xs
xsm
sm
md
lg

ถกร่วม 7 หน่วยงานรับมืออาชญากรรมไซเบอร์ ปี 2562

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - “ดีเอสไอ” ถกร่วม 7 หน่วยงาน เตรียมพร้อมรับมืออาชญากรรมไซเบอร์ ปี 2562 ระบุคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหลายรายล้วนเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่

วันนี้ (28 ธ.ค.) เวลา 10.30 น. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ เป็นประธานการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สมาคมธนาคารไทย และกรมประชาสัมพันธ์ จัดประชุมหารือมาตรการในการป้องกันและปราบปรามเว็บไซต์ที่ขัดต่อความเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีต่อประชาชน พร้อมสร้างการรับรู้ในเรื่องการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์

พ.ต.อ.ไพสิฐกล่าวว่า ในรอบปี 2561 ที่ผ่านมา กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ดีเอสไอ ดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรมคอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่อง เช่น ขบวนการหลอกลวงผู้เสียหายให้โอนเงิน หรือคอลเซ็นเตอร์ สามารถจับกุมผู้กระทำผิดทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติหลายราย, ขบวนการละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต รวมทั้งเว็บไซต์พนันออนไลน์ที่มีถ่ายทอดสดกีฬาซึ่งจากการตรวจค้นกว่า 30 จุดทั่วประเทศ พบเครือข่ายทีมแอดมิน และจุดกระจายสัญญาณละเมิดลิขสิทธิ์ ทำให้เว็บไซต์ปิดตัวลงไม่น้อยกว่า 90 เว็บไซต์ มีมูลค่าความเสียหายกว่า 300 ล้านบาท

พ.ต.อ.ไพสิฐกล่าวอีกว่า สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหลายรายเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านระบบคอมพิวเตอร์ โดยมีผลตอบแทนจำนวนมหาศาลเป็นแรงจูงใจ ซึ่งในปัจจุบันแนวโน้มคดีอาชญากรรมต่างๆ จะนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือกระทำความผิดมากขึ้น เพราะสามารถเข้าถึงบุคคลที่เป็นเป้าหมายได้รวดเร็ว และปิดบังอำพรางตัวตนที่แท้จริง โดยมีการใช้ระบบเก็บข้อมูลใน Cloud เพื่อการปกปิดแหล่งที่ตั้งของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย และการชำระเงินผ่านระบบ e-wallet หรือเงินสกุลดิจิทัล เช่น บิตคอยน์ และที่เลวร้ายที่สุดคือประชาชนบริสุทธิ์ต้องตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมโดยไม่รู้ตัว เช่น การถูกแอบอ้างชักชวนให้เปิดบัญชี

พ.ต.อ.ไพสิฐกล่าวต่อว่า ส่วนการประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สรุปข้อมูลการรับเรื่องร้องเรียนในรอบปีที่ผ่านมา จึงขอแจ้งเตือนประชาชนถึงรูปแบบการกระทำความผิด และวิธีการป้องกันต่างๆ ดังนี้ 1. การฉ้อโกงในการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) เช่น การซื้อขายสินค้า การชำระเงินผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ ที่ไม่มีอยู่จริง ควรใช้ความระมัดระวัง และตรวจสอบการมีอยู่จริงของผู้ขายสินค้าหรือบริการ 2. การหลอกลวงให้เข้าเว็บไซต์ปลอมที่ทำเลียนแบบเว็บไซต์จริง (Phishing) ซึ่งเป็นวิธีการหลอกลวงที่แพร่หลาย เพื่อมุ่งหวังเงิน โดยจะหลอกให้ผู้เสียหายกรอกข้อมูลสำคัญส่วนบุคคล จากนั้นคนร้ายจะนำข้อมูลดังกล่าวไปทำธุรกรรมทางการเงินแทนผู้เสียหาย 3. การหลอกลวงว่าเป็นบุคคลอื่นโดยการปลอมอีเมล (Fake Mail) และการเข้าถึงข้อมูลอีเมล์โดยไม่ชอบ (Hack Mail) ให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน กรณีนี้จะมีการจัดทำอีเมลปลอม ที่มีชื่อ (Account) ที่เหมือนอีเมลจริง หรือการลักลอบเข้าถึงหรือทำการยึดอีเมล (Account) ของบุคคลอื่นโดยมิชอบ หลอกลวงบุคคลที่ติดต่อทางอีเมลว่ามีความจำเป็นต้องการใช้เงิน และขอยืมเงินบุคคลที่อยู่ในอีเมล ทำให้ผู้ได้รับการร้องขอช่วยเหลือทางการเงินเกิดความเสียหายจำนวนมาก

“4. การเผยแพร่หรือส่งต่อภาพลามกอนาจาร หรือข้อความอันเป็นเท็จที่จะทำให้บุคคลอื่นถูกดูหมิ่น เกลียดชังอันเป็นความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และอาญา 5. การหลอกลวงผู้หญิงหรือเพศอื่นด้วยการพูดคุยผ่านโปรแกรมแชต หรือการส่งข้อความในลักษณะที่เป็นการจีบ ทำให้เหยื่อเชื่อว่าตกหลุมรัก และไว้ใจ จากนั้นจะขอยืมเงิน หรือหลอกให้ส่งยาเสพติดหรือทำสิ่งผิดกฎหมาย (Romance Scam) ประชาชนจึงควรใช้วิจารณญาณและความรอบคอบ และ 6. การรับจ้างเปิดบัญชีเงินฝาก เข้าข่ายการกระทำความผิดในฐานะตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิดอาญา”



กำลังโหลดความคิดเห็น