xs
xsm
sm
md
lg

คุก “ชินแสโชกุน” 871 กระทง 4,355 ปี ลอยแพสมาชิกไปทัวร์ญี่ปุ่น รวมโทษจำคุกสูงสุด 20 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ศาลสั่งจำคุก “ซินแสโชกุน” พร้อมหญิงคนสนิทและเลขานุการส่วนตัว หลอกพาสมาชิกไปทัวร์ญี่ปุ่น สุดท้ายลอยแพกลางสุวรรณภูมิต้นปี 60 พร้อมปรับบริษัทกว่า 435 ล้านบาท แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงให้จำคุกสูงสุด 20 ปี



วันนี้ (12 ก.ย.) เมื่อเวลา 10.30 น.ที่ห้องพิจารณาคดี 906 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.2176/2560 ที่พนักงานอัยการคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท เวลท์เอเวอร์ จำกัด, น.ส.พสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ หรือซินแสโชกุน อายุ 31 ปี กรรมการผู้จัดการบริษัทฯ, นางมณฑญาณ์ นิรันดร หรือจันทร์ฉาย นาคฤทธิ์ อายุ 56 ปี มารดาของซินแสโชกุน, นายก้องศรัณย์ แสงประภา อายุ 23 ปี ลูกพี่ลูกน้องของซินแสโชกุน, น.ส.ทัศย์ดาว สมัครกสิกรรณ์ อายุ 36 ปี เลขานุการและคนรักของซินแสโชกุน, นางประนอม พลานุสนธิ์ อายุ 41 ปี รองประธานบริษัท, นางณิชมน แสงประภา อายุ 65 ปี ป้าของซินแสโชกุน และเป็นมารดาของนายก้องศรัณย์, นางพารินธรญ์ หงส์หิรัญ ดัคกอร์ อายุ 36 ปี ผู้ดูแลการเงินและผู้ช่วยการโฆษณาของบริษัท, น.ส.สุดารัตน์ อเนกนวล อายุ 26 ปี ผู้ดูแลการขาย และนายโกวิท ช่วยสัตว์ อายุ 31 ปี คนรักของ น.ส.สุดารัตน์ เป็นจำเลยที่ 1-10 ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 3, 4, 12

และฟ้องจำเลยที่ 2-10 ในความผิดฐานร่วมกันนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลนั้นเป็นเท็จน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3, 14 (1) และเป็นซ่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210

ขณะที่ บจก.เวลท์เอเวอร์ และ น.ส.พสิษฐ์ จำเลยที่ 1-2 ยังถูกฟ้องอีกในข้อหาร่วมกันจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ควบคุมฉลากโดยแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 4, 6 (10), 51 และยังฟ้อง น.ส.พสิษฐ์ จำเลยที่ 2 ในความผิดฐานซื้อหรือรับไว้ของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงอากรฯ ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ ด้วย โดยท้ายฟ้องอัยการยังขอให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 51 ล้านบาทเศษ คืนให้กับผู้เสียหาย 871 คน พร้อมดอกเบี้ยที่ผิดนัดชำระร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องคดีวันที่ 6 ก.ค. 2560 หลังจากที่จำเลยชักชวนให้ผู้เสียหายเข้าเป็นสมาชิกของบริษัทผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ระหว่างเดือน ม.ค.-เม.ย. 2560 โดยอ้างว่าจะมีสิทธิได้เดินทางไปท่องเที่ยวประเทศแถบเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง แต่มีผู้เสียหายหลายร้อยรายไม่ได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นตามที่จำเลยโฆษณา เนื่องจากไม่มีสายการบินเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นตามวันเวลาที่จำเลยกล่าวอ้าง จึงติดค้างอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ

คำฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปได้ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 25 ม.ค. - 11 เม.ย. 2560 น.ส.พิสิษฐ์ หรือซินแสโชกุน จำเลยที่ 2 ได้มีผลิตภัณฑ์อาหารเสริม MASTERMIND ชนิดแคปซูล รวม 425 กระปุก กับผลิตภัณฑ์อาหารเสริม GENESIS รวม 50 กระป๋อง รวมทั้งอาหารเสริม SMART KIDS รวม 31 กระป๋อง ซึ่งจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีแหล่งผลิตในต่างประเทศ โดยมีผู้อื่นนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังไม่ได้เสียภาษี หรือผ่านศุลกากรให้ถูกต้อง รวมมูลค่าสินค้าและอากรที่ต้องจ่าย 945,131 บาท

แล้วจำเลยที่ 2 - 10 ได้สมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป กระทำผิดเป็นซ่องโจรร่วมกันฉ้อโกงประชาชน แสดงข้อความอันเป็นเท็จ โฆษณาชักชวนประชาชนทั่วไปผ่านเพจเฟซบุ๊ค "WealthEver For Life" เว็บไซต์ยูทูปและแอพพลิเคชั่นไลน์กลุ่ม เชิญชวนให้ประชาชนสมัครเข้าเป็นสมาชิกและร่วมลงทุนกับพวกจำเลย จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมของบริษัท ALLYSIAN (แอลลี่เชี่ยน) ซึ่งเป็นบริษัทในต่างประเทศ รวมทั้งจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนสูง และมีการจัดโปรแกรมท่องเที่ยวให้สมาชิกเดินทางไปเมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 10 - 15 เม.ย. 2560 และ 11- 16 เม.ย. 2560 โดยเครื่องบิน Airbus A330-300 ขนาด 377 ที่นั่ง ของสายการบินคาร์เธ่ แปซิฟิก รวม 6 ลำ จนมีประชาชน 871 ราย หลงเชื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกและร่วมลงทุนทำธุรกิจกับบริษัทจำเลยที่ 1 กับพวกได้รับความเสียหายจำนวนมาก เหตุเกิดทั่วราชอาณาจักร โดยจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธทั้งชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณา

ระหว่างนี้จำเลยที่ 2-10 ไม่ได้รับการประกันตัว ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง วันนี้ศาลเบิกตัวจำเลยที่ 2-10 มาฟังคำพิพากษา โดยในห้องพิจารณาวันนี้มีทั้งญาติของจำเลยเดินทางมาให้กำลังใจ และผู้เสียหายส่วนหนึ่งเดินทางมาติดตามผลการพิพากษาเต็มห้องพิจารณาคดีกว่า 20 คน

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่อัยการโจทก์และจำเลยทั้ง 10 นำสืบหักล้างกันแล้ว คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยข้อที่ 1 ว่า น.ส.พสิษฐ์ หรือซินแสโชกุน จำเลยที่ 2 กระทำการซื้อหรือรับสินค้าที่นำเข้ามาโดยยังไม่ได้เสียภาษี หรือผ่านขั้นตอนศุลกากรโดยถูกต้องหรือไม่ ศาลเห็นว่าประเด็นนี้มีผู้จัดการบริษัท ALLYSIAN ที่นำเข้าผลิตภัณฑ์เบิกความว่าบริษัทมีที่ตั้งอยู่ประเทศแคนาดา มีสาขาอยู่หลายประเทศ โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งซื้อผลิตภัณฑ์มาในช่วงต้นปี 2560 และจำเลยที่ 2 ได้ชำระค่าสินค้าทั้งหมดแล้ว จึงรับฟังได้ว่าช่วงเกิดเหตุมีเพียงจำเลยที่ 2 เท่านั้น ที่สั่งซื้อผลิตภัณฑ์โดยรับฟังได้จากพยานอื่นซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนเบิกความสอดคล้องกันว่าจำเลยที่ 2 จะชักชวนให้สมาชิกมาร่วมลงทุนซื้ออาหารเสริม โดยจ่ายเงินลงทุน 9,730 บาท จะได้รับผลิตภัณฑ์อาหารเสริม 2 กระป๋อง และสิทธิไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น โดยการตรวจค้นรถของจำเลยที่ 2 ก็พบว่ามีผลิตภัณฑ์อาหารเสริม 52 กระป๋องเก็บไว้ พยานหลักฐานที่นำสืบมาจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมมาจำหน่ายให้กับสมาชิกของตนเอง โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับการนำผลิตภัณฑ์เข้ามาในราชอาณาจักร หลักฐานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักพอรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้นำเข้าหรือรู้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นนำเข้ามาโดยไม่เสียภาษี จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร

ข้อที่ 2 บจก.เวลท์เอเวอร์ และ น.ส.พสิษฐ์ จำเลยที่ 1-2 ร่วมกันจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ควบคุมฉลากโดยแสดงฉลากไม่ถูกต้องหรือไม่ ศาลเห็นว่าแม้จำเลยที่ 2 ซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมมาจำหน่ายตามปกติ แต่ผลิตภัณฑ์นั้นมีข้อความบนฉลากเป็นภาษาอังกฤษ ไม่มีภาษาไทย ไม่มีเลขสารบบอาหาร ซึ่งตรงกับคำเบิกความของพยานเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบแล้วพบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน ขณะที่ผู้จัดการบริษัท ALLYSIAN เบิกความอ้างขอขึ้นทะเบียนแล้วแต่ยังไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้นผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจึงยังไม่มีเลขสารบบอาหารให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งจำเลยที่ 1-2 ก็ย่อมจะทราบว่าสินค้าที่นำเข้านั้นเป็นอาหารที่ควบคุมฉลาก แต่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ที่จำเลยต่อสู้ว่าผลิตภัณฑ์มีการรับรองจากต่างประเทศแล้ว สามารถนำมาจำหน่ายได้ เป็นข้อต่อสู้ที่ปราศจากเหตุผลและง่ายต่อการกล่าวอ้าง จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบในส่วนนี้มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1-2 ได้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร

ข้อที่ 3 จำเลยที่ 1-10 กระทำผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันฉ้อโกงประชาชน โดยจำเลยที่ 2-10 ร่วมกันนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์หรือไม่ เห็นว่าตามทางนำสืบของโจทก์มีตำรวจ ปอท., ปคบ. และกองปราบปราม คณะพนักงานสอบสวนตามคำสั่งของ บช.ก. พนักงาน บจก.เวลท์เอเวอร์ บางราย และกลุ่มผู้เสียหาย เบิกความเป็นพยานเชื่อมโยงสอดคล้องกันถึงพฤติการณ์ว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ด้วยนั้น ได้ชักชวนกลุ่มผู้เสียหายมาสมัครสมาชิกและซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริม โดยจะให้สมาชิกลงทุนครั้งแรกคนละ 9,730 บาท แล้วจะได้ไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น จึงทำให้กลุ่มผู้เสียหายส่วนใหญ่ที่ถูกชักชวนได้ตัดสินใจร่วมลงทุนเป็นสมาชิก เพราะอยากไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น ซึ่งปกติการไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นต่อคนต่อครั้งต้องใช้เงินประมาณ 30,000 – 50,000 บาท โดยมูลค่าเงินที่ให้สมัครสมาชิกนั้น เมื่อเทียบกับราคาไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นถือว่ามีราคาถูกมาก รวมทั้งการอ้างถึงค่าตอบแทนเป็นผลประโยชน์ให้กับผู้เสียหายนั้น ก็มีมูลค่าสูงกว่าที่สถาบันการเงินทั่วไปตามกฎหมายจะจ่ายให้ได้ จากพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาที่จะให้ผู้เสียหายหลงเชื่อกับการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศมากกว่าที่จะให้ซื้อสินค้า ขณะที่เมื่อมีการชำระค่าสมาชิกตามที่อ้างแล้ว ผู้เสียหายในคดีนี้ 871 ราย ก็ไม่ได้เดินทางไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากไม่มีตั๋วเครื่องบิน ไม่มีการการจองห้องที่พักในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตรงกับคำเบิกความของพนักงานบริษัทสายการบิน อีกทั้งยังได้ความว่าช่วงเวลาดังกล่าวที่สนามบินสุวรรณภูมิประกาศงดการบินเช่าเหมาลำ เนื่องจากมีการซ่อมแซมรันเวย์บางส่วน ซึ่งการกระทำของจำเลยที่ 2 นั้นทำให้เกิดความเสียหายกว่า 51 ล้านบาท ส่วน น.ส.ทัศย์ดาว เลขานุการและคนรักของซินแสโชกุน จำเลยที่ 5 และนางพารินธรญ์ ผู้ดูแลการเงินและผู้ช่วยการโฆษณาของบริษัท จำเลยที่ 8 ตามทางนำสืบก็รับฟังได้ว่าร่วมกับจำเลยที่ 2 ในการชักชวนให้ผู้เสียหายมาสมัครเป็นสมาชิก ส่วนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบริษัทนิติบุคคลได้ร่วมกระทำผิด โดยเมื่อมีการตรวจสอบเฟซบุ๊กและกลุ่มไลน์ของบริษัท ก็พบว่าได้ลงรูปผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่จำเลยที่ 2 สั่งมาให้กับสมาชิกด้วย โดยจำเลยที่ 1, 2, 5, 8 ไม่มีหลักฐานการจองตั๋วเครื่องบินและที่พักในประเทศญี่ปุ่น และหลักฐานอื่นมานำสืบหักล้างพยานโจทก์ได้ จึงรับฟังได้ปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยร่วมกันกระทำผิดตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน, ประมวลกฎหมายอาญาฐานฉ้อโกงประชาชน มาตรา 343 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

สำหรับนางมณฑญาณ์ จำเลยที่ 3 ฟังได้เพียงว่าเป็นมารดาจำเลยที่ 2 แม้จะปรากฏว่าได้ร่วมถ่ายรูปกับจำเลยที่ 2 นั่งบนเครื่องบินที่นำไปลงโฆษณา แต่ก็ไม่ได้เป็นผู้ชักชวนสมาชิกให้มาร่วมลงทุน, นายก้องศรัณย์ จำเลยที่ 4 จะเคยไปบริษัทจำเลยที่ 1 แต่ก็ฟังได้เพียงว่าเป็นการไปพบหรือช่วยเหลืองานเล็กน้อยแก่จำเลยที่ 2 ที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกันเท่านั้น แต่ไม่มีหลักฐานว่าร่วมกันชักชวนสมาชิก, นางประนอม จำเลยที่ 6 แม้จะมีการระบุว่าเป็นรองประธานบริษัท แต่ทางนำสืบจากพยานซึ่งเป็นพนักงานบริษัท รวมทั้งข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 6 ก็ฟังได้ว่าครั้งแรกจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชักชวนจำเลยที่ 6 ให้มาร่วมงานในบริษัท และมีสัญญาจ้างให้ค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนเริ่มแรก 20,000 – 30,000 บาท ขณะที่อำนาจแท้จริงในการบริหารทั้งหมดเป็นของจำเลยที่ 2 เพียงคนเดียว พยานหลักฐานโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 6 ได้ร่วมชักจูงโฆษณาเชิญชวนผู้เสียหาย แต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 6 ได้กระทำในฐานะพนักงานบริษัทคนหนึ่งไปตามจำเลยที่ 2 มีคำสั่ง

นางณิชมน จำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นป้าของจำเลยที่ 2 แม้จะฟังได้ว่าเคยไปเที่ยวกับจำเลยที่ 2 บ้างเป็นบางครั้ง และเป็นผู้สั่งสินค้าโดยใช้บ้านของตนเป็นที่เก็บสินค้านั้น ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ไหว้วานสั่งการ ไม่ปรากฏว่าได้ชักชวนผู้เสียหาย, น.ส.สุดารัตน์ จำเลยที่ 9 แม้จะเป็นผู้โพสต์ขายสินค้า แต่เมื่อขายได้แล้วเงินก็โอนให้กับจำเลยที่ 2 ทั้งหมด ไม่ปรากฏว่าได้ชักชวนผู้เสียหายเป็นสมาชิก และไม่มีอำนาจในบริษัทจำเลยที่ 1 ส่วนนายโกวิท จำเลยที่ 10 เป็นคนรักของจำเลยที่ 9 ที่คอยรับส่งจำเลยที่ 9 เท่านั้น แม้ปรากฏภาพเคยไปประเทศญี่ปุ่นในช่วงแรกด้วย แต่ไม่ปรากฏว่าได้ชักชวนผู้เสียหายเป็นสมาชิก พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาในส่วนของจำเลยที่ 3, 4, 6, 7, 9, 10 ยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยร่วมกระทำความผิด จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227

ข้อที่ 4 จำเลยที่ 2-10 กระทำความผิดฐานซ่องโจรหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานซ่องโจร มาตรา 210 ต้องสมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เมื่อศาลวินิจฉัยความผิดแล้วว่าการกระทำของจำเลยเป็นการร่วมกันของจำเลยที่ 2, 5, 8 ซึ่งกระทำผิดเพียง 3 คน จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดในฐานนี้ ดังนั้นจำเลยที่ 2-10 จึงไม่มีความผิดฐานซ่องโจร

พิพากษาว่า การกระทำของ บจก.เวลท์เอเวอร์ จำเลยที่ 1, น.ส.พสิษฐ์ จำเลยที่ 2, น.ส.ทัศย์ดาว จำเลยที่ 5 และ นางพารินธรญ์ จำเลยที่ 8 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 5, 12 ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) และ พ.ร.บ.อาหาร มาตรา 6 เฉพาะจำเลยที่ 1-2 ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นความผิดไป ซึ่งการกระทำฐานฉ้อโกงและการนำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์นั้น ให้ลงโทษบทหนักสุดตาม พ.ร.ก.กู้ยืมฯ จำคุกจำเลยที่ 2, 5, 8 คนละ 871 กระทงๆ ละ 5 ปี รวมจำคุก 4,355 ปี ให้ปรับบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 435,500,000 บาท และให้ปรับจำเลยที่ 1-2 รายละ 20,000 ตามความผิด พ.ร.บ.อาหาร จึงรวมโทษปรับบริษัทจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น 435,520,000 บาท ส่วนโทษจำคุกจำเลยที่ 2, 5, 8 เมื่อรวมโทษทุกกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (2) แล้ว ให้จำคุกจำเลยได้สูงสุดคนละ 20 ปี

ทั้งนี้ ศาลยังพิพากษาให้จำเลยที่ 1, 2, 5, 8 ร่วมกันชดใช้เงินแก่ผู้เสียหาย 871 ราย มูลค่ากว่า 51 ล้านบาทเศษ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง 6 ก.ค. 2560 เป็นต้นไป ริบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมของกลางจากรถยนต์ของจำเลยที่ 2 และจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับกุมจำเลยที่ 2, 5, 8 ร้อยละ 25 ของค่าปรับจำเลยที่ 1 เมื่อคดีถึงที่สุด ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3, 4, 6, 7, 9, 10

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้ครั้งแรกอัยการโจทก์อ้างพยานถึง 1,208 ปาก แต่เมื่อศาลได้ตรวจพยานหลักฐานวันที่ 11 ก.ย. 2560 แล้วให้โจทก์จัดกลุ่มพยานที่จะนำเข้าสืบ ซึ่งปรากฏว่าจากพยานโจทก์ที่ศาลอนุญาตให้นำสืบ 80 ปากนั้น ฝ่ายจำเลยสามารถรับข้อเท็จจริงได้ 30 ปาก จึงนำสืบพยานโจทก์เพียง 60 ปาก ขณะที่ฝ่ายจำเลยครั้งแรกศาลอนุญาตให้นำพยานเข้าสืบ 40 ปาก แต่เมื่อสืบพยานฝ่ายจำเลยนำสืบเพียง 10 ปาก โดยระหว่างการพิจารณา คู่ความก็ให้ความร่วมมือต่อศาลดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย กระทั่งสืบพยานเสร็จเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2561 (เกือบครบ 1 ปี) ซึ่งเสร็จสิ้นก่อนกำหนดนัดสืบพยานจำเลยนัดสุดท้ายในเดือน ต.ค.นี้ ก็เป็นการพิจารณาคดีอย่างรวดเร็วตามนโยบายของนายบุญชู ทัศนประพันธ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ที่ว่าความยุติธรรมที่ล่าช้าคือการปฏิเสธความยุติธรรม

สำหรับบรรยากาศภายหลังการพิพากษานั้น ซินแสโชกุน ซึ่งเป็นทอมมีสีหน้าเรียบเฉย โดยหลังจากนี้จำเลยที่ศาลยกฟ้องจะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลางต่อไป เนื่องจากศาลไม่ได้สั่งขังระหว่างอุทธรณ์


กำลังโหลดความคิดเห็น