xs
xsm
sm
md
lg

สามเกลอสายล่อฟ้า โล่ง ศาลไม่อนุญาตถอนฎีกา แต่ให้รอลงอาญาคดีหมิ่น “ยิ่งลักษณ์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ศาลไม่อนุญาตถอนฎีกา “สามเกลอสายล่อฟ้า” หมิ่น “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ปมโฟร์ซีซั่นส์ แต่โล่งอกพิพากษายืนรอลงอาญา



เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (24 ม.ค.) ที่ห้องพิจารณา 911 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำสั่งศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.630/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์และโจทก์ร่วม ยื่นฟ้องนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตโฆษกพรรคประชาธิปัตย์, นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และนายศิริโชค โสภา อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ดำเนินรายการ “สายล่อฟ้า” ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมบลูสกาย เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา และดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136, 326, 328, 332

กรณีเมื่อวันที่ 10, 15 ก.พ. 2555 จำเลยทั้งสามร่วมกันจัดรายการ “สายล่อฟ้า” ออกอากาศผ่านดาวเทียมบลูสกาย มีเนื้อหาหมิ่นประมาทใส่ความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ผู้เสียหาย ทำนองว่าไม่เข้าร่วมภารกิจประชุมของรัฐสภา ไปปฏิบัติภารกิจที่โรงแรมโฟร์ซีซั่น (ว.5 โฟร์ซีซั่น) ทำนองเกี่ยวกับเรื่องชู้สาว จน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้รับความเสียหายเสื่อมเสียชื่อเสียง โดยจำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี

คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 1 ปี ปรับคนละ 50,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้มีกำหนด 2 ปี และให้ทำลายดีวีดีการบันทึกรายการ พร้อมโฆษณาคำพิพากษาโดยย่อในหนังสือพิมพ์รายวัน 5 ฉบับ จำเลยทั้งสามยื่นฎีกาขอให้ศาลยกฟ้องด้วย ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยื่นฎีกา ขอให้ศาลฎีกาไม่รอการลงโทษพวกจำเลย อย่างไรก็ตาม ต่อมาฝ่ายจำเลยทั้งสามได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกแสดงความสำนึกผิดและขออภัยต่อโจทก์ร่วม และทนายความของโจทก์ร่วมได้ยื่นคำร้องขอถอนฎีกาต่อศาลแล้วเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2561 ซึ่งเดิมศาลได้นัดฟังคำสั่งศาลฎีกาว่าจะอนุญาตให้ถอนฎีกาหรือไม่ในวันที่ 20 พ.ย. 2561 แต่ได้มีการเลื่อนมาเป็นนัดฟังคำสั่งในวันนี้ (24 ม.ค.)

วันนี้จำเลยทั้งสามเดินทางมาศาล เมื่อถึงเวลานัด ศาลได้อ่านคำสั่งคดีกรณีถอนฎีกา โดยระหว่างพิจารณาโจทก์ร่วมได้ยื่นคำร้องขอถอนฎีกา ไม่ประสงค์ดำเนินคดีต่อจำเลยทั้งสามต่อไป ส่วนฝ่ายจำเลยก็ได้ยื่นคำร้องขอถอนฎีกา โดยศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้ศาลฎีกาได้ทำคำพิพากษาเรียบร้อยแล้ว และส่งให้ศาลชั้นต้นอ่าน กรณีไม่มีเหตุสมควรที่จะให้ถอนฎีกา จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตถอนฎีกา ให้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาต่อไป

ศาลชั้นต้นจึงอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาโดยทันที ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2555 มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ไม่ได้เข้าร่วมประชุมสภาฯ จำเลยทั้งสามซึ่งเป็น ส.ส. ฝ่ายค้าน ได้จัดรายการสายล่อฟ้า เมื่อวันที่ 10, 15 ก.พ. 2555 โดยเป็นบทสนทนาสอดรับกันทั้งสามคนในเชิงตั้งคำถามว่า โจทก์ร่วมหนีการประชุมสภาฯ เดินทางไปยังโรงแรมโฟร์ซีซั่น ในลักษณะ ว.5 หมายถึงเป็นความลับ รวมทั้งยังมีข้อความที่พูดเช่น “ปูเอาอยู่” “ปู ว.5” “น้ำเข้าน้ำออก” รวมทั้งการนำภาพประกอบเป็นป้ายข้อความแขวนลูกบิดประตูเช่น “No Disturb” “เอาอยู่” ซึ่งขณะจัดรายการได้เชิญชวนผู้ชมส่งข้อความให้ทายว่าไปทำภารกิจอะไร แล้วจะให้รางวัล

จำเลยทั้งสามต่อสู้ว่าตนเป็น ส.ส. ฝ่ายค้าน มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของนายกฯ การทำหน้าที่ของนายกฯ ต้องโปร่งใส ที่โจทก์ร่วมต้องเข้าประชุมสภาฯ แต่กลับไปทำภารกิจลับ ว.5 จำเลยจึงตั้งข้อสงสัยเพื่อเรียกร้องให้โจทก์ร่วมชี้แจง ที่บอกว่า “ปูเอาอยู่” เป็นฉายาของโจทก์ร่วมที่ประชาชนและสื่อมวลชนเรียกตั้งแต่ช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่โจทก์ร่วมเคยพูดว่า “เอาอยู่” ไม่ได้เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์ร่วมประพฤติผิดทางเพศ ส่วนภาพป้ายแขวนลูกบิดประตูก็ไม่ได้แสดงสถานที่ยืนยันว่าเป็นที่ใด บุคคลใด ขณะที่โจทก์ร่วมได้นำสืบว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการพูดที่สื่อถึงการกระทำลับๆ ล่อๆ ทำให้บุคคลทั่วไปฟังและจินตนาการไปในทางเพศ โดยได้นำดีวีดีบันทึกรายการรวมทั้งคำถอดเทปบทสนทนาในวันที่ 10 ก.พ. จำนวน 30 หน้า และ 15 ก.พ. จำนวน 47 หน้า มาเป็นหลักฐาน โจทก์ร่วมชี้แจงว่าในวันดังกล่าวได้เดินทางไปพบนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสอบถามแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ชั้น 7 โรงแรมโฟร์ซีซั่น

คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามกระทำผิดหรือไม่ ศาลพิจารณาบริบทของคำพูด ท่าทางทั้งหมดที่เชื่อมโยงกัน ไม่ใช่ตอนหนึ่งตอนใด การที่จำเลยทั้งสามตั้งคำถามต่อโจทก์ร่วมให้ชี้แจงเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมในฐานะฝ่ายค้าน แต่หาใช่ทำได้ตามอำเภอใจโดยไม่คำนึงถึงกฎหมาย เพราะการตรวจสอบต้องทำภายใต้กรอบกฎหมายกำหนด แต่ที่โจทก์ร่วมปกปิดการปฏิบัติภารกิจเป็นความลับ สร้างความระแวงสงสัยเรื่องเพศหรือไม่ โดยไม่ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสาธารณะ จำเลยจึงมีสิทธินำข้อสงสัยมาตรวจสอบโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายกฯ เกี่ยวกับจริยธรรม คุณธรรม ศีลธรรม อย่างไรก็ตาม การใช้ถ้อยคำของจำเลยทั้งสามประกอบภาพป้าย ย่อมทำให้วิญญูชนเข้าใจไปในทางว่าโจทก์ร่วมซึ่งมีสามีและบุตรอยู่แล้ว ประพฤติมิชอบเรื่องชู้สาว หนีประชุมสภาฯ ไปมีสัมพันธ์ทางเพศกับบุคคลอื่น ทำให้โจทก์ร่วมเสื่อมเสียชื่อเสียง ไม่ใช่การติชมด้วยความเป็นธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดตาม มาตรา 328 ประกอบ 83 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนลงโทษจำเลยทั้งสามมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

ส่วนปัญหาวินิจฉัยที่โจทก์ร่วมฎีกาว่าไม่มีเหตุรอการลงโทษจำเลยทั้งสาม เพราะการกระทำนั้นทำให้โจทก์ร่วมในฐานะนายกฯ เสื่อมเสียเกียรติอย่างร้ายแรง และเคยมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาไม่รอการลงโทษคดีหมิ่นประมาท ศาลเห็นว่าการที่โจทก์ร่วมไม่เข้าประชุมสภาฯ แล้วไม่ชี้แจงต่อสาธารณชนว่าไปทำอะไร เพียงแต่มาเบิกความต่อศาลว่าไปพบนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งหากเป็นความจริงไม่มีเหตุต้องปกปิด การปกปิดเรื่องดังกล่าวทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยแก่สาธารณชนและสื่อมวลชน แม้ว่าการกระทำของจำเลยจะเป็นวิธีการที่มิชอบ แต่ยังแฝงเจตนาดีในการตรวจสอบเพื่อประโยชน์สาธารณะ ฎีกาโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้รอการลงโทษนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน

ภายหลังศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาแล้ว นายศิริโชคและนายชวนนท์ ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า เคารพคำพิพากษาของศาล ซึ่งศาลก็ระบุเหตุผลค่อนข้างชัดเจน ว่าแนวทางการจัดรายการของเรามีเจตนาดี แต่อาจเป็นการเกินเลยข้อกฎหมายไป เพราะข้อเท็จจริงเรื่องนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรียังไม่ได้ชี้แจงเหตุผลที่เดินทางไปประชุมโรงแรมโฟร์ซีซั่นวันนั้น ว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ อย่างไร ศาลฎีกาจึงมีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ โดยให้รอลงอาญา

เมื่อถามว่าศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุกโดยรอลงอาญามีผลต่อการลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส. )หรือไม่ นายศิริโชค กล่าวว่า ไม่มีผล เนื่องจากกรณีที่จะขาดคุณสมบัติลงสมัครรับเลือกตั้งนั้น ศาลต้องมีคำพิพากษาจำคุกจริง แต่วันนี้ศาลให้รอลงอาญา จึงไม่มีผล อีกทั้งเนื่องจากความผิดคดีหมิ่นประมาท นั้นกฏหมายก็ไม่ได้ห้ามผู้มี่ถูกรอการลงโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาทและความผิดลหุโทษ เป็น ส.ส.หรือเป็นรัฐมนตรี

ส่วนเหตุผลที่ได้ออกมาขอโทษ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้น ก็ว่ากันไปตามข้อเท็จจริง เพราะเรามีความรู้สึกอยู่แล้วว่าในบางคำพูดที่เราพูดไป อาจจะทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงใจ เราก็ขอโทษในประเด็นนั้นไป แต่ประเด็นหลักๆ คือการที่เราตรวจสอบการทำงานของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าทำไมวันนั้นไม่ไปประชุมสภา ทำไมไปโรงแรมโฟร์ซีซั่น ซึ่งศาลก็ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ด้วยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีความจำเป็นจะต้องชี้แจงในเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ได้ชี้แจง






กำลังโหลดความคิดเห็น