากจำเลยที่ 1-6 มีการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 อันเป็นความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปแล้วก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองกับมีเจตนาพิเศษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 แล้วร่วมกันบุกรุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลจนทำให้ทรัพย์สินบางส่วนได้รับความเสียหาย

การกระทำของจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลและทำให้เสียทรัพย์ เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และมาตรา 116 ด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1-6 ในความผิดทั้ง 2 คดี จึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ในคดีก่อนโดยไม่ฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 215 มาในคดีเดียวกันจนศาลมีคำพิพากษาในคดีความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ กรณีต้องถือว่ามูลความผิดในคดีนี้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว โจทก์จึงนำการกระทำความผิดในคราวเดียวกันมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1-6 เป็นคดีนี้อีกไม่ได้ ดังนั้นสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์สำหรับ จำเลยที่ 1-6 ย่อมระงับไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 7-9 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในวันเวลา และสถานที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 7-9 ร่วมชุมนุมในกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2551 จำเลยที่ 7 ร่วมอยู่กลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณถนนมิตรภาพ จ.นครราชสีมา และได้ปราศรัยให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมฟัง ส่วนจำเลยที่ 8 ร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมาโดยตลอด ขึ้นปราศรัยและเป็นพิธีกรบนเวทีหลายครั้ง ส่วนจำเลยที่ 9 ร่วมชุมนุมและปราศรัยบนเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหลายครั้ง และข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าระหว่างการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. 2551 มีผู้เข้าร่วมชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ จำนวนมากทำให้การจราจร เช่น ถนนพระราม 5 ถ.พิษณุโลก ถ.ราชดำเนินถูกปิดกั้นการจราจรไปโดยปริยาย กรณีต้องถือว่าการชุมนุมและกิจกรรมประกอบการชุมนุม ซึ่งจัดทำขึ้นบนถนนและทางสาธารณะกีดขวางการจราจรเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ส่วนการใช้เครื่องขยายเสียงของกลุ่มผู้ชุมนุมรับฟังได้ว่าเป็นการกระทำที่มิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมาย นอกจากนี้โรงเรียนและสถานศึกษาหลายแห่งที่อยู่ใกล้เคียงสถานที่ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯต้องระงับการเรียนการสอนหลายครั้ง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ การกระทำของจำเลยที่ 7-9 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคหนึ่ง

ส่วนความผิดในส่วนของการเป็นหัวหน้า หรือผู้มีหน้าที่สั่งการนั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 7-9 เป็นเพียงผู้เข้าร่วมชุมนุมและขึ้นเวทีปราศรัยบนเวทีเท่านั้น ข้อเท็จจริงยังไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 7-9 กระทำความผิดโดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้ทำหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิด

สำหรับความผิดตาม มาตรา 116 ฐานผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือหนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 7-9 ร่วมชุมนุมและขึ้นเวทีปราศรัยให้แก่ผู้เข้าร่วมชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯฟัง แต่กรณียังไม่ชัดเจนว่าการกระทำของจำเลยที่ 7-9 หรือการชุมนุมของกลุ่มพันมิตรฯ มิได้เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ เนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ บรรยากาศโดยรวมต้องถือว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 63 ส่วนความไม่สงบที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมเกิดจากฝ่ายตรงข้ามซึ่งได้รับผลกระทบจากการชุมนุม นอกจากนี้ การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯยังทำให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมและประชาชนทราบว่ารับรัฐของนายสมัคร สุนทรเวช อยู่ภายใต้การครอบงำและสั่งการของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และทราบถึงการกระทำของกลุ่มบุคคลในเครือข่ายระบอบทักษิณ รวมทั้งทราบถึงการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลที่ไม่มีคุณธรรมและธรรมาภิบาลในการบริหารราชการบ้านเมือง มีวาระซ่อนเร้นและเป็นการกระทำที่ขัดผลประโยชน์หลายเรื่อง การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และการกระทำของจำเลยที่ 7-9 จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116

จึงพิพากษาว่า จำเลยที่ 7-9 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 ศาลพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี เจตนาและเหตุผลในการกระทำประกอบอายุ ประวัติ อาชีพ ความประพฤติ การศึกษา และสุขภาพของจำเลยที่ 7-9 โดยรวมแล้วกรณีเห็นควรให้รอการกำหนดโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1-6

ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์โดยอธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลสูง ซึ่งมีประเด็นวินิจฉัยว่า คดีที่อัยการโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1-6 เป็นการฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ อ.1877/2558 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.1878/2558 หรือไม่ เห็นว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นกดดันให้ให้รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวชลาออก ซึ่งโจทก์ฟ้องเป็นหมายเลขแดงที่ อ.1877/2558 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.1878/2558ไปแล้วกับความผิดในคดีนี้ ซึ่งเป็นการกระทำความผิดในคราวเดียวกัน อันเป็นความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปแล้วก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา116 และ 215 ดังนั้นการกระทำของจำเลยที่ 1-6 ในความผิดทั้ง 2 คดี จึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ในคดีก่อนโดยไม่ฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 215 มาในคดีเดียวกันจนศาลมีคำพิพากษาในคดีความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ กรณีต้องถือว่ามูลความผิดในคดีนี้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว โจทก์จึงนำการกระทำความผิดในคราวเดียวกันมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1-6 เป็นคดีนี้อีกไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ส่วนจำเลยที่ 7-9 นั้น เห็นว่า ไม่ได้กระทำความผิดฐานก่อความวุ่นวายตามมาตรา 215 วรรคแรก เนื่องจากการกลุ่มพันธมิตรฯ ชุมนุมโดยสงบ แม้โจทก์จะมีพยานเจ้าหน้าที่เบิกความกรณีผู้ชุมนุมต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติงานจากการที่เจ้าหน้าที่ได้เข้ารื้อเวทีและเต๊นท์ของกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่ได้เริ่มจากกลุ่มผู้ชุมนุม ส่วนที่มีการตรวจค้นพบขวานและเหล็กแป๊บในพื้นที่ภายหลังกลุ่มผู้ชุมนุมขนย้ายเต้นท์และข้าวของออกไปหมดแล้ว จึงค่อนข้างผิดวิสัย อีกทั้งก็ไม่ได้ค้นพบจากตัวผู้ชุมนุม ทำให้มีข้อสงสัยว่าอาจจะไม่ใช่ของผู้ชุมนุมเอง จึงเห็นว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯเป็นการชุมนุมโดยสงบ ใช้สิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ จึงพิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องจำเลยที่ 7-9 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ภายหลังพิพากษา นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อดีตแกนนำพันธมิตรฯ ให้สัมภาษณ์ว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นยกฟ้องจำเลยที่ 1-6 ศาลเห็นว่าฟ้องซ้ำ ส่วนแนวร่วมจำเลยที่ 7-9 ศาลเห็นว่าผิดจริงให้รอการกำหนดโทษนั้น ในวันนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องทุกข้อหา เพราะคำให้การของพยานระบุว่ากลุ่มผู้ชุมนุมกระทำตามรัฐธรรมนูญด้วยความบริสุทธิ์ใจ และการกระทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญถือเป็นหน้าที่ของพลเมืองด้วย สำหรับตนเองถูกดำเนินคดีทั้งหมด 11 คดี ไม่เคยเห็นศาลอ้างรัฐธรรมนูญเหมือนคดีดาวกระจายนี้ ซึ่งศาลเริ่มเอารัฐธรรมนูญมาใช้แล้ว คิดว่าบรรยากาศจะดีขึ้น

ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา กล่าวว่า ขอบคุณกระบวนการยุติธรรม เพราะเราเชื่อมั่นและยืนยันมาตลอดว่าพร้อมสู้ทุกคดี ไม่หนี และใช้สิทธิทางศาลอย่างเต็มที่ ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรก็น้อมรับ วันนี้เป็นอีกกรณีที่ยืนยันว่าสิ่งที่พวกเราชุมนุมต่อสู้กันมา เรากระทำโดยสุจริตใจ อยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ ศาลชี้ให้เห็นว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ แต่เหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากภายนอก เป็นพยานหลักฐานสำคัญที่ยกมาต่อสู้ในทุกคดี เราไม่ได้ยกพวกไปตีกับใคร เราชุมนุมโดยสงบที่ทำเนียบฯ เดี๋ยวก็มี ระเบิดเอ็ม 79 ยิงมา มีชายฉกรรจ์ชายชุดดำออกมา สุดท้ายความจริงปรากฏว่าความตั้งใจของพวกเราที่ต่อสู้เพื่อบ้านเมือง ซึ่งศาลท่านเห็นและสังคมก็จะเห็นตาม ไม่ว่าวันหน้าจะเกิดอะไรขึ้น ก็ยังมั่นใจในความสุจริตที่ต่อสู้มาทั้งหมดเพื่อส่วนรวม

ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าการสู้คดีชุมนุม กปปส. นายสุริยะใสกล่าวว่า ตนอยู่ระหว่างประสานงานเพื่อขอรับทราบข้อกล่าวหาเนื่องจากที่ผ่านมาตนเลื่อนนัดหลายครั้งจากการติดธุระด้วย และไปต่างประเทศด้วย มีประชุมที่มหาวิทยาลัยด้วย คิดว่าภายใน 1-2 เดือนนี้อาจจะได้นัดมอบตัว






กำลังโหลดความคิดเห็น