xs
xsm
sm
md
lg

สนช.-ซูเปอร์โพล ชี้กฎหมายปลดล็อกกัญชา ควรปลดล็อคกระท่อมชาวบ้านเชื่อใช้บำบัด

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


 
จ่อส่งร่างกฎหมายปลดล็อกกัญชาเข้าที่ประชุม สนช.-ซูเปอร์โพล ชี้ควรปลดล็อคกระท่อมด้วยชาวบ้านเชื่อเป็นยารักษาบำบัด หลังผลสำรวจระบุชาวบ้านเข้าใจดีขึ้น

ความคืบหน้าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฉบับใหม่ ซึ่งมีประเด็นร้อนอย่างการปลดล็อกกัญชานำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.61 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญ สนช.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ข้อสรุปกันไปแล้ว โดยคาดว่า คณะกรรมการวิสามัญฯ จะพิจารณาร่างกฎหมายแล้วเสร็จ ก่อนส่งเข้าที่ประชุม สนช.ได้ภายในวันที่ 25-27 ธ.ค.นี้ เพื่อพิจารณาในวาระ 2-3 ตามด้วยการบังคับใช้เป็นกฎหมายยาเสพติดให้โทษฉบับใหม่ถอดด้ามขึ้นในประเทศไทย

มูลนิธิ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ จัดเวทีที่อาคารสาธารณสุขวิศิษฎ์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี นายจิตนรา นวรัตน์ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด สนช.นายแพทย์คำนวน อึ้งชูศักดิ์ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล และภาคีเครือข่าย องค์กร NGO วิชาการ ได้ประชุมหารือขับเคลื่อนประมวลกฎหมายยาเสพติด ในหัวข้อ “กฎหมายยาเสพติด กัญชา กระท่อม การบำบัดรักษาและการฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้ติดยาเสพติด ทิศทางและแนวโน้มของกฎหมายอย่างที่ควรจะเป็น”

โดยก่อนหน้านี้ ทางซูเปอร์โพล ได้นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง “กฎหมาย กระท่อม กัญชา” ซึ่งได้ทำการสำรวจมาล่าสุด โดยดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10-14 ธ.ค.61 กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนจากทุกสาขาอาชีพ จำนวน 1,055 ตัวอย่าง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.65 เคยได้ยินประโยชน์ของกัญชา และร้อยละ 69.89 เคยได้ยินประโยชน์ของกระท่อม ทั้งนี้ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.91 เชื่อว่ากัญชาเป็นยารักษาโรคได้ ขณะที่ร้อยละ 61.31 เชื่อว่ากระท่อมเป็นยารักษาโรคได้

อย่างไรก็ตามที่น่าพิจารณาคือประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.41 ต่างหวงแหนในทรัพยากรไทยและภูมิปัญญาความเป็นไทย ไม่ยินยอมให้ต่างชาติมาจดทะเบียนสิทธิใช้ประโยชน์จากกัญชาของประเทศไทย สอดคล้องกันกับความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 96.14 ไม่ยินยอมให้ต่างชาติมาจดทะเบียนสิทธิใช้ประโยชน์จากกระท่อมของประเทศไทย ขณะเดียวกันประชาชนเกินครึ่งหรือร้อยละ 55.84 เชื่อมั่นการแก้กฎหมายกัญชาและกระท่อม ไม่ยอมให้ต่างชาติแทรกแซง ในขณะที่ยังมีประชาชนจำนวนมากหรือร้อยละ 44.16 ไม่เชื่อมั่น

นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.46 สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้กระท่อม กัญชา จากพืชยาเสพติดเป็นพืชรักษาโรคได้ และชี้ว่า กระท่อมควรได้รับการปลดล็อคให้ชาวบ้านสามารถใช้เป็นพืชยาบำบัดรักษาและใช้ทำงานตามวิถีวัฒนธรรมของประชาชนในพื้นที่ได้ด้วยซึ่งเป็นความคิดเห็นน่าสนใจ และแสดงถึงความรับรู้ข่าวสาร การทำความเข้าใจในข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฉบับใหม่นี้กันอย่างกว้างขวางขึ้น

นายจิตรนรา นวรัตน์ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด กล่าวว่า ในส่วนของกัญชาซึ่งเป็นยาเสพติดนั้นทาง UNODC ยินยอมให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และนำมาค้นคว้าวิจัยได้ ดังนั้น การจะบอกว่ากัญชาต้องไม่เป็นยาเสพติด เสพได้เสรี จึงไม่เป็นความจริง เนื่องจากการนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ จะต้องมีกระบวนการควบคุมที่เคร่งครัด รวมถึง อย่าเพิ่งหวังไปไกลว่าจะส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกกัญชาเพื่อส่งออก เพราะต้องไปแก้ไขกฎหมายระหว่างประเทศอีกมาก อย่างไรก็ตาม หากเป็นการปลูกเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ก็ต้องทำภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด

สำหรับกระท่อม ไม่ได้มีข้อห้าม แต่ปัจจุบันยังเป็นยาเสพติดอยู่ การจะปล่อยไปทันทีโดยไม่มีมาตรการรองรับก็สุ่มเสี่ยงว่าจะมีมาตรการควบคุมเพียงพอหรือไม่ จึงควรค่อยเป็นค่อยไป อาจเริ่มต้นโดยการยอมให้เสพได้โดยไม่มีความผิดในบางพื้นที่ที่มีกระท่อมโดยธรรมชาติ ถ้ายังสามารถควบคุมไม่ให้เกิดผลกระทบวงกว้าง ไม่มีการแปรรูป หรืออันตรายจากการเสพ จึงขยายพื้นที่และเพิ่มหลักการ เมื่อถึงระยะเวลาที่เหมาะสมถึงปลดกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดได้

หลังจากที่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็ยังมีระยะเวลาอีก 180 วัน เพื่อให้ทุกภาคส่วนทำความเข้าใจก่อนบังคับใช้ เรื่องยาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่จะต้องช่วยกันทำความเข้าใจให้เกิดการรับรู้และต้องมีการกำหนดทิศทางและหน่วยงานขึ้นมาเพื่อรองรับการใช้กฎหมาย

ส่วนการบำบัดรักษาและการฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้ติดยาเสพติดนั้นในอดีตการฟื้นฟูทางสังคมแก่ผู้ติดยาจะอยู่นำหน้าการบำบัด แต่หลังจากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้การบำบัดจะต้องมาก่อน ก่อนที่จะติดตามไปช่วยเหลือดูแลจนสามารถกลับมาดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข ที่สำคัญไปกว่านั้นกฎหมายฉบับนี้เน้นการลดอันตรายจากยาเสพติดโดยส่งเสริมให้มีการนำมาใช้ประโยชน์ในกรอบแนวทางที่เคร่งครัดถูกต้อง โดยเฉพาะหากจะมีการยื่นจดทะเบียนสิทธิใช้ประโยชน์จากกัญชาและกระท่อมของประเทศไทย ก็จะต้องเป็นสิทธิของคนไทย มิใช่นายทุนต่างชาติ









กำลังโหลดความคิดเห็น