xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ส.ทำ Infographic ปลูกกัญชาอย่างไรไม่ผิดกฎหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ทำ Infographic ไขปัญหาเรื่องกัญชา เพื่อสร้างความเข้าใจให้ประชาชนในการปลูกกัญชาอย่างถูกกฎหมาย

วันนี้ (16 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้จัดทำ Infographic ชุด..ไขปัญหา “กัญชา” ถูกหรือผิด (ร่าง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่...) พ.ศ. ...) เพื่อสร้างความรับรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน จำนวน 4 เรื่อง ดังนี้

1. กัญชา ยังเป็นยาเสพติดผิดกฎหมายหรือไม่ : ยืนยันว่า...กัญชายังคงเป็นยาเสพติดผิดกฎหมาย เนื่องจาก สหประชาชาติกำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติด ซึ่งประเทศไทยมีข้อผูกพันและมีการควบคุมให้เป็นไปตามข้อกำหนด โดยมีข้อยกเว้น “ให้สามารถใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์ได้”

2. กัญชา ใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้จริงหรือไม่ : กัญชาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้เนื่องจาก... มีการศึกษาพบว่าสารสกัดจากกัญชา สามารถรักษาหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้ในบางโรค เช่น ลมชัก กล้ามเนื้อแข็ง ปวดเรื้อรัง และลดการคลื่นไส้อาเจียนของผู้ป่วยโรคมะเร็งจากการทำคีโม แต่จำเป็นต้องพัฒนาสายพันธุ์ให้มีความเหมาะกับการใช้ในการบำบัดรักษาโรค

3. หลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ ประชาชนทั่วไปปลูกกัญชาได้หรือไม่ : ประชาชนทั่วไปจะได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชาได้ต่อเมื่อ...เป็นเกษตรกรที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์การเกษตรที่จดทะเบียน และร่วมดำเนินการกับหน่วยงานรัฐหรือสถาบันการศึกษา จึงสามารถขออนุญาตปลูกกัญชาได้

4. ใครขออนุญาตปลูกกัญชาได้ : หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชกรรม วิทยาศาสตร์ เกษตรศาสตร์ หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด สภากาชาดไทย เช่น ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เภสัชกรรม ทันตกรรม สัตวแพทย์หรือแพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน ตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนด, สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยและจัดการเรียนการสอนด้านการแพทย์ หรือเภสัชศาสตร์, เกษตรกรที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์การเกษตรซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายและร่วมดำเนินการกับหน่วยงานรัฐ หรือสถาบันอุดมศึกษา และ ผู้ขออนุญาตที่ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ คือ เป็นบุคคลธรรมดา ต้องมีสัญชาติไทยและมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย หรือ เป็นนิติบุคคล ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทยและกรรมการ หุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 2 ใน 3 ต้องมีสัญชาติไทยและมีสํานักงานในประเทศไทย






กำลังโหลดความคิดเห็น