xs
xsm
sm
md
lg

ทลายโรงงานผลิตรังนกปลอมขาย นทท.พร้อมสั่งผิดโรงงานแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ปคบ.ร่วม อย.แถลงตรวจยึดรังนกปลอมระบาด ขายกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ย่านท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มูลค่ากว่า 2 ล้านบาท พร้อมสั่งผิดโรงงานแล้ว

วันนี้ (13 ธ.ค.) เวลา 13.00 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) พล.ต.ต.ศิร์ธัชเขต ครูวัฒนเศรษฐ์ ผบก.ปคบ. พร้อมด้วย พ.ต.อ.ชนันนัทธ์ สารถวัลย์แพศย์ ผกก.4 บก.ปคบ. เภสัชกรประพนธ์ อางตระกูล ที่ปรึกษา คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม ผู้อำนวยการสำนักอาหาร อย. ร่วมแถลงผลตรวจยึดผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มรังนกปลอมในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล มูลค่ากว่า 2,000,000 ล้าน

พล.ต.ต.ศิร์ธัชเขตต์กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อเดือน มิ.ย.61 ที่ผ่านมา บก.ปคบ. และ อย.ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่ามีการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มรังนกปลอม บริเวณสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าวอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และอาจทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงของประเทศต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติ จึงทำการสืบสวนหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแหล่งผลิตรังนกที่ไม่ได้คุณภาพ พร้อมตรวจยึดตัวอย่างผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจากจำนวน 5 บริษัทมาตรวจสอบ คือ บริษัท ทัสมา (ไทยแลนด์) จำกัด ย่านบางบอน กรุงเทพฯ, บริษัท ไทย ออริจินอล จำกัด ย่านวังทองหลาง กรุงเทพฯ, บริษัท เนส เจอรัล จำกัด อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี, บริษัท เจา เจาว์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี และบริษัท พรประเสริฐ รังนกไทย จำกัด อ.บางเลน จ.นครปฐม

ด้านเภสัชกรประพนธ์ เปิดเผยว่า ผลจากตรวจจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า ไม่พบรังนกเป็นส่วนประกอบ (อาหารปลอม) แต่พบเป็นยางไม้ชนิดหนึ่งเรียกว่า “คารายากัม” ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายแต่ก็ไม่มีประโยชน์ทางร่างกาย จำนวน 3 บริษัท, พบรังนกในส่วนประกอบเพียง 1 ส่วน จากส่วนผสมทั้งหมดและฉลากแสดงสูตรส่วนประกอบทั้งชนิดและปริมาณไม่ตรงตามที่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นคนละสูตรกับที่ได้จดทะเบียนอาหารไว้ (อาหารปลอม) จำนวน 1 บริษัท, พบสถานที่ผลิตเข้าข่ายจัดเป็นโรงงานผลิตอาหารตามกฎหมาย แต่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตผลิตอาหารจากสำนักงาน อย. และแสดงฉลากเพื่อลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์ได้รับอนุญาตเลขสารบบอาหารแล้ว ทำให้เกิดเข้าใจผิดในเรื่องสถานที่ผลิต (อาหารปลอม) จำนวน 1 บริษัท

ส่วนทางเภสัชกรหญิงสุภัทรา กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์รังนกจัดเป็นประเภทเครื่องดื่มเท่านั้น ไม่ใช่อาหารเสริม และไม่มีประโยชน์ที่ใช้ในการรักษาโรค ส่วนการตรวจสอบว่าเป็นเครื่องดื่มรังนกปลอมหรือไม่ให้สังเกตุที่ราคาสินค้าว่าไม่ถูกเกินไปหรือตัวเลข อย.13 หลัก อย่างไรก็ตาม ยังมีคำสั่งทางปกครองได้สั่งให้โรงงานงดผลิตเครื่องดื่มรังนกที่พบสารเจือปนออกไปก่อนเพื่อตรวจสอบตามขั้นตอน ทั้งนี้ ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสกับเจ้าพนักงานตำรวจได้ที่สายด่วน บก.ปคบ.1135 หรือสายด่วน อย.1556 เพื่อให้เจ้าหน้าที่เร่งรัดการตรวจสอบและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดต่อไป

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาในความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 “ร่วมกันผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารปลอม” โทษปรับตั้งแต่ 5,000-100,000 บาท จำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ, “ร่วมกันผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารโดยแสดงฉลากไม่ถูกต้อง” โทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท และ “ร่วมกันตั้งโรงงานผลิตอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต” โทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ



กำลังโหลดความคิดเห็น