xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : “บิ๊กตู่”อยู่หรือลาออก หลังเข้าพลังประชารัฐ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


รายการ “ข่าวลึก ปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม ผู้จัดการ 360 วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน 2561 ตอน “บิ๊กตู่”อยู่หรือลาออก หลังเข้าพลังประชารัฐ



ฉากแรกศึกเลือกตั้ง ส.ส.ที่มีกำหนดจะหย่อนบัตรวันอาทิตย์ ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ปิดตลาดการซื้อตัวย้าย-เข้า ออกของนักการเมือง อดีต ส.ส.และนักเลือกตั้ง ไปแล้ว พูดได้ว่าตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีความคึกคักอย่างยิ่ง

ได้ลุ้นกันจนถึงวันสุดท้าย คือวันจันทร์ที่ 26 พ.ย.เลยทีเดียว ที่คนซึ่งจะลง ส.ส.ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองต้นสังกัดให้ได้ เพราะหากเลยไปจากนี้ แล้วการเลือกตั้งเป็น 24 ก.พ. 62 ก็จะขาดคุณสมบัติ เพราะเป็นสมาชิกพรรคไม่ถึง 90 วัน

ควันหลงจากเหตุการณ์ที่ชวนตื่นเต้นระทึกใจในวันสุดท้ายก่อนปิดฉากการหาสังกัดของนักการเมือง ก็เป็นรายของนางเอกชื่อดัง นาตยา แดงบุหงา อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ มีปัญหาในวันสุดท้ายของการยืนยันเป็นสมาชิกพรรค

เช้าวันนั้นนางเอกนาตยา อดีต ส.ส.สองสมัย มาเซ็นใบลาออกจากประชาธิปัตย์ บ่ายไปสมัครเข้าพรรคภูมิใจไทย พอตกเย็นลาออกจากภูมิใจไทยมาสมัครเข้าประชาธิปัตย์ เหมือนวิ่งลอกเข้าฉากถ่ายละครสองเรื่อง ตอนนี้ก็ต้องแจ้งให้แฟนๆหายสับสน ว่า นาตยา ยังอยู่ประชาธิปัตย์เหมือนเดิม

หลังฝุ่นตลบจางลง ปรากฏว่า พรรคพลังประชารัฐ พรรคการเมืองที่ผลผลิตของรัฐบาลคสช. ทำสถิติเป็นแชมป์หลายด้าน คือเช่นเป็นพรรคการเมืองที่มีอดีต ส.ส.ย้ายเข้ามาและถูกดูดเข้ามาสังกัดมากที่สุด นับแล้วทั้งเกรดเอ บี ซี และที่ไม่เกรด รวมแล้วหลายร้อยคน

ขณะที่พรรคใหญ่เจ้าเก่าอย่างพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ มีปัญหาส. ส. เก่าโดดดูดไปแห่งละไม่น้อย จากตัวเลขเพื่อไทยมีอดีต ส.ส.แถวหน้าออกไป23 คน ส่วนประชาธิปัตย์ เจอพลังดูดไป 17 คน ซึ่งอดีต ส.ส.ทั้งสองพรรค ย้ายมาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ ศิษย์ท้อปบู๊ตมากที่สุด

นอกจากนี้ พลังประชารัฐยังเป็นพรรคที่น่าจะมีนักการเมืองหน้าเก่าหน้าใหม่ให้ความสนใจขอลง ส.ส.มากที่สุด โดยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว. พาณิชย์ และเลขาธิการพรรค บอกมาว่า มีจำนวนมากถึง1,300 คน

จำนวนคน ขอลง ส.ส.มากขนาดนี้ นับว่าล้นจาก350 เขตกับอีก150 คนของบัญชีปาร์ตี้ลิสต์ไป เยอะ เป็นเรื่องธรรมดาต้องมีคนพลาดหวังเกือบพันคน ซึ่งคงจะเป็นปัญหาในเวลาต่อไป

ล่าสุด ทางพลังประชารัฐได้มีหนังสือจากนายอุตตมะ สาวนายน หัวหน้าพรรค เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการหาเสียงเลือกตั้ง แต่งตั้งให้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นประธานกรรมการ เข้าใจว่ากรรมการชุดนี้จะต้องทำหน้าที่คัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.ทั้ง ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อไปด้วย

การคัดตัวผู้ลง ส.ส.เป็นเรื่องสำคัญ ที่จะบ่งบอกทิศทางของพรรคพลังประชารัฐได้ว่า จะเป็นการวางตัวคนเพื่อเป็นกลไกสืบทอดอำนาจเผด็จการอย่างที่คนทั่วไปวิตกและพูดกันหรือไม่ หรือจะเป็นพรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อทำงานรับใช้บ้านเมือง อย่างจริงจัง

ซึ่งควรจะมีจุดสังเกตุ คือ ควรดูที่การจัดบัญชี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรค หากมีรายชื่อทหารตำรวจยกกันมาเต็มพรืด ก็แสดงว่าทิศทางพลังประชารัฐไปในทางสืบทอดอำนาจแล้ว

แต่ถ้ามีคนหลากหลายจากสาขาอาชีพต่างๆเข้ามาอย่างสมดุล ก็จะบอกได้ว่า พลังประชารัฐเลือกคนเข้ามาทำงานการเมืองเพื่อคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่เพื่อการรักษาอำนาจให้ คสช. แต่อย่างเดียว

ความเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐอีกเรื่องที่ต้องจับตาดู ก็คือ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. จะลงมาเป็นหนึ่งในรายชื่อนายกรัฐมนตรีที่พลังประชารัฐเสนอหรือไม่ ?

ตอนนี้รู้กันว่า บิ๊กตู่คงเลือกคัมแบ็คนายกรัฐมนตรีอีกรอบ ในแนวทางให้เสนอชื่อเป็นหนึ่งในสามในบัญชีนายกฯของพลังประชารัฐแน่ ซึ่งเป็นหนทางที่สังคมยอมรับได้ การกลับมาอีกทีกับช่องทางนี้ของบิ๊กตู่ไม่มีใครว่า เพราะถูกต้องตามกติกา ตามมาตรา 88 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560

เพียงแต่ว่า ช่วงนี้บิ๊กตู่ยังอุบไต๋ ยังไม่พูดอนาคตทางการเมืองของตัวเองให้ชัดๆ ก็เข้าใจได้เพราะยังไม่ถึงเวลาที่จะเปิดไพ่ออกมา ยังมีเวลาเหลืออยู่อีกนาน จนกระทั่งถึงวันปิดรับสมัครส. ส.

ซึ่งคาดว่า กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.น่าจะกำหนดวันรับสมัคร ส.ส.ในระหว่างกลางเดือนมกราคมปีหน้า ประมาณวันที่14-18 มกราคม ระหว่างนี้บิ๊กตู่จึงเด้งเชือกเรื่อยๆไปได้

ประเด็นที่จะตามมาหลังที่พลเอก ประยุทธ์ตัดสินใจใส่ชื่อตัวเองในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี ก็คือจะมีคำถามถึงความเหมาะสม ว่าจะปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไปได้หรือไม่ หรือจะต้องลาออกหรือพักการปฏิบัติหน้าที่ อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อความเป็นกลาง และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ในประเด็นนี้ ทางฝ่ายพลเอก ประยุทธ์ก็แย้มมาแล้วว่า ไม่จำเป็นต้องลาออก เพราะไม่ผิดกติกา แต่หลายฝ่ายก็มีความคิดเห็นว่าพลเอก ประยุทธ์ควรจะลาออกเพื่อดำรงความเป็นกลางและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายในช่วงการเลือกตั้ง

ขณะนี้มีกระแสที่เห็นว่า ถ้าพลเอก ประยุทธ์กระโดดลงมา ก็ควรลาออก โดยให้เหตุผลว่า ถ้ามีพรรคใด จะใส่ชื่อพลเอกประยุทธ์เพื่อเสนอเป็นนายกฯ พลเอกประยุทธ์ต้องเซ็นให้ความเห็นชอบ เพื่อมิให้พรรคอื่นมารุมเสนอชื่อซ้ำ

เมื่อลงนาม รับให้พรรคหนึ่งเสนอชื่อตัวเอง ถึงแม้กฎหมายไม่บังคับให้ต้องเป็นสมาชิกพรรค แต่การเซ็นยินยอมให้พรรคใดพรรคหนึ่ง ย่อมเป็นการยอมรับว่า ตนเองจะเข้าเวทีการเมืองเต็มตัว ยึดโยงกับพรรคนั้น

ดังนั้น เมื่อพลเอก ประยุทธ์เซ็นชื่อไปให้แก่พรรคใดพรรคหนึ่งเรียบร้อยแล้ว พลเอกประยุทธ์จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้อย่างไร?

เรื่องนี้สังคมทุกฝ่ายควรร่วมกันคิด และด้านพลเอก ประยุทธ์ก็ควรจะไตร่ตรองประเด็นนี้ให้รอบด้าน หากคิดจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบ ก็ควรจะมาด้วยความสง่างาม ถือว่าดีที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น