MGR Online - ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 6 ปี ปรับ 3 แสนบาท นักศึกษา ป.โทปลอมเพจ “เดลินิวส์ออนไลน์” เผยแพร่ข่าวเท็จใส่ร้ายคนดัง ทำให้เจ้าของเว็บตัวจริงถูกดูหมิ่นเกลียดชัง เสื่อมเสียชื่อเสียง โทษจำคุกรอลงอาญาไว้ 3 ปี
วันนี้ (12 ธ.ค.) ที่ห้องพิจารณา 908 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีปลอมแฟนเพจเฟซบุ๊กเดลินิวส์ออนไลน์ หมายเลขดำที่ อ.2126/2559 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.วิรูฬลักษณ์ มหาสรศักดิ์ อายุ 31 ปี นักศึกษาชั้นปริญญาโทด้านไอทีของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 มาตรา 3, 14 (1) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 326, 328 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) 2526 มาตรา 4 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 11) 2535 มาตรา 3,4 ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอด
ตามฟ้องของอัยการโจทก์เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2558 ระบุความผิดจำเลยสรุปว่า จำเลยกับพวกอีกหลายคนที่ยังหลบหนี มีเจตนาให้บุคคลที่ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กเข้าใจเนื้อหาข่าวสารจากเพจ “เดลินิวส์ออนไลน์ อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์” อันเป็นเพจปลอมที่จำเลยกับพวกจัดทำขึ้นจนทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเป็นของบริษัท สี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และบริษัท เดลินิวส์เว็บ จำกัด ทำให้บริษัททั้งสองเกิดความเสียหาย และเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง การกระทำของจำเลยต่างกรรมต่างวาระหลายครั้งหลายหนจนประชาชนที่เข้ามาอ่านเกิดความสับสนเข้าใจผิด ข้อความทุกข้อความที่โพสต์ลงไปล้วนพาดพิงใส่ร้าย ด่าทอต่อบุคคลสำคัญ ทั้งศิลปิน ดารา และบุคคลอื่นๆ ให้ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิดด้วย
ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2560 ว่า พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องต้องกัน มีน้ำหนักน่าเชื่อ ไม่มีสาเหตุจะปรักปรำใส่ร้ายจำเลย ส่วนข้อต่อสู้ของจำเลยมีข้อพิรุธหลายประการ ไม่น่าเชื่อถือมีความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 รวม 4 กระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี ปรับกระทงละ 1 แสนบาท เป็นจำคุก 8 ปี ปรับ 4 แสนบาท ทางพิจารณาจำเลยให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาบ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 4 คงจำคุก 6 ปี ปรับเงิน 3 แสนบาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 3 ปี
ต่อมาจำเลยอื่นอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยเป็นผู้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า ผู้ดูแล (แอดมิน) เพจ The Dark Knights II เป็นผู้ดูแลข้อความตามฟ้อง ซึ่งไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงกับเฟซบุ๊กของจำเลย และข้อความไม่มีลักษณะใส่ความผู้เสียหายทั้งสองต่อบุคคลที่ 3 เห็นว่า ผู้ช่วยหัวหน้าข่าวเพจเดลินิวส์ออนไลน์ พนักงานสอบสวน และนักวิชาการคอมพิวเตอร์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เบิกความเป็นพยานเกี่ยวกับเหตุการณ์ในคดีว่ามีการบิดเบือนหัวข้อข่าวในเพจเดลินิวส์ออนไลน์ อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์ ซึ่งเป็นเฟซบุ๊กที่ตั้งค่าสาธารณะให้บุคคลทั่วไปเข้าถึงและเห็นได้ตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. 2558 เรื่อยมา รวมถึงการบิดเบือนข้อความโดยปรับเปลี่ยนหัวข้อข่าวที่ปรากฏในเพจเดลินิวส์ออนไลน์ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น แล้วเพจ The Dark Knights II นำข้อความที่บิดเบือนไม่ตรงกับความจริงนั้นไปเผยแพร่ ทั้งนี้เพจ The Dark Knights II และเฟซบุ๊กบุคคลชื่อ Viloonluck Rungtrantip (อ่านภาษาไทยว่า วิรูฬลักษณ์ รุ่งธารทิพย์) เคยโพสต์โจมตีเพจเดลินิวส์จริง เกี่ยวกับการเสนอข่าวอุบัติเหตุของน้องการ์ตูน และภายหลังบรรณาธิการของเดลินิวส์ออนไลน์ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน ปอท.แล้วมีการประสานขอข้อมูลจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตพบว่า หมายเลขไอพีแอดเดรสของผู้เข้าใช้เพจปลอมพบว่า เป็นมารดาจำเลย
จากนั้น พ.ต.ต.สุธิรพงศ์ ชัยศิริ สว.กก.3 บก.ปอท.และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง จึงรวบรวมพยานหลักฐานขอหมายค้นต่อศาลจังหวัดสงขลา และจากการเข้าตรวจค้นบ้านดังกล่าว ได้ตรวจสอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง และไอแพด 1 เครื่อง พบว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยมีการรีเซ็ตเครื่องหลังเวลา 06.30 น.ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าตรวจค้น จึงแจ้งให้จำเลยกู้คืนข้อมูลกลับมาซึ่งทำได้บางส่วน ก่อนทำการยึดไว้และนำกลับไปตรวจพิสูจน์เพิ่มเติม จากการตรวจพิสูจน์พบว่ามีการใช้เครื่องโทรศัพท์เข้าเพจ The Dark Knights II และพบข้อความสนทนาระหว่างจำเลยกับบุคคลอื่นในเฟซบุ๊ก Viloonluck Rungtrantip และทราบภายหลังว่า รุ่งธารทิพย์ เป็นชื่อสกุลของบิดาจำเลย หลายข้อความ หลังจากนั้นพนักสอบสวนก็ได้แจ้งหมายเรียกจำเลยเพื่อสอบปากคำ
จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบแสดงให้เห็นพฤติการณ์และลักษณะของการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการใช้โทรศัพท์และเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด และการสืบสวนหาพยานหลักฐานในคดีนี้ต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่ง พ.ต.ท.นันทวุฒิ รอดมณี, พ.ต.ต.สุธิรพงศ์ ชัยศิริ และ พ.ต.ต.ปฏิพล พิมานเมฆินทร์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ปอท.และนักวิชาคอมพิวเตอร์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญประสบการณ์เกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี (เฟซบุ๊ก) นำสืบถึงการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยกับเพจ The Dark Knights II และจำเลยก็เบิกความยอมรับว่า เฟซบุ๊ก Viloonluck Rungtrantip เป็นเฟซบุ๊กของจำเลย พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักให้รับฟัง ส่วนจำเลยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาหักล้างพยานโจทก์ โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการใช้เฟซบุ๊กของจำเลยในการโจมตีเพจเดลินิวส์ออนไลน์ การที่ศาลชั้นต้นรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์ว่ามีน้ำหนักในการรับฟังนั้นชอบแล้ว เมื่อลักษณะของการบิดเบือนหัวข้อข่าวให้ผิดไปจากเดิมในลักษณะที่สร้างความเสียหายแก่ผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำของผู้เสียหายทั้งสอง โดยใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้สาธารณชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ จำเลยจึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย ส่วนที่จำเลยขอให้ลงโทษสถานเบาและลดโทษให้อีกนั้น เห็นว่าโทษจำคุกและโทษปรับที่ศาลชั้นต้นกำหนดมานั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว