ไม่กี่วันที่ผ่านมามีอีเมลจากสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ ส่งมาเผยถึงตัวเลขผลสำรวจเรื่องพิษภัยของสื่อและยาเสพติด ที่มีมุมร้ายกระทบต่อเด็กและเยาวชนในปัจจุบันนี้ให้ทราบอย่างน่าสนใจ
ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.ซูเปอร์โพล ระบุว่า ได้ทำการสำรวจในกลุ่มเด็กและเยาวชนทั่วประเทศที่เป็นกลุ่มเป้าหมายทั้งสิ้น 11,361,800 คน ในหัวข้อเรื่อง “สื่อร้ายกับยาบ้าในวัยโจ๋” โดยทำการสุ่มตัวอย่างออกมาทั้งสิ้น1,325 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 1 - 28กันยายน พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.9 ระบุ สื่อสร้างสรรค์ของหน่วยงานต่าง ๆ ไม่น่าสนใจ ยังไม่โดนใจเพียงพอ ในขณะที่ร้อยละ 25.1 ระบุน่าสนใจเพียงพอแล้ว ที่น่าเป็นห่วงคือ ประสบการณ์เคยดูสื่อลามกในโลกโซเชียล พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.3 เคยดู เคยใช้
เช่น ดาวน์โหลดคลิปลามกดัง ดาวน์โหลดภาพ เปิดดูเฉย ๆ เป็นต้น โดยวิธีการเข้าดู เข้าถึงสื่อลามกในโลกโซเชียลที่ใช้บ่อยที่สุด ได้แก่ ร้อยละ 42.3 ระบุค้นหาด้วยตนเอง ร้อยละ 41.8 รับรู้ผ่านการส่งต่อในโลกโซเชียล และร้อยละ 15.9 เพื่อนแนะนำ บอกต่อ ตามลำดับ
สำหรับผลประมาณการทางสถิติจำนวนเด็กและเยาวชน ติดเกมส์ ติดสื่อลามก ติดความรุนแรง พบว่า มากที่สุดคือ ติดเกมส์ เล่นเกมส์เกินกว่า 2 ชั่วโมงต่อวันมีอยู่ 3,141,512 คน ติดความรุนแรงคือ คำพูดรุนแรง และ การกระทำทำทุกวันต่อสัปดาห์มีเฉียดล้านคนคือ 997,448 คน ติดสื่อลามก เปิดดูเป็นประจำทุกวันหรือเกือบทุกวันต่อสัปดาห์ มีอยู่ 775,394 คน
ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ เด็กและเยาวชนใช้ยาเสพติดประเภทต่าง ๆ ไม่นับรวมเหล้าและบุหรี่ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ยาไอซ์ขึ้นแซงยาบ้าและกัญชา มาเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 845,732 คน ใช้กัญชา จำนวน 839,116 คนและใช้ ยาบ้า จำนวน 695,851 คน นอกจากนี้ที่ควรจับตาเฝ้าระวังคือยาเสพติดสุดในอดีตอย่าง เฮโรอีน กำลังกลับมาแพร่ระบาดในเด็กและเยาวชน จำนวน 89,344 คน รวมถึงยาเสพติดชนิดอื่นๆ ได้แก่ โคเคน ยาเค ยาอี เป็นต้น จำนวน 42,197 คน
ดร.นพดล กล่าวว่า “ผลสำรวจครั้งนี้ทำให้เห็นถึงความล้มเหลวของสื่อสร้างสรรค์พลังบวกยังเข้าไม่ถึง ยังไม่โดนใจเด็กและเยาวชนให้น่าสนใจติดตามและยังไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้ในกลุ่มเด็กและเยาวชน จำนวนเด็กติดเกมส์สูงร่วม 3 ล้านคนทั่วประเทศและเฉียดล้านคนที่ติดความรุนแรง ซึ่งประเด็นความรุนแรงนี้ส่วนหนึ่งน่าจะมาจาก ผู้ใหญ่ในสังคมและครอบครัวที่ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีด้านการใช้คำพูดรุนแรง อารมณ์รุนแรงออกสื่อ
รวมถึงการเมืองที่รุนแรง หรือมีพ่อแม่ญาติพี่น้องคนในครอบครัวใช้ความรุนแรงใส่กันส่วน ปัญหาการใช้ยาเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชน พบว่า ยาไอซ์ กลับเพิ่มสูงขึ้นเป็นอันดับแรก ยาบ้าที่เคยนิยมตกลงไปอยู่ในอันดับสาม ส่วนเฮโรอีนกำลังกลับมา สะท้อนให้เห็นถึงการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั้ง 4 ด้านคือ การป้องกัน การปราบปราม การบำบัดรักษาและการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์”
ด้าน รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผอ.ศูนย์คุณธรรม ( องค์การมหาชน) และในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กล่าวว่า หมอไม่อยากให้โทษแต่เด็ก เพราะจากประสบการณ์ที่ดูแลเคสน้องๆ วัยรุ่นมา อยากบอกให้ทราบว่า 100 เคสที่เข้ามาพบหมอนั้น 75% ต้องรักษาที่บริวารของเด็ก คือคนที่พาเด็กมาและคนรอบข้าง ส่วนเด็กๆ ที่มีปัญหาจริงๆ มีเพียง 25% ต้องเข้าใจก่อนตอนนี้ระบบนิเวศโดยรวมป่วยเสียงยิ่งกว่าตัวเด็ก ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกข้อจึงเป็นปัญหาที่น่าห่วงใยพอๆ กัน หากจะตั้งสมมุติฐานจากปัญหาว่าเกิดจากสื่อหรือไม่ ตัวหมอเองคงไม่กล้าฟันธง เพราะตามความเห็นนั้น สื่อ เป็นเพียง Trigger Point.หรือจุดกดเจ็บ ซึ่งอาจจะส่งผลเชิงบวกหรือลบก็ได้ ขึ้นอยู่กับทุนชีวิตของเด็ก ว่า แต่ละคนมีมากน้อยเพียงใด
ถามว่า “ทุนชีวิต” คืออะไร? คือ ก็คือ “ทักษะชีวิตบวกจิตสำนึกทั้งต่อตนเอง สังคมและสิ่งแวดล้อมที่เขาอยู่ร่วมด้วยทุกวัน หมายถึงทั้ง บ้าน ชุมชน และโรงเรียน” สมมุติว่าบังเอิญมีเด็กบางคนไปเห็นภาพ Live สดการฆ่าตัวตาย ถามว่าเด็กคนนั้นจะลอกเลียนแบบการฆ่าตัวตายไหมมันก็ไม่แน่เสมอไป ขึ้นอยู่กับทุนชีวิตของเด็กคนนั้นว่ามีมากน้อยไหนนั่นเอง หากระบบนิเวศไม่ดี บ้านไม่เป็นบ้าน โรงเรียนไม่เป็นโรงเรียน เด็กเจอเพื่อนที่ไม่ใช่กัลยาณมิตร บวกกับต้องอยู่ในชุมชนที่มีปัญหาฟอนเฟะ เหล่านี้คือความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดสิ่งไม่ดีไม่งามขึ้นกับตัวเด็ก ทั้งปัญหายาเสพติด พฤติกรรมรุนแรง และปัญหาอื่นๆ
ซึ่งที่ผ่านมามักมีการสรุปแบบกำปั้นทุบดินว่า ให้ครอบครัวทุกครัวเรือนเริ่มสร้างความเข้มแข็งให้เด็กจากที่บ้าน นั่นมันก็ไม่ผิดเพราะคือประเด็นที่ทราบกันเป็นสากลทั่วโลก แต่ในความเป็นจริงหากมีการสะท้อนถึงปัญหาให้เห็นแบบเป็นองค์รวมก็จะเห็นจุดรั่วที่แท้จริง ว่าจุดรั่วของแต่ละบุคคลอยู่ที่ระบบนิเวศตรงส่วนใด เด็กที่ติดยาเสพติด ติดเกมส์ มีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงนั้น เป็นผลมาจากความล้มเหลวของครอบครัวที่เลี้ยงดูไม่ดีทั้งหมดหรือไม่ เราจะไม่สามารถตอบได้ ดังนั้นปัจจุบันนี้อยากให้ฉีกสมมุติฐานเดิมๆ เรื่องการชี้มูลเหตุของเด็กที่มีปัญหา เกิดจากครอบครัวหย่าร้าง ครอบครัวไม่ดูแล เพียงด้านเดียว
หมอเคยวิจัยเรื่องทุนชีวิตมาแล้วพบว่า แม้บ้านเด็กจะเป็นคฤหาสน์หลังใหญ่พ่อแม่เป็นผู้มีอันจะกิน แต่หากพ่อกับแม่เลี้ยงลูกให้บกพร่องทางทุนชีวิตนั้น จะเกิดความเสี่ยงต่อปัญหาเด็กไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดมากกว่าเด็กที่มีต้นทุนชีวิตสมบูรณ์ 3-10 เท่าตัว จริงอยู่ว่าครอบครัวสำคัญที่สุดแล้ววันนี้ครอบครัวแบบไหนที่เกิดปัญหามากกว่ากันใครจะสามารถให้คำตอบได้ ครอบครัวเศรษฐี ครอบครัวยากจน หรือบ้านไหนพอมีอันจะกิน ถ้าจะให้เติมเต็มก็ควรหันมาวิเคราะห์ระบบนิเวศทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับตัวเด็กเองทั้งบ้าน ชุมชน โรงเรียน และคนรอบข้าง อยากให้เข้าใจว่าทุนชีวิตของคนที่บกพร่อง ต่อให้เขาอยู่ในครอบครัวที่ร่ำรวยเพียบพร้อม หรือเรียนโรงเรียนนานาชาติ ก็ล้วนมีความเสี่ยงได้ทั้งสิ้น ถ้าเด็กมีทุนชีวิตต่ำ ถ้าเด็กไม่มีระบบนิเวศจุดใดให้เขาเป็นที่พึ่งได้เลย กลุ่มเด็กพวกนี้จะมีความเสี่ยงมากที่สุด
“ในความคิดเห็นของหมอหากจะแก้ไขต้องทำความเข้าใจแบบองค์รวมทั้งระบบนิเวศรอบตัวเด็ก ต้องสำรวจระบบนิเวศรอบตัวเด็กด้วยว่าแต่ละคนมีความแข็งแรงมากน้อยเพียงใด หากพบความบกพร่องตรงจุดใดขึ้นมาก็จะส่งสัญญาณแรงสู่กระบวนการแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี ขอเพียงอย่างน้อยให้ 1 ที่ เป็นที่ที่ปลอดภัย ให้เด็กมีโอกาสชาร์ตพลังงานชีวิต โอกาสที่เด็กจะมีความเสี่ยงต่อปัญหาต่างๆ ก็จะลดน้อยลงในระดับหนึ่ง และจะยิ่งดีขึ้นถ้าระบบนิเวศรอบตัวเด็กมีความสมบูรณ์มากกว่า 1 จุด” รศ.นพ.สุริยเดว ฝากส่งท้าย