MGR Online - “กลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดิน” ร้อง ปปป.แจ้งความเอาผิด ผบก.ป. กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมพระสงฆ์ในข้อหาคดีเงินทอนวัด ตาม ม.157 อ้างพระสงฆ์ถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ การตั้งข้อกล่าวหาต้องเป็นหน้าที่ของผู้ตรวจเงินแผ่นดิน
วันนี้ (21 ส.ค.) เวลา 10.30 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) นายจรูญ วรรณกสิณานนท์ ตัวแทนกลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดิน เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน บก.ปปป.เพื่อแจ้งความเอาผิดต่อ พล.ต.ต.ไมตรี ฉิมเฉิด ผบก.ป. ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีนำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมพระสงฆ์ในข้อหาคดีเงินทอนวัด
นายจรูญกล่าวว่า สืบเนื่องจากกรณี พล.ต.ต.ไมตรี ฉิมเฉิด ผบก.ป. นำกำลังเข้าจับกุมพระสงฆ์หลายรูปในความผิดคดีเงินทอนวัดและการฟอกเงิน พร้อมนำตัวพระสงฆ์ไปฝากขังอยู่ในเรือนจำ กระทั่งมีการส่งสำนวนคดีสู่ชั้นอัยการ และพนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต 1 ได้นำสำนวนคดียื่นฟ้อง อดีตพระพรหมดิลก (เอื้อ หาสธมฺโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) (นายเอื้อน กลิ่นสาลี) และอดีตเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร และอดีตอรรถกิจโสภณ อดีตเลขาฯ เจ้าคณะกรุงเทพ วัดสามพระยา (หรือนายสมทรง อรรถกฤษณ์) เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่พนักงาน, ร่วมกันฟอกเงินอันเป็นความความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 กรณีร่วมกันฟอกเงินจากการทุจริตเงินทอนวัดในส่วนอุดหนุนการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม
“การเข้าจับกุมพระสงฆ์ดังกล่าวมีความไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิอาญามาตรา 90 และการตั้งข้อหากล่าวหาพระสงฆ์ในข้อหาฟอกเงิน ตามพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2542 มีความไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะว่า พ.ร.บ.การฟอกเงินปี พ.ศ. 2542 ได้มีการยกเลิกไปแล้ว ขณะนี้ประกาศใช้ใน พ.ศ. 2558 ซึ่งใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ระบุว่า ความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ฟอกเงิน คือ มาตรา 3 (2) ความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ความผิดเกี่ยวกับเพศ ธุระจัดหา ล่อไป พาไป เพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่นเพื่อหากำไร การค้าประเวณี เป็นต้น”
นายจรูญกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ การตั้งข้อกล่าวหาในฐานความผิดมาตรา 157 นั้นไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากพระสงฆ์ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้น การตั้งข้อกล่าวหาเป็นหน้าที่ของผู้ตรวจเงินแผ่นดิน และการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจถือเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ว่ารัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด ซึ่งการกระทำของ พล.ต.ต.ไมตรี เข้าข่ายการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาในรูปแบบของการทำลายบุคคลากร หรือศาสนบุคคลของพระพุทธศาสนา และยังเป็นการทำลายศรัทธาของประชาชนชาวไทยอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ทำให้นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพุทธะอิสระ ผู้ต้องหาในคดีปลอมพระปรมาภิไธย ซึ่งเป็นความผิดอาญาร้ายแรงไม่ถูกฟ้องและทำให้ได้รับการปล่อยตัวไป นับเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จึงตัดสินใจเข้าแจ้งความร้องทุกข์ดังกล่าว