xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฎีกายกฟ้อง 6 อดีตตำรวจกาฬสินธุ์ ฆ่าอำพรางแขวนคอโจ๋ ปี 2547

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ศาลฎีกาพลิกคำตัดสิน ยกฟ้อง 6 อดีตตำรวจกาฬสินธุ์ คดีฆ่าอำพรางแขวนคอโจ๋ ปี 2547 ระบุพยานมีปากเดียว และไม่ใช่ประจักษ์พยาน คำให้การมีพิรุธไม่น่าเชื่อถือ ขณะที่จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธมาโดยตลอด น่าสงสัยว่าทำผิดจริงหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

วันนี้ (11 ต.ค.) ที่ห้องพิจารณา 902 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีฆ่าแขวนคอ หมายเลขดำ อ.3252/2552 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 และนายกิตติศัพท์ ถิตย์บุญครอง บิดาผู้เสียชีวิต ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ด.ต.อังคาร คำมูลนา อายุ 54 ปี, ด.ต.สุดธินันท์ โนนทิง อายุ 49 ปี, ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์ อายุ 48 ปี, พ.ต.ท.สำเภา อินดี อายุ 57 ปี อดีต สวป.สภ.เมืองกาฬสินธุ์, พ.ต.อ.มนตรี ศรีบุญลือ อายุ 68 ปี อดีต ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ และ พ.ต.ท.สุมิตร นันท์สถิต อายุ 51 ปี อดีตรอง ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ (ทั้งหมดมียศและตำแหน่งขณะนั้น) เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย และเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องรับโทษ

กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 22-23 ก.ค. 2547 จำเลยที่ 1-3 และจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นตำรวจฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ร่วมกันฆ่านายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง อายุ 17 ปีเศษ ผู้ต้องหาคดีลักรถจักรยานยนต์ ขณะนำตัวออกจาก สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ด้วยการบีบรัดคอจนเสียชีวิต จากนั้นจึงร่วมกันปิดบังเหตุการณ์ตายโดยย้ายศพผู้ตายจากท้องที่เกิดเหตุ ไปแขวนคอไว้ที่กระท่อมนาบ้านบึงโดน ม. 5 ต.แสนชาติ อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด โดยจำเลยที่ 4- 6 ได้ร่วมกันข่มขู่พยานเพื่อให้การอันเป็นเท็จ ซึ่งจำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2555 ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1-3 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นฯ และย้ายศพเพื่อปิดบังสาเหตุการตาย ส่วนจำเลยที่ 6 ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นฯ ขณะที่จำเลยที่ 5 ลงโทษจำคุก 7 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบฯ และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4

ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยที่ 1-3 มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาฯ และย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิตจำเลยที่ 1-3 นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1-3 แต่คำให้การของจำเลยที่ 2 มีประโยชน์ในการพิจารณาคดี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 2 ไว้ 50 ปี และพิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 4 มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาฯ ลงโทษประหารชีวิต แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 4 ไว้ตลอดชีวิต ส่วนจำเลยที่ 5-6 มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบฯ แต่ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 7 ปีนั้น เห็นว่าหนักเกินไป จึงพิพากษาแก้ ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 5-6 ไว้คนละ 5 ปี

คดีนี้ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่ง พ.ต.อ.มนตรี จำเลยที่ 5 ไม่เดินทางมาฟังคำพิพากษา ศาลจึงให้ออกหมายจับปรับนายประกัน 1 ล้านบาท และเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกามาเป็นวันนี้ ซึ่งในวันนี้ศาลเบิกตัว ด.ต.อังคาร, ด.ต.สุดธินันท์ และ ด.ต.พรรณศิลป์ จำเลยที่ 1-3 จากเรือนจำมาศาล พ.ต.ท.สำเภา จำเลยที่ 4 และ พ.ต.ท.สุมิตร จำเลยที่ 6 ซึ่งได้รับการประกันตัวเดินทางมาศาล ส่วน พ.ต.อ.มนตรี จำเลยที่ 5 ยังหลบหนีไม่มาศาล

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าวันที่ 16 ก.ค. 2547 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมตัวนายเกียรติศักดิ์ ผู้เสียชีวิต ควบคุมตัวไว้ที่ สภ.กาฬสินธุ์ ถึงในชั้นฝากขัง โดยภายหลังศาลได้อนุญาตปล่อยชั่วคราวผู้เสียชีวิต จำเลยได้นำตัวผู้เสียชีวิตขึ้นไปที่ห้องสืบสวน เช้าวันต่อมาพบผู้เสียชีวิตเป็นศพถูกแขวนคอ ทาง สภ.กาฬสินธุ์ ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงสรุปว่าไม่มีหลักฐานรู้เห็นการตายของผู้เสียชีวิต จึงให้ยุติเรื่อง ต่อมานางพิกุล พรหมจันทร์ ญาติผู้เสียชีวิตยื่นร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่าผู้เสียชีวิตถูกตำรวจ สภ.กาฬสินธุ์ ฆ่า ดีเอสไอจึงรับเรื่องไว้เป็นคดีพิเศษ ดำเนินการแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งหก

พวกจำเลยกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ เห็นว่าโจทก์และโจทก์ร่วมมีพยานซึ่งเป็นผู้เดินทางไป สภ.กาฬสินธุ์ ในวันเกิดเหตุ เบิกความว่าพบจำเลยที่ 2 ควบคุมตัวผู้เสียชีวิตไว้เมื่อเวลา 18.00 น. ทำการถ่ายรูปและด่าทอผู้เสียชีวิต พยานได้ยินผู้เสียชีวิตโทรศัพท์คุยกับมารดาว่าให้รีบมารับ เขาจะเอาตนไปฆ่า จากนั้นเห็นจำเลยที่ 1, 3 นำตัวผู้เสียชีวิตออกไปจากห้อง วันต่อมาพยานเห็นหนังสือพิมพ์ลงข่าวผู้เสียชีวิต และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจรายหนึ่งขอให้ช่วยเหลือ อย่าพูดความจริง จะถูกแขวนคอเหมือนผู้เสียชีวิต ตำรวจได้นำเอกสารคำให้การจำนวน 4 หน้า ที่พิมพ์ไว้แล้วมาให้พยานท่องไว้ ต่อมาพยานได้ทำบันทึกเล่าความจริง ให้การตามจริงต่อดีเอสไอ โดยความช่วยเหลือของนางพิกุล ซึ่งเป็นพยานปากเดียว ไม่มีประจักษ์พยาน

เมื่อพยานถูกข่มขู่เกรงจะได้รับอันตราย จึงร้องขอความคุ้มครอง กองบังคับการปราบปรามให้พยานไปพักที่แฟลตตำรวจ ซอยวัชรพล อยู่ในอำนาจกองปราบฯ แล้ว ไม่มีเหตุต้องกลัวอีก หลังพักอยู่ 3 สัปดาห์ นางพิกุลพาพยานไปให้การต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แต่ไม่ได้ให้การตามจริงทั้งหมดต่อกองปราบฯ อ้างกลัวอยู่ ไม่เหมือนให้การต่อ กสม. อีกทั้งพยานไม่แจ้งความเอาผิดตำรวจที่ขอให้ช่วยเหลืออย่าพูดความจริง และเมื่ออยู่ในความคุ้มครองของกองปราบฯ แล้วเหตุใดจึงโทรหานางพิกุลให้ไปรับออกจากการคุ้มครองของกองปราบฯ แล้วขอเงินนางพิกุลไปอยู่ จ.สระแก้ว พร้อมขอค่ามัดจำห้องเช่า เหตุใดจึงไม่ให้ กสม.ไปสอบปากคำพยานที่กองปราบฯ พฤติการณ์ของพยานเป็นพิรุธให้สงสัยว่าถูกข่มขู่เพื่อให้การเท็จและเกรงกลัวอันตรายตามที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่

ส่วนที่พยานทำบันทึกเล่าความจริงไว้กับน้องสาวพยาน เหตุใดโจทก์และโจทก์ร่วมถึงไม่นำบันทึกดังกล่าวมาแสดงและนำน้องสาวพยานมาเบิกความต่อศาล อีกทั้งเมื่อพิจารณาข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 22 ก.ค. 2547 ระยะเวลานับตั้งแต่จำเลยที่ 1, 3 พาผู้เสียชีวิตออกไปจากห้องสอบสวนหลังจากเวลา 19.00 น. ลงไปขึ้นรถเดินทางออกจาก สภ.กาฬสินธุ์ ถึงถนนบายพาสกาฬสินธุ์ และเชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด ในเวลา 19.12 น. เป็นไปไม่ได้ พยานเป็นพิรุธ ไม่น่าเชื่อถือ ประกอบกับจำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธโดยตลอด จึงน่าสงสัยว่าจำเลยทั้งหกร่วมกระทำความผิดจริงหรือไม่ ให้การช่วยเหลือในการกระทำความผิดจริงหรือไม่ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ฎีกาของจำเลยทั้งหกฟังขึ้น ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น พิพากษายกฟ้อง

ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น บรรดาญาติและผู้ติดตามให้กำลังใจพวกจำเลยต่างดีใจร่ำไห้เข้าสวมกอดพวกจำเลย ขณะที่นางพิกุล ญาติผู้เสียชีวิตระบุเบื้องต้นว่า พูดไม่ออก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้ดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 2547 ช่วงประกาศนโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างเด็ดขาด ขณะเดียวกัน ช่วงเวลาดังกล่าวพบว่ามีผู้เสียชีวิตและหายสาบสูญใน จ.กาฬสินธุ์ อย่างต่อเนื่องที่สามารถตรวจสอบรายชื่อได้มีทั้งสิ้น 28 ราย โดยเฉพาะกรณีการฆ่าแขวนคอนายเกียรติศักดิ์ ญาติของนายเกียรติศักดิ์ได้เข้าร้องเรียนสาเหตุการเสียชีวิตต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ

ด้านนายรัษฎา มนูรัษฏา กรรมการสิทธิมนุษยชนของสภาทนายความ ทนายความโจทก์ร่วม กล่าวว่า วันนี้ศาลฎีกายกฟ้องจำเลยที่เป็นตำรวจทั้ง 6 ราย ถือว่าคดีถึงที่สุดแล้วและเคารพคำพิพากษาของศาลฎีกา แต่ยังไม่เห็นพ้องด้วย โดยคดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อปี 2547 มีวัยรุ่นถูกตำรวจ สภ.กาฬสินธุ์ จับกุมแล้วในวันรุ่งขึ้นพบว่าถูกแขวนคอตายอยู่ในกระท่อม จ.ร้อยเอ็ด หลังเกิดเหตุญาติผู้ตายได้ขอความช่วยเหลือทางคดีมายังสภาทนายความ ซึ่งเป็นองค์กรให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย แต่งตั้งคณะทำงานแล้วให้ความช่วยเหลือญาติที่เข้าเป็นโจทก์ร่วม อย่างไรก็ตาม เห็นว่าศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำเลย 5 ราย ยกฟ้อง 1 ราย เราไม่เห็นจึงอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ลงโทษจำคุกทั้ง 6 คน ขณะที่ศาลฎีกายกฟ้อง โดยหยิบหยกความเห็นของพยานที่ให้ผู้ตายยืมโทรศัพท์เพื่อโทร.ติดต่อหาย่าผู้ตายซึ่งยังมีข้อสงสัย แต่เราเห็นว่ายังมีพยานปากสำคัญอื่นๆ อีก โดยเฉพาะย่าของผู้ตายและมีบุคคลมาประกันตัวให้ผู้ตาย โดยที่ญาติไม่ทราบเรื่องแล้วตำรวจทำบันทึกประจำวันว่าปล่อยตัวกลับบ้านไปแล้ว พยานเหล่านี้อยู่ในสำนวนคดีที่พนักงานสอบสวนดีเอสไอทำไว้อย่างดีที่สุด ซึ่งศาลฎีกายังไม่ได้หยิบยกประเด็นเหล่านี้ เราก็จะได้ศึกษาในเชิงวิชาการว่ารายละเอียดคำพิพากษาเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ อยากจะฝากถึงกรณีที่มีผู้เสียชีวิตใน จ.กาฬสินธุ์ เกือบ 20 ราย ในช่วงปี 2546-2547 แล้วยังหาตัวคนร้ายไม่ได้ คดีมีอายุความนาน 20 ปี จึงเป็นหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) จะต้องสั่งการให้สืบหาตัวคนร้ายที่แท้จริงมาลงโทษตามกฎหมายให้ได้ หากหัวหน้าสถานีตำรวจระบุได้สืบหาตัวคนร้ายมาแล้วเป็นเวลานาน แต่ไม่ทราบตัวผู้กระทำผิด ให้งดการสืบสวนสอบสวน ตนคิดว่าญาติพี่น้องของคนตายเขายังสงสัยอยู่ว่าคนร้ายที่ทำให้ลูกหรือคนในครอบครัวเขาตาย เมื่อไหร่จะถูกนำตัวมาลงโทษ ทั้งนี้ ขอให้มีการคุ้มครองพยานในคดีนี้ที่เขาออกมาให้ข้อมูลต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถือว่ามีความเสี่ยงที่ออกมาพูดความจริง ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการครองพยาน เช่น กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพต้องให้ความสำคัญ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการรวบรวมพยานหลักฐานได้นำข้อมูลสัญญาณโทรศัพท์มือถือที่เชื่อมโยงในคดีหรือไม่ นางพิกุล พรหมจันทร์ ญาติของผู้ตายกล่าวว่า ขณะนั้นเราไม่สามารถที่จะใช้อำนาจขอข้อมูลได้ เพราะเป็นอำนาจของพนักงานสืบสวนสอบสวนกองปราบปรามซึ่งตอนนั้นได้ทำอย่างรอบคอบแล้ว

นายรัษฎากล่าวต่อว่า คดีนี้มีการหาหลักฐานเชื่อมโยงจากสัญญาณโทรศัพท์มือถือ และพบว่ามีสัญญาณโทรศัพท์มือถือของจำเลยที่ 1 ไปปรากฏอยู่ในพื้นที่ใกล้กับจุดเกิดเหตุที่พบศพผู้ตายในเขต อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด แต่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าช่วงเวลามีความคลาดเคลื่อนไม่ใกล้เคียงกัน เพราะระยะทางจาก สภ.เมืองกาฬสินธุ์ค่อนข้างไกล แต่ข้อเท็จจริงจุดที่เกิดเหตุ จ.กาฬสินธุ์ กับ จ.ร้อยเอ็ด ใช้เวลาเดินทางไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็สามารถไปถึงกันได้ ตนเคยลงไปดูที่เกิดเหตุแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องแล้ว หลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะต้องไปสืบสวนหาตัวคนร้ายที่ทำให้เสียชีวิต โดยคดีมีอายุความ 20 ปี
นางพิกุล พรหมจันทร์


กำลังโหลดความคิดเห็น