xs
xsm
sm
md
lg

ศาลยุติธรรม ยันกำไล EM ใช้เต็มประสิทธิภาพ ชี้คดีเมาแล้วขับ ขอศาลสั่งกำหนดพื้นที่ขับ ช่วยคุ้มครอง ปชช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR online - เลขาธิการศาลยุติธรรม เผย กำไล EM ใช้เต็มประสิทธิภาพเกิน 5,000 เครื่อง พร้อมเช่าเพิ่ม เผย คดีเมาแล้วขับ ขอศาลสั่งกำหนดพื้นที่ขับรถ ช่วยคุ้มครองประชาชน

วันนี้ (1 ธ.ค.) นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึงผลการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ กำไลข้อเท้า EM กับผู้ต้องหา หรือจำเลยที่มีหลักทรัพย์ไม่เพียงพอในการยื่นประกันตัว หรือป้องกันที่อาจหลบหนีออกนอกประเทศ เพื่อลดช่องว่างทางสังคม และยกระดับกระบวนการยุติธรรมของศาลไทยที่เริ่มใช้ครั้งแรกในศาลยุติธรรมไทยตั้งแต่เดือน มี.ค. 61 ที่ผ่านมา
ว่า ครั้งแรกศาลยุติธรรม ได้เริ่มนำร่องอุปกรณ์ EM ที่ได้มาชุดแรก 5,000 เครื่อง มูลค่าประมาณ 80 ล้านบาท ในศาล 15 แห่ง กระทั่งมีการขยายใช้ในศาลยุติธรรมทุกจังหวัดทั่วประเทศขณะนี้ ก็ใช้แล้วกว่า 5,567 เครื่อง ซึ่งในอนาคตเตรียมเช่าอุปกรณ์ EM ใช้เพิ่มเติมอีก

โดยปัญหาที่พบในการใช้อุปกรณ์ดังกล่าว คือ ส่วนของตัวเครื่อง (กล่องสัญญาณ) ที่มีขนาดใหญ่เกินไป ดังนั้น ก็เตรียมแก้ไขอุปกรณ์ให้มีขนาดเล็กลง รวมทั้งระยะเวลาการใช้แบตเตอรี่ด้วย โดยเราจะประสานบริษัทผู้ให้เช่าเครื่องทำการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เราเช่ามาแล้วก็ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และที่เป็นประโยชน์อย่างมาก คือ ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ก็ประสานกับกรมคุมประพฤติให้ติดกับผู้ต้องคดีเมาแล้วขับได้ในการควบคุมติดตาม จำกัดระยะเวลาช่วงเดินทางออกพื้นที่ในการขับรถได้ ก็จะเป็นการดูแลคุ้มครองประชาชนที่ใช้ถนนร่วมกัน ซึ่งผู้ที่ดื่มแล้วขับก็มีจำนวนมาก ซึ่งการติดอุปกรณ์จะเท่ากับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะด้วย

ขณะเดียวกัน วันนี้ที่ “ศูนย์ควบคุมติดตามการปล่อยชั่วคราวและการบังคับตามคำสั่งศาลโดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ EM” นายปุณณพัฒน์ มหาลี้ตระกูล ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา ได้บรรยายและสาธิตการใช้อุปกรณ์กำไลข้อเท้า EM ซึ่งมีคุณสมบัติทน ลงน้ำได้ลึกถึง 3 เมตร และมีระบบ GPS ติดตามตัวพร้อมการแจ้งเตือนการชาร์จแบตเตอรี่เมื่อแตะที่ 20%

โดยเจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมฯ สำนักงานศาลยุติธรรม จะทำการติดตามผลผ่านหน้าจอมอนิเตอร์ทั่วประเทศตลอด 24 ชั่วโมง หากพบว่าผู้ต้องหามีพฤติกรรมผิดเงื่อนไขเช่น ออกนอกเขตตามเวลา หรือระยะที่ศาลกำหนด ก็จะแจ้งเตือนไปยังเจ้าตัว หรือคนใกล้ชิดก่อน และหากมีการแกะทำลายทิ้ง ก็จะติดตามตัวจากตำแหน่งสุดท้ายที่ยังอยู่ ซึ่งจะใช้กูเกิลแม็ปร่วมด้วย

นอกจากนี้ ตั้งแต่ได้นำกำไล EM มาใช้จำนวน 5,000 ชิ้น มีการใช้งานกว่า 5,567 ครั้ง โดยมีศาลเป็นผู้ใช้ 5,279 ครั้ง และกรมควบคุมความประพฤติ 288 ครั้ง หมายความว่า มีการใช้มากกว่าจำนวนของที่มีอยู่ คือ ผู้ต้องหาได้กระทำผิดซ้ำ โดยสถิติคดีแบ่งเป็น คดียาเสพติด 38%, ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ (ลักวิ่งชิงปล้น) 21%, การจราจรทางบก 16 %, ผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 13 %, ความผิดเกี่ยวกับร่างกาย (ฆ่า หรือ พยายามฆ่า) 8% และ ความผิดเรื่องอาวุธปืน 4% ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลว่าจะพอจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่

ศาลยังมีอำนาจกำหนดระยะเวลาที่ผู้ต้องหาต้องสวมใส่กำไล EM ในระหว่างรอลงอาญา จนกว่าจะถึงขั้นตอนการพิจารณาคดี โดยสำหรับการใช้ควบคุมงานคุมประพฤติก็จะมีระยะเวลา 15 วัน เพื่อป้องกันและปราบปรามไม่ให้เกิดเหตุซ้ำซ้อนขึ้น

ส่วนราคากำไลข้อเท้า EM นั้น เครื่องละประมาณ 17,000 บาท ซึ่งหากผู้ต้องหาทำอุปกรณ์ชำรุด ทางบริษัทผู้ผลิตก็จะดำเนินการปรับในราคา 22,000 บาท

อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อมูลที่ผู้ต้องหาซึ่งติดกำไลข้อเท้า EM อยู่แล้วหลบหนีนั้น “นายปุณณพัฒน์” กล่าวว่า มีจำนวนผู้ต้องหาที่สวมใส่ข้อเท้า 20% ได้หลบหนีและมามอบตัวภายหลัง ขณะที่อีก 2% ถูกติดตามจับกุมตัวภายหลัง


กำลังโหลดความคิดเห็น