xs
xsm
sm
md
lg

คุกต้นแบบสร้างอาชีพตามแนวทางพระราชดำริ ร.9 ก่อนสู่อิสรภาพ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


 
"โอกาส" สำหรับผู้กระทำความผิดแล้วน่าจะเป็นคำพูดที่อยากได้ยินมากที่สุดเพราะเชื่อว่าบนโลกๆใบนี้ คงไม่เคยมีใครเคยผิดพลาดในชีวิตมาสักครั้ง ผู้ต้องขังในเรือนจำก็คงคิดไม่ต่างกันหลังถูกส่งตัวเข้ามาใช้ชีวิตอยู่หลังกำแพงคอนกรีต รั้วลวดหนามกั้น เห็นเพียงแผ่นฟ้า แสงอาทิตย์แสดส่อง ดาวเดือน ความหวังสุดท้าย คือ อยากกลับใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวหรือคนที่เรารัก แต่การหยิบยื่นโอกาสให้คนผิดกลับตัวกลับใจต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพราะหากมอบให้ผิดคนจะกลายเป็นดาบสองคม สร้างความเสียหายต่อส่วนร่วมในภายภาคหน้าได้

กรมราชทัณฑ์ หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลบุคคลกระทำผิดเข้ามาอยู่ในเรือนจำต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งมีหน้าที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนิสัยผู้ต้องขัง โดยมีนโยบายสำคัญในการเสริมสร้างอาชีพให้ผู้ต้องขังนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อให้คนกระทำผิดที่อยากมีโอกาสพัฒนาตัวเองระหว่างการถูกจองจำ ไม่ทำให้เกิดความคิดฟุ้งซ่าน สามารถต่อยอดเป็นอาชีพหลัก มีความหวัง ไม่หวนกลับไปจุดเดิม มีที่ยืนในสังคมอีกครั้ง และคำว่า "โอกาส" ก็พร้อมให้ทุกคนที่ต้องการมันจริงๆ

"เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ" ในสังกัดเรือนจำ จ.ตราด เป็นเรือนจำอีกแห่งที่น่าสนใจ มีการดำเนินโครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเรือนจำนำร่องเพื่อเป็นศูนย์สาธิตแก่ผู้ต้องขัง โดยนำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการประกอบอาชีพดำรงชีวิตแบบพอเพียงตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงมีพระดำริให้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ในเรือนจำ มุ่งหวังให้ผู้ต้องขังได้รับกำลังใจ ได้เรียนรู้และเข้าใจหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามารถนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตภายหลังพ้นโทษ ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และไม่หวนกลับมากระทำผิดซ้ำอีก

เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ เริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ 10 ก.ย.2524 และต่อมา กรมราชทัณฑ์ ได้มีหนังสือสั่งการที่ มท 0904 /177 ลงวันที่ 16 ก.พ.2541 เรื่องการฝึกวิชาชีพผู้ต้องขังด้านเกษตรกรรมตามแนวพระราชดำริ โดยให้เรือนจำทุกแห่งดำเนินการฝึกวิชาชีพด้านเกษตรกรรมให้แก่ผู้ต้องขังเพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารสำหรับผู้ต้องขัง ด้วยปี พ.ศ.2540 ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจำนวนมาก ซึ่งการจำแนกผู้ต้องขังมาอยู่ในเรือนจำชั่วคราวมีน้อยเนื่องจากคดียาเสพติด ขัดต่อระเบียบการนำผู้ต้องขังออกทำงานภายนอกและเรือนจำชั่วคราว

ต่อมา ปี พ.ศ. 2542 กรมราชทัณฑ์ จึงได้มีนโยบายให้เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ จำแนกลักษณะผู้ต้องขังคดียาเสพติด มาดำเนินการฝึกวิชาชีพด้านเกษตรกรรม ตามโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเรือนจำนำร่องแห่งแรก และได้ดำเนินการจนประสบผลสำเร็จในด้านการบริหาร การจัดการ จนเป็นที่ยอมรับ จากนั้น เดือน มี.ค.2552 กรมราชทัณฑ์ ได้มีนโยบายและกำหนดให้เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ ดำเนินการโครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเรือนจำนำร่อง เพื่อเป็นศูนย์สาธิตหรือเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงแก่ผู้ต้องขัง โดยศึกษานำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการประกอบอาชีพดำรงชีวิตแบบพอเพียงตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

นายเอนก ทองลอย ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดตราด เปิดเผยว่า คุณสมบัติของผู้ต้องขังประจำเรือนจำชั่วคราวเขาระกำ ประกอบด้วย 1.เป็นนักโทษเด็ดขาด ชั้นดีขึ้นไป 2.กระทำความผิดครั้งแรก 3.ต้องจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของกำหนดโทษครั้งสุดท้าย 4.กำหนดโทษเหลือจำคุก ไม่เกิน 5 ปี 5.สำหรับ คดี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ จะต้องอยู่ในหลักเกณฑ์พักการลงโทษ ในเรื่องของปริมาณสารเสพติด และไม่เป็นผู้กระทำผิดรายสำคัญ 6.ไม่เป็นผู้ต้องขังที่ป่วยด้วยโรคประจำตัว โรคติดต่อเรื้อรัง โรคเอดส์ โรคจิต โรคประสาท หรือพิการ และ 7.ผ่านการจำแนกลักษณะผู้ต้องขัง และการติดตามผลแล้วว่า มีความประพฤติดีมีอุตสาหะ ไม่เคยกระทำผิดวินัยในเรือนจำ ปัจจุบันมีผู้ต้องขังทั้งสิ้น 159 คนจากทั่วประเทศ

นายเอนก เผยอีกว่า ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ ในสังกัดเรือนจำจังหวัดตราด ได้ดำเนินการเพื่อพัฒนาพฤตินิสัย พร้อมทั้ง ฝึกวิชาชีพด้านต่างๆ คือ 1.ด้านการพัฒนาผู้ต้องขัง ตามโครงการกำลังใจในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ปัจจุบัน ผู้ต้องขังโครงการกำลังใจ รุ่นที่ 8 มีการเรียนรู้หลักการทรงงาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้ง จัดสรรแบ่งแปลงโดยการจับฉลาก ตามมติที่ประชุมกำหนดให้สมาชิก 3-5 คน ต่อ 1 ไร่ มีทั้งหมด 10 แปลง ซึ่งการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังแต่ละวันเน้นให้มีวินัยและมีความรับผิดชอบต่อตนเองและการฝึกอาชีพโดยให้ลงมือปฏิบัติจริง

"2.ด้านการฝึกวิชาชีพอิสระ เช่น งานด้านเกษตรกรรม มีโรงเรือนมุ้ง ปลูกพริก มะนาว กล้วย มะกรูด ชะอม ตะไคร้ กะเพรา ส่งจำหน่ายตามห้างร้านภายในจังหวัด วันต่อวัน , ปลูกพืชสวน ไม้ผล มังคุด ลองกอง สวนยางพารา , การเพาะถั่วงอกปลอดสารพิษ , งานด้านปศุสัตว์ มี แพะ สุกร โค กระบือ เป็ดเนื้อ ห่าน เป็ดไข่ ไก่ไข่ ไก่พื้นบ้าน , งานด้านประมง สถานีเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด ปลาดุก , งานฝึกวิชาชีพด้านช่างฝีมือ , งานฝึกวิชาชีพด้านก่อสร้างบ้านดิน , งานฝึกวิชาชีพช่างปูนปั้น , งานฝึกวิชาชีพช่างทาสีประยุกต์ , งานฝึกวิชาชีพการเพาะเห็ดนางฟ้า , งานฝึกวิชาชีพการจีบผ้าและผูกผ้าประดับ 3.ด้านการพัฒนาด้านนวัตกรรม อาทิ ต่อยอดหัวเชื้อจุลินทร์ทรีย์กับพลังงานแสงอาทิตย์ และ 4.ด้านการเปิดให้สังคมเข้ามาศึกษาดูงานการดำเนินการโครงการกำลังใจ สร้างจุดสนใจด้านการท่องเที่ยว พัฒนาเอกลักษณ์หรือจุดสนใจด้านการท่องเที่ยว เปิดให้มีการศึกษาดูงานของนักท่องเที่ยว นิสิตนักศึกษา ภาครัฐ เอกชน และส่วนท้องถิ่น" นายเอนก เผย

ปัจจุบัน ทาง เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ ได้เปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนเข้ามาเยี่ยมชมติดตามดูผลงานฝีมือจากผู้ต้องขังในหลายๆด้าน ซึ่งหากผลงานเข้าตาหรือถูกใจก็เตรียมดึงไปร่วมงานหลังจากออกจากเรือนจำเรียบร้อยแล้ว เชื่อว่าบุคคลกลุ่มนี้จะได้มีโอกาสแสดงความสามารถอย่างเต็มที่และไปใช้ชีวิตอยู่พร้อมหน้ากับครอบครัวอย่างมีความสุขอีกครั้งตามความตั้งใจของ "กรมราชทัณฑ์" ที่ต้องการคืนคนดีกลับสู่สังคม






กำลังโหลดความคิดเห็น