xs
xsm
sm
md
lg

อุปกรณ์ EM สามารถปรับพฤติกรรมผู้กระทำผิดไปในทางที่ดีขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR online - “อธิบดีกรมคุมประพฤติ” เผย ใช้อุปกรณ์ EM กับผู้กระทำผิดจำนวนทั้งสิ้น 166 ราย ส่วนใหญ่มีเงื่อนไขห้ามออกจากพักในช่วงกลางคืน ซึ่งสามารถปรับพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น

วันนี้ (17 ม.ค.) นายประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) มาใช้กับผู้กระทำผิดตามที่ศาลสั่งติดอุปกรณ์ดังกล่าว ว่า กรมคุมประพฤติได้ดำเนินการใช้อุปกรณ์ EM ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 62 จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 2 สัปดาห์ มีผู้ติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว จำนวนทั้งสิ้น 166 ราย โดยส่วนใหญ่มีข้อกำหนดเงื่อนไขห้ามออกจากที่อยู่อาศัยของตน ในช่วงเวลา 22.00-04.00 น. เป็นระยะเวลา 15 วัน ซึ่งปัจจุบันมีผู้กระทำผิดที่ติดอุปกรณ์ปฏิบัติตามเงื่อนไขครบกำหนดระยะเวลาและถอดอุปกรณ์แล้ว จำนวน 47 ราย อยู่ระหว่างการติดอุปกรณ์อีกจำนวน 118 ราย และศาลมีคำสั่งยกเลิกติดอุปกรณ์ จำนวน 1 ราย

นายประสาร เผยอีกว่า ในช่วงระยะเริ่มแรกของการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) มาใช้กับผู้กระทำผิด กรมคุมประพฤติมีการเฝ้าระวังการใช้งานระบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การใช้อุปกรณ์มีประสิทธิภาพ มีความถูกต้อง แม่นยำที่สุด เมื่อมีการแจ้งเตือนเกี่ยวกับการใช้งานอุปกรณ์ผ่านระบบ พนักงานคุมประพฤติจะตรวจสอบไปยังผู้ถูกคุมความประพฤติในทันที และหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแจ้งเตือน และขอยืนยันว่า อุปกรณ์พร้อมระบบเป็นเทคโนโลยีที่เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายในงานคุมประพฤติ โดยมีกลไกทั้งในการจัดโครงสร้างศูนย์ควบคุมการติดตามตัวด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ซึ่งจะทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบการใช้อุปกรณ์ให้เป็นไปตามสัญญาและขอบเขตของงาน (TOR) อย่างถูกต้อง ครบถ้วน โดยยึดประโยชน์ของสังคมและราชการเป็นหลัก

“อุปกรณ์ EM สามารถใช้ควบคุม ติดตาม และเฝ้าระวังพฤติกรรมของผู้ถูกคุมความประพฤติ อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบติดตามผู้กระทำผิดที่ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวตลอด 24 ชั่วโมง ควบคู่ไปกับการปฏิบัติงานของสำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ถูกคุมความประพฤติปฏิบัติตามเงื่อนไข และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นไปตามกรอบที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจากการติดตามผลพบว่า ผู้ถูกคุมความประพฤติที่ติดอุปกรณ์ EM และครอบครัวเห็นว่า ผู้ถูกคุมความประพฤติสามารถปรับเปลี่ยนความคิดและมีพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น มีความเคารพกฎระเบียบและระมัดระวังตนเอง ลดพฤติกรรมในการดื่มสุรา มีพฤติกรรมในการขับขี่ยานพาหนะดีขึ้น”

นายประสาร เผยต่อว่า ส่วนในด้านสังคมและชุมชนมีความมั่นใจในความปลอดภัยมากขึ้น โดยเห็นว่าเป็นการลดโอกาสที่จะเกิดความเสียหาย สามารถติดตามหรือคุมความประพฤติได้ตลอดเวลา ซึ่งกรมคุมประพฤติขอยืนยันอีกครั้งว่า การทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) จะช่วยเสริมประสิทธิภาพงานคุมประพฤติ เป็นหลักประกันความปลอดภัยของชุมชน และส่งเสริมคนดีให้กลับสู่สังคม



กำลังโหลดความคิดเห็น