xs
xsm
sm
md
lg

ร้อง ปปง.ตรวจสอบเส้นทางการเงิน “เอิร์ธ” เร่งติดตามทรัพย์สินคืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - กลุ่มผู้เสียหายจากหุ้นกู้ “เอิร์ธ” ร้อง ปปง.ตรวจสอบเส้นทางการเงิน เร่งรัดติดตามทรัพย์สินคืนบรรเทาความเดือดร้อน ขณะที่เลขาฯ ปปง.เผยกำลังเร่งรัดดำเนินการแล้ว

วันนี้ (6 ธ.ค.) เวลา 09.30 น. ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กทม. นพ.จรูญศักดิ์ เธียรประพันธ์ หนึ่งในผู้เสียหาย พร้อมด้วยตัวแทนผู้เสียหาย 40 ราย จากการลงทุนหุ้นกู้ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.ต.ต.ปรีชา เจริญสหายานนท์ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง.เพื่อเร่งรัดตรวจสอบเส้นทางการเงินของบริษัทดังกล่าวเนื่องจากมีการกระทำเข้าข่ายความผิดมูลฐานการฟอกเงิน

นพ.จรูญศักดิ์กล่าวว่า กรณีบริษัท เอ็นเนอร์ยี่เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH มีการกระทำผิดทั้งในส่วนของลูกหนี้และเจ้าหนี้สถาบันที่ไม่สามารถมีเอกสารหลักฐานน่าเชื่อถือมายืนยันหรือตรวจสอบได้อย่างชัดเจน ทำให้ผู้ถือหุ้นกู้มีความสงสัยในกระบวนการบริหารงานของบริษัท รวมถึงภายหลังพบว่ามีเงินจำนวนมากสูญหายออกไปจากระบบทั้งๆ ที่การลงทุนในครั้งนี้ผู้ถือหุ้นกู้ได้พิจารณาแล้วว่าบริษัทที่ออกหุ้นกู้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยมีธนาคารของรัฐเป็นผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ชวนให้ลงทุนและเป็นนายทะเบียน

“ทั้งนี้ เมื่อช่วงเดือน ต.ค. 61 ที่ผ่านมา ผู้บริหารธนาคารกรุงไทยได้ชี้แจงผลการตรวจสอบภายในของธนาคารก็ยอมรับว่ามีการกระทำความผิดจริงมีบุคคลทั้งภายนอกและภายในของธนาคาร ก่อให้เกิดความเสียหายในหลายขั้นตอนซึ่งมีทุกระดับและจะดำเนินการตามกระบวนการกฎหมาย แต่ขณะนี้ทางธนาคารกรุงไทยยังไม่ได้สรุปผลการตรวจสอบภายในให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบอย่างเป็นทางการ”

นพ.จรูญศักดิ์กล่าวอีกว่า กระทั่งเมื่อวันที่ 20 พ.ย. กลุ่มผู้เสียหายเข้าพบผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ซึ่งรับปากว่าจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในกลางเดือน ธ.ค.นี้ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จึงทราบว่ากำลังเร่งขอผลการตรวจสอบภายในของธนาคารกรุงไทยอยู่แต่ได้มีการประสานงานกับ ปปง.ช่วยตรวจสอบเส้นทางการเงินจากการทุจริตในกรณีดังกล่าว ทำให้วันนี้กลุ่มผู้เสียหายเดินทางมา ปปง.เพื่อขอความเป็นธรรม เร่งรัดติดตามเส้นทางการเงินจากการผู้กระทำผิดทั้งหมด มาดำเนินคดี และนำเงินกลับมาชดใช้คืนแก่ผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเพราะหากล่าช้าโอกาสจะถูกถ่ายเททรัพย์สินไปยังบุคคลอื่นๆ และการติดตามเงินจะทำได้ยากยิ่งขึ้น

ด้าน พล.ต.ต.ปรีชาเผยว่า คดีดังกล่าวแยกออกเป็น 2 ส่วน โดยกรณีปลอมแปลงใบตราส่งสินค้าทางเรือ (Bill of lading-B/L) นำเข้าถ่านหินจากประเทศอินโดนีเซียมาใช้เป็นหลักฐานในการกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย ซึ่งธนาคารกรุงไทยเป็นผู้เสียหายได้มีหนังสือแจ้งความร้องทุกข์ต่อดีเอสไอ และส่งหนังสือมายัง ปปง. ขอให้พิจารณาดำเนินการตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 กับบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) กับพวก ตามความผิดมูลฐานฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ ตามมาตรา 3 (18) โดยหลังจาก ปปง.รับเรื่องแล้วได้มีการเสนอต่อคณะกรรมการธุรกรรม เพื่อพิจารณามอบหมายให้สอบธุรกรรมทางการเงินหรือทรัพย์สินทันที ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบเส้นทางการเงินผู้ที่เกี่ยวข้อง

ส่วนกรณีธนาคารกรุงไทยปล่อยขายหุ้นกู้บริษัท เอิร์ธ ให้แก่ผู้เสียหายนั้น ทางดีเอสไอเพิ่งส่งหนังสือมาให้ ปปง.ดำเนินการต่อบริษัท เอิร์ธ ซึ่งก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อเสนอให้คณะกรรมการธุรกรรมตรวจสอบข้อเท็จจริงได้เร็วๆ นี้ หากคณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีมีมูลฐานความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินก็จะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเชิงลึกพร้อมประสานข้อมูลจากดีเอสไอ และธนาคารกรุงไทย ว่าเงินถูกโอนย้ายไปที่ไหน มีการถ่ายเทออกนอกประเทศหรือไม่ เพื่ออายัดทรัพย์ต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น