MGR Online - อุทธรณ์ยืนยกฟ้องตามศาลชั้นต้น “ศักดิ์ชัย กาย” อดีตบรรณาธิการนิตยสารชื่อดัง “ลิปส์” ชั้นไต่สวน คดีทายาทตระกูล ณ ป้อมเพชร ฟ้องเบิกความเท็จ ใช้พินัยกรรมปลอมรับมรดก 300 ล้าน
วันนี้ (15 ส.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ชั้นไต่สวนมูลฟ้องคดีหมายเลขดำที่ อ.3830/2559 ที่นายธีรวัต ณ ป้อมเพชร ทายาทของนายวิวรรธน์ ณ ป้อมเพชร อดีตเอกอัครราชทูตไทยที่เคยประจำการในหลายประเทศ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายศักดิ์ชัย กาย อดีตบรรณาธิการนิตยสารชื่อดัง “ลิปส์” และนักจัดดอกไม้ กับพวกรวม 4 คน ในความผิดฐานเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล และนำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี ปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177, 180, 264 และ 268
คำฟ้องโจทก์ระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อระหว่างต้นเดือน ม.ค. 2548 - มี.ค. 2549 ต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เครื่องคอมพิวเตอร์พิมพ์พินัยกรรมว่านายวิวรรธน์ ณ ป้อมเพชร มีคำสั่งให้ยกเลิกพินัยกรรมที่เคยทำไว้ และนายวิวรรธน์ยกที่ดินเนื้อที่ 3 ไร่ ต.ทุ่งวัดดอน อ.ยานนาวา กทม. พร้อมสิ่งปลูกสร้างห้องชุดคอนโดมิเนียมที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ปลอมลายมือชื่อของนายวิวรรธน์ในช่องผู้ทำพินัยกรรม ทั้งที่ความจริงนายวิวรรธน์ไม่ได้ทำพินัยกรรม ไม่มีเจตนาที่จะยกที่ดินให้ดังกล่าว
ต่อมาวันที่ 27 เม.ย. 2554 จำเลยที่ 2 นำสืบและแสดงพยานหลักฐานในการพิจารณาคดี โดยใช้และอ้างพินัยกรรมดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานประกอบคำเบิกความว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดทำพินัยกรรมให้กับนายวิวรรธน์ โดยข้อความส่วนใหญ่มาจากข้อความที่นายวิวรรธน์เขียนมาในร่างพินัยกรรม มีการจัดพิมพ์และให้นายวิวรรธน์ลงลายมือชื่อในช่องผู้ทำพินัยกรรม จำเลยที่ 3 และ 4 ลงลายมือชื่อในช่องพยาน จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นพยานและผู้พิมพ์ในพินัยกรรม ซึ่งการอ้างพินัยกรรมดังกล่าวมีเจตนาให้ศาลหลงเชื่อว่าเป็นพินัยกรรมที่แท้จริง ทำให้โจทก์และทายาทของนายวิวรรธน์ได้รับความเสียหาย เหตุเกิดที่แขวงจอมพล เขตจตุจักร และที่แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กทม.เกี่ยวพันกัน คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อคดีความผิดที่โจทก์ฟ้องมีอัตราโทษไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าขาดอายุความ จึงไม่มีมูล ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์โต้แย้งว่าคดีมีมูลนั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ศาลอุทธรณ์จึงไม่รับวินิจฉัย สำหรับประเด็นว่าเป็นการเบิกความเท็จหรือไม่นั้น เห็นว่าแม้ศาลแพ่งจะพิพากษาว่ายังฟังไม่ได้ว่าลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมเป็นลายมือชื่อของนายวิวรรธน์ ผู้ตาย ก็เป็นดุลพินิจของศาลแพ่ง ไม่มีผลผูกพันคำพิพากษาในคดีอาญา ทั้งนี้ จากการไต่สวนทราบว่าจำเลยที่ 1 สนิทสนมกับนายวิวรรธน์ซึ่งมีความสัมพันธ์กันเป็นพิเศษ การที่นายวิวรรธน์ ผู้ตาย ยกมรดกให้จำเลยที่ 1 มากกว่าใครจึงไม่ถือเป็นข้อพิรุธ นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 ก็เบิกความไปตามข้อเท็จจริง พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กับพวกทำการปลอมเอกสารและเบิกความเท็จ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืน