xs
xsm
sm
md
lg

รวบเอเยนต์เปิดเฟซบุ๊กลวงเหยื่อจัดหางานข้ามชาติ สั่งขยายผลทลายกระบวนการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR online - ดีเอสไอ รวบ เอเยนต์สาว หลอกจัดหางานไปต่างแดน โดยใช้สื่อออนไลน์มีเหยื่อ 16 ราย เสียหายกว่า 5 แสนบาท พบมีผู้ร่วมกระทำความผิดอีกหลายรายเข้าข่ายองค์กรอาชญากรรมค้ามนุษย์ข้ามชาติ

วันนี้ (11 ม.ค.) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า ดีเอสไอ ได้รับการประสานข้อมูลจาก กรมการจัดหางาน ว่า มีเหยื่อถูกเอเยนต์ในขบวนการจัดหางานข้ามชาติใช้สื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก หลอกลวงว่าสามารถจัดหางานในโรงงานอุตสาหกรรมหรือในธุรกิจนวดแผนโบราณในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย โปรตุเกส สิงคโปร์ และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 จากการสืบสวนทราบว่ามีผู้ได้รับความเสียหายทั้งหมด 16 ราย มูลค่าความเสียหายรายละ 5,000-40,000 บาท รวมมูลค่าประมาณ 500,000 บาท และเชื่อว่า ยังคงมีผู้เสียหายรายอื่นจากการกระทำของขบวนการหลอกลวงแรงงานข้ามชาตินี้อีกจำนวนมาก

พ.ต.อ.ไพสิฐ เผยอีกว่า ตนได้มอบหมายให้ พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล รองอธิบดีดีเอสไอ สนธิกำลังร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสืบสวนจับกุม รวบรวมพยานหลักฐานและขยายผลให้ถึงหัวหน้าขบวนการหลอกลวงแรงงานข้ามชาติดังกล่าว กระทั่งเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 62 ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ และคณะพนักงานสอบสวน ได้ประสานงานเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม แต่งตั้งชุด “Operation Labor Safeguards” เข้าปิดล้อมและจับกุมตัว น.ส.มัลลิกา พรมเสนา ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดพัทยา ได้ที่บริเวณบ้านเลขที่ 45/4 หมู่ 11 ต.หนองประดู่ อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองพัทยา ดำเนินคดีในข้อหา “ร่วมกันจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง หลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้และการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ซึ่งมีอัตราโทษจำคุก 3 ถึง 10 ปี ปรับ 60,000 ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

พ.ต.อ.ไพสิฐ เผยต่อว่า จากการสอบสวน น.ส.มัลลิกา เอเยนต์ขบวนการหลอกลวงแรงงานข้ามชาติรายใหญ่ทราบว่าในอดีต คนร้ายจะเข้าไปหลอกลวงแรงงานที่สนใจไปทำงานต่างประเทศตามชุมชนหรือหมู่บ้านต่าง ๆ แต่ในปัจจุบัน ขบวนการหลอกลวงแรงงานข้ามชาติจะอาศัยสื่อออนไลน์ เช่น เว็บไซต์หรือกลุ่มจัดหางานในเฟซบุ๊ก เป็นช่องทางในการติดต่อกับเหยื่อ โดยขบวนดังกล่าวจะเข้าไปแสดงความเห็นต่อท้ายข้อความของเหยื่อที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศ และจะขอแยกมาคุยเป็นการส่วนตัวผ่านช่องทางสนทนาส่วนตัวเพื่อโน้มน้าวให้เหยื่อหลงเชื่อ นอกจากนี้ ในอดีต ผู้หลอกลวงแรงงานจะมีการเรียกรับเงินค่าจ้างนำพาเป็นเงินก้อนใหญ่ จำนวนหลายแสนบาท แต่ในปัจจุบันจะหลอกลวงให้เหยื่อจ่ายเงินเป็นจำนวนน้อยๆ ในหลักพันบาท ทำให้เหยื่อไม่ติดใจในการจ่ายเงินแต่ละครั้ง รวมถึงไม่ประสงค์เข้าแจ้งความเนื่องจากเป็นความเสียหายมูลค่าน้อย

“สำหรับผู้ต้องหารายนี้ยังคงมีหมายจับของศาลจังหวัดบัวใหญ่ที่ 97/2561 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2561 ในข้อหาเดียวกัน และการกระทำความผิดดังกล่าวมีลักษณะการทำงานเป็นเครือข่ายองค์กรอาชญากรรม ซึ่งมีผู้ร่วมกระทำความผิดอีกหลายราย โดย ดีเอสไอ จะสนธิกำลังร่วมกับกรมการจัดหางานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสืบสวนขยายผลถึงขบวนการต่อไป ทั้งนี้ Operation Labor Safeguards ถือเป็นปฏิบัติการตัดไฟแต่ต้นลมเพื่อช่วยเหลือและยับยั้งไม่ให้แรงงานถูกล่อลวงตั้งแต่ในชั้นแรกของการสมัครเพื่อเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศ อันจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในต่างแดนต่อไป”



กำลังโหลดความคิดเห็น