xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ใช้ ม.44 ปลดล็อคกัญชา พิจารณาให้ดีประโยชน์นี้เพื่อใคร

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


และแล้วก็มา?! คำสั่งแรกจากหัวหน้า คสช.ที่อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 และมาตรา 44 เปิดปฐมฤกษ์เรื่องปลดล็อคการจดสิทธิบัตรกัญชา ประเดิมเป็นกรณีที่ 1 ของศักราชนี้

เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 1/2562 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตรและมาตรการด้านสิทธิบัตรเป็นกรณีพิเศษ

หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับรายงานจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาถึงปัญหาของกระบวนการด้านสิทธิบัตรที่ได้มีการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับกัญชาจำนวนหนึ่งไว้
ทว่าขณะนี้กระบวนการทางนิติบัญญัติยังอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษทำให้ไม่สามารถเปิดโอกาสให้นำกัญชามาศึกษาวิจัยในการที่จะใช้เป็นประโยชน์ทางการแพทย์ได้

จึงเป็นการสมควรที่จะกำหนดมาตรการด้านสิทธิบัตรเป็นกรณีพิเศษ เพื่อสนับสนุนและรองรับการอนุญาตให้นำกัญชามาวิจัยด้านการแพทย์ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและสังคม กระทั่งนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้า คสช.ได้มีคำสั่ง ตามมาตรา 44 ออกมาบังคับใช้เรื่องปลดล็อคการจดสิทธิบัตรกัญชา ตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค.62 จำนวน 8 ข้อ หากพิจารณากันอย่างคร่าวๆ คือ

เมื่อได้ประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตรแล้ว แต่ผู้ขอรับสิทธิบัตรยังไม่ได้ยื่นคำขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการประดิษฐ์ หากปรากฏว่าคำขอรับสิทธิบัตรไม่ชอบ ให้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาสั่งยกคำขอหรือสั่งให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรตัดข้อถือสิทธิที่เป็นการประดิษฐ์ดังกล่าวภายใน 90 วัน และคำสั่งยกคำขอรับสิทธิบัตรของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ผู้ขอรับสิทธิบัตร อาจอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรได้

อย่างไรก็ตาม สิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตร ยังคงอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายอื่นใดที่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการควบคุม ผลิต ใช้ จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือครอบครองซึ่งผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีใดไว้เป็นการเฉพาะ

ทว่าเมื่อเราลองดูประกาศในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาอย่างถี่ถ้วนจะพบความไม่ชอบมาพากลในข้อ 4 ของคำสั่งนี้ ที่ว่า “ในกรณีที่กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษมีการแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้มีการนำกัญชาไปทำการศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้
นับแต่วันที่กฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรที่ได้ยื่นไว้แล้วต่อไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนจนกว่าจะแล้วเสร็จ?!”นั่นดูไม่ต่างจากการให้อำนาจการแปรสภาพสิ่งที่เคยผิดให้กลับมาถูก หรือนำผ้าที่เคยเปรอะเปื้อนสีดำมาซักฟอกให้กลับเป็นสีขาวบริสุทธิ์ได้โดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย! ทีนี้ลองมาย้อนดูกันถึงขั้นตอนดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ และเรื่องปลดล็อคการจดสิทธิบัตรกัญชา ว่าเหตุใดจึงทำกันไม่เสร็จเสียที? นั่นเป็นเพราะก่อนหน้านี้มีเครือข่ายทุนต่างชาติทั้งอังกฤษ ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์ เกือบ 30 บริษัท ข้ามน้ำข้ามทะเลมาขอยื่นจดสิทธิบัตรกัญชาในประเทศไทย ทั้งๆ ที่ประเทศเหล่านี้ไม่มีกัญชาปลูกเป็นพืชตามท้องถิ่นเหมือนในบ้านเราสักต้น

อุปสรรคก่อนหน้าคือ ประเทศไทยมีกฎหมายห้ามเสพกัญชา ไม่สามารถใช้เป็นดินแดนทำข้อมูลวิจัยเพื่อใช้ยืนยันประโยชน์ของมันได้ ดังนั้นไม่ว่าประเทศเหล่านี้จะนำผลการทดลองวิจัยจากที่ไหนมายื่นประกอบบ้านเราก็ไม่สามารถออกสิทธิบัตรให้ได้เช่นกัน
ล่าสุดเริ่มมีข่าวลือสะพัดจากวงในคณะผู้มีอำนาจดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ และเรื่องปลดล็อคการจดสิทธิบัตรกัญชา ออกมาสู่ภายนอกว่า มีขบวนการสอดไส้ ดัดแปลง แต่งสาร ร่างกฎหมาย ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนประกาศใช้
ใจความคล้ายๆ เป็นการนิรโทษกรรมให้อีแอบที่เคยซุ่มทำการวิจัยเอาประโยชน์ที่ได้จากสารสกัดในกัญชาภายในประเทศไทย มาใช้ยื่นจดสิทธิบัตรได้ด้วย ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นจริงความมั่งคั่งและยั่งยืนมันจะไม่ได้ตกอยู่กับคนไทย เพราะยังไม่มีนายทุนไทยเจ้าใดคิดขยับทำเรื่องแบบนี้กันเลย
สอดคล้องกับผลสำรวจภาคสนามของสำนักวิจัยซูเปอร์โพล สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เรื่อง หยุดต่างชาติเป็นเจ้าของกัญชาไทยกรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพจำนวนทั้งสิ้น1,064 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 20 - 26 ม.ค.62 ที่ผ่านมา

พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.6 ไม่สบายใจ เป็นห่วง เรื่องการขอจดจองสิทธิของชาวต่างชาติเป็นเจ้าของใช้ประโยชน์กัญชาของไทย โดยร้อยละ 60.7 ระบุ คนในรัฐบาลบางคนได้ประโยชน์จากการเอื้อให้สิทธิชาวต่างชาติเป็นเจ้าของใช้ประโยชน์กัญชาของไทย
รองลงมาคือ ร้อยละ 52.6 ระบุพรรคการเมืองบางพรรคได้ประโยชน์ ร้อยละ 46.3 ระบุข้าราชการบางคน และร้อยละ 16.4 ระบุ สมาชิก สนช. บางคน นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.4 กังวลว่า ผลประโยชน์ชาติจะเสียหาย คนไทยเสียโอกาส ถ้าชาวต่างชาติได้สิทธิเป็นเจ้าของใช้ประโยชน์กัญชาของไทย ในขณะที่ร้อยละ 10.6 ไม่กังวล

ที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.4 ระบุ รัฐบาลควรให้กระทรวงสาธารณสุข โดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้ามาดูแลการใช้ประโยชน์จากกัญชาของไทย รองลงมาคือร้อยละ 26.0 ระบุตำรวจ ร้อยละ 16.4 ระบุกระทรวงพาณิชย์ ร้อยละ 14.0 ระบุอัยการ และร้อยละ 8.2 ระบุสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามความเห็นของประชาชนต่อ การยกเลิกการจดจองสิทธิของชาวต่างชาติในการเป็นเจ้าของใช้ประโยชน์กัญชาของไทย (หยุดต่างชาติเป็นเจ้าของกัญชาไทย) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.6 ระบุ ควรยกเลิกทันที เพื่อหยุดต่างชาติเป็นเจ้าของกัญชาไทย ในขณะที่ร้อยละ 9.4 ระบุไม่ควรยกเลิก
เป็นอีกประเด็นน่าห่วงใยนายกใช้ ม.44 ปลดล็อคกัญชาเพื่อประโยชน์ของใครกันแน่???


กำลังโหลดความคิดเห็น