xs
xsm
sm
md
lg

ศาลเผยสถิติคดีจราจร ส่งท้ายปีใหม่ 7 วันอันตราย เมาแล้วขับสูงสุด 19,603 ข้อหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR online - โฆษกศาลยุติธรรม สรุปสถิติส่งท้ายปีใหม่ 7 วันอันตราย คดีจราจรขึ้นศาล เข้าสู่การพิจารณาทั้งหมด รวม 21,238 ข้อหา ขับรถขณะเมาสุราสูงสุด 19,603 สะท้อนเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฏหมายเข้มข้น

วันนี้ (3 ม.ค.) นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยถึงสถิติดำเนินคดี ความผิดพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ช่วง 7 วันอันตราย วันหยุดเทศกาลปีใหม่ 2562 ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. 2561 - 2 ม.ค.2562 ว่า ปริมาณความผิด ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบกฯ ที่เข้าสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศ 232 ศาล ช่วง 7 วันที่ผ่านมา ที่รวบรวมข้อมูลโดย “ศูนย์ข้อมูลคดี สำนักแผนงานและงบประมาณ” สำนักงานศาลยุติธรรมนั้น

มีข้อหาที่เข้าสู่การพิจารณาทั้งหมด รวม 21,238 ข้อหา ซึ่งศาลพิจารณาพิพากษาเสร็จ 19,888 ข้อหา คิดเป็น 93.64 %

โดยข้อหาที่มีการกระทำผิดสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ 1. ขับรถขณะเมาสุรา 19,603 ข้อหา

2. ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต 933 ข้อหา และ 3. ขับรถขณะเสพยาเสพติด 598 ข้อหา

ส่วนจังหวัดที่มีปริมาณคดีขึ้นสู่การพิจารณาสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ 1. นครราชสีมา 1,197 ข้อหา

2. ชลบุรี 1,050 ข้อหา 3. กรุงเทพมหานคร 1,046 ข้อหา 4. เชียงใหม่ 927 ข้อหา 5. ร้อยเอ็ด 850 ข้อหา

ทั้งนี้ ปริมาณคดีข้อหาความผิด ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ที่เข้าสู่การพิจารณาของศาล เฉพาะประจำวันที่ 31 ธ.ค. 2561 ถือว่าสูงที่สุดในช่วง 7 วันอันตราย มีถึง 7,390 ข้อหา โดยข้อหาที่มีการกระทำผิดสูงสุด คือ ขับรถขณะเมาสุรา 7,048 ข้อหา ก็น่าสังเกตุว่าในวันดังกล่าวที่มีปริมาณคดีสูงอาจสืบเนื่องการเฉลิมฉลองส่งท้ายปีด้วย ขณะที่ช่วงก่อนหน้านั้น เป็นช่วงของการเดินทางเพื่อไปเฉลิมฉลองเทศกาล

ขณะที่ “นายสุริยัณห์” ได้เปรียบเทียบตัวเลขคดีความผิด พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ช่วง 7 วันอันตรายที่เข้าสู่ศาล ในปี 2561 กับปีใหม่ 2562 นี้ ด้วยว่า ในปี 2561 มีคดีเข้าสู่ศาลรวมทั้งสิ้น 15,587 ข้อหา ขณะที่ 2562 มีคดีรวม 21,238 ข้อหา ปีนี้มีการดำเนินคดีสูงขึ้นถึง 5,651 ข้อหา หากมองในแง่การบังคับใช้กฎหมายนั้นเข้มข้นขึ้นจากนโยบายและมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจตราดูแลความปลอดภัยบนท้องถนนจนนำมาสู่การดำเนินคดีที่ศาล ซึ่งการลงโทษนั้นศาลก็จะพิจารณาตามพฤติการณ์และข้อเท็จจริงที่ปรากฏในแต่ละสำนวนตามกรอบของกฏหมาย ส่วนความผิดข้อหา “เมาแล้วขับ” ที่ปริมาณการดำเนินคดีสูงสุดนั้นยังสะท้อนถึงการละเลย เพิกเฉยของผู้ขับขี่ที่ทำผิดกฎหมายและไม่ดูแลความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่นที่ร่วมใช้เส้นทางสัญจร ดังนั้น จึงควรตระหนักถึงเรื่องนี้ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น