xs
xsm
sm
md
lg

กทม.เร่งหาสาเหตุน้ำเข้าอุโมงค์ทำรถซีอีโอสาวจมน้ำเสียชีวิต เผยปั๊มสูบน้ำหมู่บ้านไม่เสีย แต่ปิดเครื่องไว้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - สำนักงานเขตประเวศ เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุรถกระบะซีอีโอสาวจมน้ำในอุโมงค์เสียชีวิต เพื่อหาสาเหตุน้ำเข้ามาได้อย่างไร ยันเครื่องสูบน้ำของหมู่บ้านไม่ได้เสีย แต่ขณะเกิดเหตุปิดเครื่องไว้ และท่อสูบน้ำออกไม่แตก

วันนี้ (7 ก.ย.) เมื่อเวลา 11.00 น. นายธนะสิทธิ์ เมธพันธ์เมือง ผอ.เขตประเวศ พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตประเวศ เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุรถกระบะจมน้ำ เป็นเหตุให้ น.ส.ภาณุมาศ แซ่แต้ นักธุรกิจวัย 41 ปี เสียชีวิตภายในรถยนต์ ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นไฮลักซ์ รีโว่ สีดำ ทะเบียน 7 กต 2080 กรุงเทพมหานคร บริเวณอุโมงค์ลอดทางรถไฟ ทางเข้าหมู่บ้านโกลเด้น นครา ซอยอ่อนนุช 65 แยก 14 แขวงและเขตประเวศ กรุงเทพฯ

นายธนะสิทธิ์ กล่าวว่า จากเมื่อวานน้ำเต็มอุโมงค์ ช่วงประมาณ 20.00 น. เราสูบน้ำอยู่ในระดับ 30-40 ซม. เช้าวันนี้จึงเข้ามาตรวจสอบเบื้องต้นก่อนระหว่างรอแบบการก่อสร้างอุโมงค์ของหมู่บ้าน เมื่อสูบน้ำออกหมดแล้วจะต้องวัดปริมาณของทางลอดบริเวณดังกล่าวว่ามีระดับน้ำอยู่กี่ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีน้ำอยู่ 1,971 ลูกบาศก์เมตร โดยอุโมงค์มีความยาว 95.4 เมตร ลึก 3 เมตร กว้าง 10 เมตร ซึ่งจะต้องมาตรวจสอบหาว่าน้ำจำนวนดังกล่าวมาจากไหน บ่อซำที่อยู่ใต้ดินมีความลึก 10 เมตร กว้าง 5.5 เมตร ยาว 6.5 เมตร จะมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 357.5 ลูกบาศก์เมตร

โดยภายในบ่อซำ ได้มีการตรวจลักษณะของน้ำในเบื้องต้น พบว่า มีลักษณะเน่าเหม็น สีดำ กับน้ำเมื่อวันที่ 6 ก.ย. คงจะเป็นคนละส่วนกันแล้ว แต่บ่อในส่วนนี้เชื่อมต่อกัน น้ำในบ่อซำอาจจะปนเข้ามาได้แต่ไม่ใช่น้ำทั้งหมด เพราะในบ่อซำ จุน้ำได้ 300 กว่าลูกบาศก์เมตร ฉะนั้นน้ำจะมีความต่างกัน 1,613.5 ลูกบาศก์เมตร จึงต้องกลับมาตรวจสอบใหม่

นายธนะสิทธิ์ กล่าวต่อว่า เมื่อช่วงประมาณ 21.00 น. วันที่ 5 ก.ย. รถยนต์ ยี่ห้อบีเอ็มดับเบิลยู สีขาว ลงไปเสียในอุโมงค์ก่อน พบว่า น้ำอยู่ในระดับกันชนหน้า มีความสูงประมาณ 60 เซนติเมตร ดังนั้น จะมีระดับน้ำอยู่เกือบ 400 ลูกบาศก์เมตร เมื่อถึงเวลา 00.27 น.ของวันที่ 6 ก.ย. ที่รถยนต์ของผู้เสียชีวิต มาจมช่วงเวลาประมาณ 01.00 น. ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง 30 นาที มีน้ำเพิ่มมาอีก 1,613.5 ลูกบาศก์เมตร น้ำจำนวนดังกล่าวมาได้อย่างไร ซึ่งยังอยู่ระหว่างการหาสาเหตุอยู่

ทั้งนี้ ต้องมีการคำนวณว่า ปริมาณน้ำในแต่ละส่วนมีปริมาณเท่าไหร่ และจะต้องตรวจสอบลึกลงไปอีกว่า พื้นที่นี้มีท่อน้ำอะไรหรือไม่ โดยจะต้องตรวจสอบว่ามีท่อน้ำประปา หรือมีแหล่งน้ำใต้ดินหรือไม่ หรือมีการรั่วจากระบบอะไร ที่สามารถดึงน้ำจากจุดอื่นเข้ามาได้มากขนาดนั้นโดยที่ไม่มีการสูบน้ำ ทั้งนี้ จะต้องขอเวลาในการตรวจสอบว่าน้ำจำนวน 1,613.5 ลูกบาศก์เมตรเข้ามาได้อย่างไร

นายธนะสิทธิ์ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะดูแบบของโครงการว่า มีการก่อสร้างและขออนุญาตเมื่อไหร่ รวมถึงระบบไฟที่แชร์ลงเครื่องปั๊ม ระบบไฟทางที่วันเกิดเหตุมีการดับไฟทางให้มืด ทำให้มองสภาพน้ำไม่เห็น มีระบบไฟเชื่อมต่อกันอย่างไร รวมถึงหามาตรการในการป้องกันเหตุในลักษณะนี้

โดยในเวลา 15.30 น. ที่สำนักงานเขตประเวศ ตนได้ประสานเชิญนิติบุคคล หรือผู้แทนของหมู่บ้านในเขตพื้นที่เข้ามาร่วมประชุมเรื่องการวางแนวทางและหามาตรการป้องกัน เช่น การติดตั้งกล้องซีซีทีวี มีอุปกรณ์ช่วยเหลือในกรณีที่มีการจมน้ำ เช่น ป้อมทางเข้าที่อยู่ใกล้อุโมงค์ทางลอดเพียง 50 เมตร สามารถติดตั้งวินซ์ (รอกสลิงไฟฟ้า) เพื่อลากรถขึ้นมาได้ การติดตั้งปั๊มน้ำสำรอง และการตรวจสอบระบบปั๊มน้ำอยู่ตลอด หากมีระดับน้ำสูงจะต้องมีสัญญาณหรือป้ายเตือน รวมถึงมีแผงกั้นเพื่อไม่ให้รถวิ่งเข้ามา ทั้งนี้ในพื้นที่ประเวศ มีอุโมงค์ลอดลักษณะดังกล่าวอีก 1 หมู่บ้าน

นายธนะสิทธิ์ กล่าวอีกว่า จากการสันนิษฐานเบื้องต้นอาจเกิดจากมีรอยร้าวหรือรอยซึม เพราะฝนไม่มาแต่น้ำมา จึงได้สั่งการไปแล้วว่าเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่อาจลงไปไม่ถึง จึงเตรียมไดโว่ (ปั๊มน้ำแบบจุ่ม) และเครื่องหางอ่อน มาสูบน้ำและส่งน้ำออกไปข้างนอกให้แห้งสนิท เพื่อตรวจสอบดูว่ามีรอยร้าว หรือรอยซึมในจุดใด

อย่างไรก็ตาม ไม่น่าจะเกิดจากการสูบน้ำเข้ามาในพื้นที่ เพราะในระยะเวลา 2-3 ชั่วโมง ไม่น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากเมื่อวานนี้เราได้ตั้งเครื่องสูบน้ำ 7 ชั่วโมง และมีเครื่องของหมู่บ้าน ที่ข่าวออกไปตอนแรกอาจจะสับสนหรืออาจไปเจอคนที่ไม่รู้เข้า ซึ่งเครื่องของหมู่บ้านไม่ได้เสีย และท่อสูบน้ำออกไม่ได้แตก เจ้าหน้าที่เขตฯ ได้มาเปิดเครื่องของหมู่บ้านที่ปิดไว้ ก็สามารถใช้ได้ตามปกติ เครื่องสูบน้ำของเขตฯ และหมู่บ้านมีปริมาณการสูบน้ำที่มหาศาล ใช้เวลาในการสูบน้ำออกถึง 7 ชั่วโมง แต่ปริมาณน้ำที่เข้ามาในพื้นที่ใช้เวลาเพียงแค่ 3 ชั่วโมง ในส่วนนี้จึงยังเป็นข้อสงสัยซึ่งจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง

นายธนะสิทธิ์ กล่าวว่า ทางเขตได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ดำเนินการในเรื่องการสูบน้ำ เอาเครื่องสูบน้ำของทางราชการมาช่วยให้เรียบร้อย รวมถึงวางมาตรการป้องกัน อะไรที่ช่วยเหลือหมู่บ้านได้ก็ให้ช่วย

ส่วนประเด็นเรื่องการก่อสร้างอุโมงค์ถูกต้องหรือไม่ จะต้องขอตรวจสอบก่อน ว่าขณะนั้นที่มีการขออนุญาตสร้างเป็นอำนาจของสำนักงานเขตหรือสำนักการโยธา ซึ่งจะต้องย้อนกลับไปตรวจสอบว่ามีการขออนุญาตเมื่อไหร่ ได้ขออนุญาตถูกต้องหรือไม่

แต่จากการสอบถามบ้านที่อยู่ข้างๆ บอกว่า อุโมงค์ดังกล่าว สร้างมากว่า 20 ปี แล้ว ถ้ามีการขออนุญาตสร้างถูกต้อง ในส่วนนี้อาจเกิดจากอุบัติเหตุหรือความเสื่อมสภาพ ก็จะต้องมาตรวจสอบต่อ แต่ตนเชื่อจากดุลยพินิจในการก่อสร้างของโครงการดังกล่าว มีเปอร์เซ็นต์ที่จะขออนุญาตก่อสร้างถูกต้องค่อนข้างสูง

อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ของเอกชน ฉะนั้นการบำรุงรักษาจะเป็นหน้าที่ของเอกชนในการดูแลเช่นกัน



กำลังโหลดความคิดเห็น