xs
xsm
sm
md
lg

โพลหนุนปลดกัญชา-กระท่อมใช้ประโยชน์ ชี้ต้องการโทษเหมาะสมความผิด ลดคนล้นคุก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


 
การปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยเฉพาะยาเสพติดประเภทที่ 5 อันประกอบด้วย กัญชา พืชกระท่อม พืชฝิ่น ทุกส่วนของพืชกัญชา ทุกส่วนของพืชกระท่อม และพืชเห็ดขี้ควาย ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา เป็นที่น่าสนใจและติดตามจากประชาชนทั่วไปและคนในวงการแพทย์อย่างมาก

ในเรื่องนี้ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำพร้อมด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงถือโอกาสทำโพลสำรวจเรื่อง “ประชาชนคิดอย่างไรต่อ กระท่อม และ กัญชา” จากกลุ่มตัวอย่างเป้าหมายกว่า 5,000 ราย ซึ่งสูงกว่าการทำวิจัยทั่วไป ( ซูเปอร์โพลทำสำรวจเรื่องประชามติ ใช้ตัวอย่าง 1,500 ราย ได้ผลออกมาใกล้เคียงการลงประชามติมากที่สุด โพล 61.5% คะแนนจริงอยู่ที่ 61.4% )
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ
 
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เกริ่นนำว่า “ในการขับเคลื่อนประมวลกฎหมายยาเสพติด การพัฒนางานวิชาการด้านยาเสพติดนั้นมีเป้าหมายคือ การค้นหาข้อมูลทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้มีการกำหนดโทษอย่างเหมาะสมกับความผิดของผู้กระทำ รวมทั้งหนุนเสริมให้สาธารณชนพิจารณามิติใหม่ๆ ของประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายยาเสพติด โดยเฉพาะ การรับรู้ เข้าใจ เชื่อมั่นและสนับสนุนให้ใช้พืชบางชนิดได้แก่ กระท่อม และ กัญชา ในทางที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานและรักษาโรคบางอย่างได้”

สำหรับผลการสำรวจในครั้งนี้พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.0 เห็นด้วยกับการกำหนดโทษให้เหมาะสมกับระดับความร้ายแรงของการกระทำความผิด โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.6 เห็นด้วยให้มีการศึกษาวิจัย ประโยชน์ของ กัญชา ได้ นอกจากนี้ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.7 เห็นด้วยให้มีการกำหนดพื้นที่ที่ประชาชนคนท้องถิ่นนั้นๆ สามารถใช้ใบกระท่อม ในการทำงาน การบำบัดรักษาโรคได้ตามวิถีชาวบ้านของพวกเขาเหล่านั้นในพื้นที่นั้นๆ

ร้อยละ 60.0 เห็นด้วยต่อ การยกเลิกบทสันนิษฐานคนที่มียาบ้า เกิน 15 เม็ด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไปหาหลักฐานพิสูจน์ความผิดว่า มีไว้เพื่อขายหรือไม่ และศาลพิจารณาโทษตามความเหมาะสมกับความผิด จะเป็นธรรมมากขึ้น แต่ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.5 เห็นด้วยที่จะให้ประชาชนใช้ใบกระท่อม เพื่อรักษาโรคได้ ร้อยละ 57.4 เห็นด้วยที่จะให้ประชาชนใช้ใบกระท่อม เพื่อประโยชน์ในการทำงาน ตามวิถีชีวิตในท้องถิ่นของประชาชนเหล่านั้นได้ และท้ายที่สุดร้อยละ 52.3 เห็นด้วยที่จะให้ประชาชนใช้ กัญชา เพื่อบำบัดรักษาโรคได้ด้วยเช่นกัน

เมื่อเราพิจารณาจากหัวข้อการทำโพลสำรวจชิ้นนี้ ก็จะพบว่า ปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่เริ่มเห็นประโยชน์จากการใช้กัญชาและใบกระท่อมมาบำบัดรักษาโรคมากยิ่งขึ้น แต่เมื่อกฎหมายในปัจจุบันยังบัญญัติเอาไว้ให้พืชทั้ง 2 ชนิดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ซึ่งห้ามเสพอย่างเด็ดขาดอยู่ ดังนั้นจึงไม่ขอบรรยายสรรพคุณเพื่อชี้นำถึงประโยชน์ของมันว่าอาจจะสามารถนำมาใช้บรรเทาโรคภัยชนิดใดได้บ้าง

"หวังการแก้ไขกฎหมายยาเสพติดครั้งนี้จะช่วย คนหาเช้ากินค่ำ ผู้รายได้น้อย รอดพ้นการจับกุมเพราะเคี้ยวใบกระท่อมรักษาโรคปวดเมื่อย ขับวินมอเตอร์ไซค์ ปลูกยาง ทำนา เสียเงินให้เจ้าหน้าที่ เสียเวลาทำมาหากิน ตกเป็นเหยื่อถูกขูดรีด และช่วยแก้ปัญหาคนล้นคุกได้อีกทางหนึ่ง แต่ถ้าใช้ในทางที่ผิดเช่น แปรรูปทำ 4 x 100 ก็ต้องรับโทษไปเต็ม ๆ" ดร.นพดล ระบุในตอนท้าย
น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส.
 
น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลกฎหมายยาเสพติดส่งผลดีหลายด้าน เช่น การเปิดช่องทางให้มีการวิจัยทางการแพทย์หาประโยชน์จากพืชเสพติด การกำหนดโทษให้เหมาะสมกับความผิด และการแก้ปัญหาผู้ต้องขังคดียาเสพติดที่ล้นเรือนจำ เป็นต้น สสส. ได้สนับสนุนการศึกษาวิจัยด้านยาเสพติดมาอย่างต่อเนื่องด้วยการสนับสนุนทุนวิจัยให้ภาคีเครือข่ายทั้งในระบบหลักที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง ได้แก่ สำนักงาน ป.ป.ส. กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และภาคีเครือข่ายที่คอยสนับสนุนส่งเสริมการแก้ไขปัญหายาเสพติด ได้แก่ สถาบันการศึกษา นักวิชาการ หน่วยงานไม่หวังผลกำไรและกลุ่มภาคีเครือข่ายเอกชน เป็นต้น โดยเล็งเห็นว่า การเป็นภาคประชาสังคม (Civil Society) ในการร่วมกันแก้ไขปัญหายาเสพติด จะช่วยทำให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดประสบความสำเร็จตามเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน

“จากข้อมูลผลการศึกษาที่ สสส. เคยให้ทุนสนับสนุนนักวิชาการทำการศึกษาถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายยาเสพติดเบื้องต้น พบว่า การใช้กฎหมายยาเสพติดที่เปิดโอกาสให้มีการพิจารณาโทษใหม่แก้ผู้ต้องขังคดียาเสพติดที่ผลิต นำเข้า ส่งออก จำนวนน้อยในฐานะผู้เสพได้รับการพิจารณาโทษใหม่ที่เหมาะสมกับความผิดและมีโอกาสกลายเป็นคนดีคืนสู่สังคมได้เร็วขึ้นส่งผลทำให้บรรลุเป้าหมายสำคัญหลายประการ เช่น การลดปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ การลดปัญหาการขยายเครือข่ายขบวนการค้าที่เชื่อมโยงไปยังผู้เสพ และการเพิ่มโอกาสให้ผู้เสพกลับเป็นคนดีของสังคมมากขึ้น เป็นต้น และประโยชน์ที่ได้รับจากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายยาเสพติดนี้เกิดผลดีต่อทั้งคนไทยและคนต่างชาติอีกด้วย”
นายจิตรนรา นวรัตน์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 2
 
เมื่อเราสอบถามข้อมูลจาก นายจิตรนรา นวรัตน์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 2 ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานด้านยาเสพติดมานานนับสิบปี อีกทั้งเป็นผู้จัดทำร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ และกฎหมายยาเสพติดฉบับอื่นๆ อีกหลายฉบับในประเทศไทย ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการถอดถอนกัญชาและกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ว่า

“ประเทศไทยเรามีพืชสมุนไพรหลากหลายชนิดและเราก็ได้เรียนรู้ว่าเราโดนต่างชาติมาฉกฉวยเอาทรัพย์สินทางปัญญามาแล้วหลายครั้ง ภูมิปัญญาท้องถิ่นของเราเราก็ควรอนุรักษ์เอาไว้ แต่หากจะต้องมีการพิจารณาถอดถอนยาเสพติดตัวใดออกจากบัญชีไป สิ่งสำคัญเราจะต้องมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมการผลิต การเพาะปลูกหรือการใช้ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ได้อย่างถูกต้อง ไม่เกิดโทษหรือเพิ่มภาระให้ทุกคนในสังคม”

สำหรับกัญชานั้นคงจะไม่มีทางถอดถอนออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 ได้ เนื่องจากที่ผ่านมาคนไทยส่วนใหญ่ใช้ต้นและใบมาเสพเพื่อความบันเทิงเท่านั้น ที่สำคัญมีการวิจัยจากต่างประเทศออกมา พบว่า หากนำมาใช้ในลักษณะแบบนั้นผู้เสพกัญชาก็จะได้รับทั้งประโยชน์และพิษจนเกิดโทษจากมัน แท้ที่จริงคือหากจะนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์จะต้องมีการสกัดเอาตัวยาที่มีสรรพคุณทางการรักษาออกมาเสียก่อนเท่านั้นจึงจะถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์

ที่ผ่านมาบ้านเราไม่ได้มีการวิจัยถึงประโยชน์ของมันเนื่องจากกัญชาถูกขึ้นบัญชีให้เป็นยาเสพติดมาแต่ในอดีต จึงเกิดการโต้เถียงของคนสองกลุ่ม คือกลุ่มคนที่บังคับใช้กฎหมายก็ห้ามเพราะเมืองไทยไม่มีงานวิจัยสนับสนุน ส่วนผู้ที่มีหน้าที่วิจัยก็ไม่สามารถทำได้เพราะกฎหมายห้ามเสพเด็ดขาด ดังนั้นหลังจากนี้เราต้องยอมถอยแก้ไขบทบัญญัติบางประการให้ภาครัฐสามารถนำกัญชามาทำการวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ แต่จะไม่ถอนออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 ให้เกิดการเพาะปลูกอย่างเสรีให้ใครๆ นำมาใช้เสพสนองความบันเทิงได้อย่างอิสระแน่นอน

ในส่วนของพืชกระท่อมเป็นพืชท้องถิ่นที่มีอยู่เดิมแต่ก็ยังไม่สามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์จากเหตุผลข้างต้นได้เช่นกัน ทั้งที่คนโบราณรู้กันมานมนานแล้วว่าจะใช้มันเพื่อประโยชน์ด้านใด ที่สำคัญผลข้างเคียงมีน้อยกว่ากัญชาอย่างมาก หากใช้ตามกรรมวิธีโบราณคือใช้ใบกระท่อมเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่นำมาต้มผสมสารเคมีทำน้ำสี่คูณร้อยเหมือนที่วัยรุ่นนิยมทำกันเพื่อความบันเทิงอย่างในปัจจุบันนี้

ลำพังใบกระท่อมอย่างเดียวนั้นไม่อันตรายเท่าใดนัก ในอนาคตจึงมีแนวโน้มถูกถอดถอนออกจากบัญชียาเสพติดแต่จะต้องถูกกำหนดเป็นพืชที่มีการควบคุมไม่ปล่อยปละให้ใช้กันได้อย่างเสรี ยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับสุราและยาสูบ ที่มีการกำหนดอายุผู้ซื้อ กำหนดเวลาห้ามขาย มีการจำกัดสถานที่ดื่มและพื้นที่สูบ โดยเฉพาะสุราแม้ไม่ใช่ยาเสพติดตามกฎหมายดื่มแล้วไม่มีความผิดทางอาญา แต่ห้ามขับขี่ยานพาหนะหลังดื่มสุราเข้าไปอะไรทำนองนี้

“สำหรับกระท่อมนั้นมีงานวิจัยอย่างไม่เป็นทางการยืนยันออกมาด้วยว่า ต้นกระท่อมที่อยู่ในป่า ตามแหล่งต้นน้ำลำธาร ถ้าหากไม่ถูกโค่นล้มออกจากระบบไปด้วยความที่มันถูกขึ้นบัญชีเป็นยาเสพติดแล้ว มันจะเป็นผู้พิทักษ์รักษาระบบนิเวศของป่าได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญกระท่อมเป็นไม้โตเร็วที่มีลำต้นแข็งแรง สามารถนำเนื้อไม้มาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทำให้กระท่อมอาจถูกถอดถอนออกจากบัญชียาเสพติดได้ในอนาคตแต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังต้องมีการควบคุมการปลูกและการใช้ประโยชน์จากมันให้ดี”


กำลังโหลดความคิดเห็น