xs
xsm
sm
md
lg

กรมบังคับคดีเผย “สมรักษ์-ภรรยา” ยังไม่เป็นบุคคลล้มละลาย กฎหมายเปิดช่องประนอมหนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


อธิบดีกรมบังคับคดีเผย “สมรักษ์-ภรรยา” ยังไม่ถือว่าเป็นบุคคลล้มละลาย คำสั่งศาลเป็นขั้นตอนแรกการบังคับคดี อยู่ระหว่างเจรจาประนอมหนี้ตามกฎหมาย พ.ร.บ.ล้มละลาย

จากกรณีราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เรื่องคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โดยระบุว่า ด้วยบริษัท บริหารสินทรัพย์ มหานคร จำกัด ยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายกลางขอให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย ประกอบด้วย นางเสาวนีย์ คำสิงห์ จำเลยที่ 1 และนายสมรักษ์ คำสิงห์ จำเลยที่ 2 โดยศาลได้มีคำสั่งลงวันที่ 9 ส.ค. 2561 ให้พิทักษ์ทรัพย์ของนางเสาวนีย์ คำสิงห์ จำเลยที่ 1 และนายสมรักษ์ คำสิงห์ จำเลยที่ 2 เด็ดขาด ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 แล้ว

สาเหตุหลักที่ทำให้ สมรักษ์ คำสิงห์ และนางเสาวนีย์ คำสิงห์ ภรรยา กลายเป็นบุคคลล้มละลายมาจากการประกอบธุรกิจปั๊มน้ำมันเมื่อปี 2538 ซึ่งเป็นการเปิดธุรกิจให้กับพ่อตาแม่ยายที่ จ.ชัยภูมิ แต่จนแล้วจนรอดธุรกิจประสบปัญหาขาดทุนกว่า 2 ล้านบาท จนลุกลามกลายเป็นหนี้สินกว่า 4 ล้านบาท

ล่าสุดเมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 24 ก.ย. น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี เผยว่า นายสมรักษ์และภรรยา ยังไม่ถือเป็นบุคคลล้มละลาย เพราะคำสั่งศาลล้มละลายเป็นเพียงขั้นตอนแรกของการบังคับคดีล้มละลายเท่านั้น ขั้นตอนต่อไปเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะออกหมายเรียกให้ลูกหนี้มาสอบสวนเรื่องทรัพย์สิน และพูดคุยเรื่องการประนอมหนี้ เพราะตามกฎหมายมีการเปิดโอกาสให้ผู้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ สามารถขอประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ได้

โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กำหนดให้นายสมรักษ์และภรรยามาพบวันที่ 25 ก.ย.นี้ เบื้องต้นทราบว่านายสมรักษ์จะให้ทนายความมายื่นเรื่องขอเลื่อนการประนอมหนี้ แต่ยังต้องรอความชัดเจนในเย็นวันที่ 24 ก.ย.นี้ ว่านายสมรักษ์และภรรยาจะขอเลื่อนหรือมาพบเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์วันที่ 25 ก.ย.หรือไม่

“หากนายสมรักษ์และภรรยามีความประสงค์ในการการประนอมหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเรียกลูกหนี้กับเจ้าหนี้มามาประนอมหนี้ ตกลงเรื่องจำนวนเงินที่ต้องชำระ และระยะเวลาที่ต้องผ่อนชำระในแต่ละเดือน เมื่อตกลงกันได้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะรายงานต่อศาล หากศาลเห็นชอบตามที่ตกลงกันจะได้รับการปลดจากการล้มละลาย แต่หากลูกหนี้ไม่สามารถตกลงกับเจ้าหนี้ได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องยึดทรัพย์สินลูกหนี้มาชำระให้กับเจ้าหนี้ และถูกพิพากษาเป็นบุคคลล้มละลาย” น.ส.รื่นวดีกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น