MGR online - เครือข่าย “บ้านกาญจนภิเษก” ร้อง ยธ. ออกกฎกระทรวงยกระดับเป็นศูนย์ฝึกเอกชนแห่งแรก เผย ในช่วง 5 ปี หลังเด็กและเยาวชน มีอัตราการกระทำความผิดซ้ำต่ำกว่าร้อยละ 5 ต่างจากสถานพินิจอื่นๆ เพราะเข้าใจเด็กมากกว่า
วันนี้ (19 ธ.ค.) เวลา 11.00 น. ที่ศูนย์บริการร่วม กระทรวงยุติธรรม ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายอรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ นักวิชาการอิสระ ซึ่งทำการศึกษาวิจัยศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก พร้อมด้วย นายอัครพงษ์ บุญมี อดีตเยาวชนศูนย์ฝึกฯ บ้านกาญจนาภิเษก และ ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน นักรณรงค์ขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อลดปัญหาทางสังคม และ ปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน กว่า 30 คน เดินทางเข้าพบ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อเรียกร้องให้ กระทรวงยุติธรรม ในฐานะหน่วยงานหลักตาม พ.ร.บ. ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ออกกฎกระทรวงยกระดับให้ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก เป็นศูนย์ฝึกเอกชนแห่งแรกที่เป็นสถานบำบัด ฟื้นฟู ซึ่งยังอยู่ในบริบทรัฐอุดหนุนตามสัดส่วนทางการเงิน รวมทั้งได้มอบงานวิจัยล่าสุดเพื่อยืนยันถึงประสิทธิผลในการทำงานของศูนย์ฝึกฯ บ้านกาญจนาภิเษก และรายชื่อ 60 องค์กรภาคประชาชนที่ร่วมสนับสนุน โดยมี นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้รับเรื่อง
นายอรุณฉัตร กล่าวว่า บ้านกาญจนาภิเษก มีกระบวนการออกแบบค่อนข้างแตกต่างจากสถานพินิจแห่งอื่น สร้างผลลัพธ์เชิงประจักษ์ได้รับการยอมรับทั้ง มิติการบริหารงาน และกระบวนการในการฟื้นฟู เยียวยา เด็กและเยาวชนผู้ก้าวพลาดให้กลายเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม สะท้อนจากงานวิจัยประเมินผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนผู้เคยกระทำความผิด ที่ผ่านกระบวนการ “วิชาชีวิต” กรณีศึกษาศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก สามารถยืนยันได้ถึงผลลัพธ์ระยะยาวที่เกิดกับเยาวชน โดยกลุ่มตัวอย่างที่ผ่านกระบวนการฯ ตั้งแต่ 6 เดือน-7 ปี กว่าร้อยละ 84 มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ทั้งต่อตัวเองและสังคม คือ สามารถควบคุมตนเอง แตกต่างจากเมื่อก่อนที่ยังไม่ได้เข้ามาอยู่ที่บ้านกาญจนาฯ อย่างสิ้นเชิง และข้อมูลจากสถิติพบว่า เด็กและเยาวชนที่ผ่านกระบวนการของบ้านกาญจนาฯ ในช่วง 5 ปีหลัง (พ.ศ. 2556-2560) มีอัตราการกระทำความผิดซ้ำต่ำกว่า ร้อยละ 5 ขณะที่ค่าเฉลี่ยของกรมพินิจฯ อยู่ที่ มากกว่าร้อยละ 15
“ตั้งแต่มี พ.ร.บ. ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ จนถึงปัจจุบัน นับรวมเวลากว่า 8 ปี การออกกฎหมายลูกเพื่อรองรับการดำเนินงาน ยังมีความล่าช้า ทำให้ปัจจุบันสถานการณ์บริหารงานของ ศูนย์ฝึกฯบ้านกาญจนาภิเษก ยังคงเป็นการดำเนินงานในรูปแบบโครงการนำร่อง ด้วยเหตุนี้ เครือข่าย 60 องค์กรภาคประชาชน และบุคคล ขอสนับสนุนให้ กระทรวงยุติธรรม ในฐานะหน่วยงานหลักตาม พ.ร.บ. ดำเนินการเพื่อออกกฎกระทรวง มารองรับการดำเนินการของศูนย์ฝึกฯ บ้านกาญจนาภิเษก เป็นศูนย์ฝึกเอกชนแห่งแรก ซึ่งยังอยู่ในบริบทรัฐอุดหนุนตามสัดส่วนทางการเงิน และทางเลือกอื่นในอนาคต โดยมีเนื้อหาในกฎกระทรวงที่สามารถคงไว้ซึ่งจุดแข็ง ในการทำงานที่เกิดผลลัพธ์เชิงประจักษ์ของบ้านกาญจนาฯ ที่ยังไม่มีการรองรับอย่างเป็นทางการ ซึ่งการเปิดช่องทางกฎหมายนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าด้านการบริหารงานของรัฐ ที่เปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ได้เข้ามามีส่วนร่วม” นายอรุณฉัตร กล่าว
ด้าน นายอัครพงษ์ เปิดเผยว่า ตนเองเป็นรุ่นที่ 5 ที่ได้เคยเข้ามาใช้ชีวิตเรียนรู้ในบ้านกาญจนาฯ สัมผัสได้ว่าระบบรูปแบบวิธีคิดต่างจากสถานพินิจอื่นๆ คือ บ้านกาญจนาฯ เข้าใจเด็ก ทำให้เด็กได้เห็นคุณค่าในตัวเอง มีอิสระทางความคิด จากที่เมื่อก่อนที่คิดอะไรสั้นๆ แต่เพราะบ้านกาญจนาฯที่ทำให้มีวันนี้ มีมุมมองกว้างขึ้น รอบคอบขึ้น สอนให้ตนนำผลพวงจากอดีตที่เคยพลาดพลั้งมาเป็นบทเรียนมองเห็นชีวิตและคุณค่าในตัวเอง เห็นถึงความรักจากพ่อแม่คนรอบข้าง และจะไม่กลับไปทำผิดซ้ำ สอนให้สนใจปัญหาสังคม ช่วยเหลือคนรอบข้างเมื่อมีโอกาส มิใช่แค่ไม่ทำตัวเองเป็นปัญหาเอาแค่ตัวเองรอด แต่ต้องมีส่วนร่วมกับสังคมด้วย โดยประสบการณ์ของบ้านกาญจนาฯ มีมากกว่า 15 ปี น่าจะตกผลึกเพียงพอที่กระทรวงยุติธรรมจะตัดสินใจได้ในการออกกฎกระทรวงรองรับให้เกิดทางเลือกใหม่ๆ
นายอัครพงษ์ เผยอีกว่า ตนคิดว่า หัวใจที่สำคัญ คือ การศรัทธาในคุณค่าความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียมกันของคน และเชื่อมั่นว่า คนเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีได้ ไม่มีใครอยากเกิดมาทำผิดเป็นคนเลว และเห็นด้วยอย่างยิ่งหากเกิดการปรับเปลี่ยนรับรองสถานะให้เป็นรูปแบบของเอกชน เพื่อให้เกิดการบริหารงานที่คล่องตัว ผลประโยชน์จะตกอยู่ที่เด็ก ซึ่งจะแตกต่างจากระบบเดิมที่เคยติดเงื่อนไข การทำงานมีขีดจำกัด
ส่วนทาง นายธวัชชัย กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวได้นำเสนอต่อ พล.อ.อ.ประจิน โดย กระทรวงยุติธรรม มีนโยบายชัดเจนที่ผลักดันให้มีสถานแรกรับและฝึกอบรมเอกชน หากสามารถตั้งได้จะทำให้สถานพินิจในภาครัฐตื่นตัวขึ้น ซึ่งขณะนี้กฎกระทรวงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การขออนุญาตตั้งสถานแรกรับและฝึกอบรมของเอกชนได้ร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงระเบียบกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ที่อยู่ระหว่างการหารือตรวจสอบกับกฤษฎีกา เป้าหมายเดิมจะทำให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ แต่ขึ้นอยู่กับเรื่องงบประมาณที่กระทรวงการคลังจะอนุมัติด้วย
ขณะที่ นายอภิชาต จารุศิริ รองอธิบดีกรมพินิจฯ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมพินิจฯ ได้ร่างระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถานแรกรับและศูนย์ฝึกของเอกชน โดยแยกเป็นขนาดเล็ก กลาง และ ใหญ่ ขึ้นอยู่กับขนาดของสถานที่และจำนวนเด็ก และอาจจะเปิดเป็นสถานศึกษาเอกชน มีโรงเรียน มีสถานบำบัดทางจิต และศูนย์ฝึกอาชีพ นอกจากนี้ มีแนวคิดที่จะให้มีศูนย์ฝึกกระจายทุกๆ จังหวัด เช่น พะเยา ตาก สตูล สงขลา ซึ่งร่างระเบียบกรมพินิจฯ เนื้อหามีรายละเอียดจำนวนมาก แต่จะเร่งรัดเพื่อให้สามารถใช้ได้ภายในเดือน ม.ค. 62 จากนั้นจะเปิดให้เอกชนยื่นคำร้องขอจัดตั้งสถานแรกรับและศูนย์ฝึกต่อไป