รายการ “ข่าวลึก ปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม ผู้จัดการ 360 วันพุธที่ 18 กรกฎาคม 2561 ตอน เปิดบัญชีแต่งตั้ง “บิ๊กตุลาการ” “อุบลรัตน์”ยึด ปธ.ศาลอุทธรณ์
การแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารศาลยุติธรรม ปีนี้จะเริ่มเปิดฉากในวันศุกร์ที่20กรกฎาคมนี้ คณะกรรมการตุลาการหรือกต. จะประชุมพิจารณาแต่งตั้งผู้บริหารศาลยุติธรรม และตำแหน่งประธานแผนกคดีในศาลฎีกาซึ่งมีศักดิ์ศรีและฐานะเทียบเท่ากับรองประธานศาลฎีกา โดยคาดว่ามีการแต่งตั้งโยกย้ายบิ๊กๆตุลาการ 15ตำแหน่ง
ปีนี้แม้ว่าประธานศาลฎีกายังอยู่ในตำแหน่งต่ออีกหนึ่งปี แต่เก้าอี้ผู้บริหารในระดับ รองประธานศาลฎีกาหลายคนต้องลงจากตำแหน่ง ประธานศาลอุทธรณ์ก็ต้องลงไปเช่นกัน อาจจะนับว่าเก้าอี้ว่างมากกว่าทุกปี ทำให้การแต่งตั้งผู้บริหารศาลยุติธรรมน่าติดตามอย่างมาก
มาตรฐานของศาลยุติธรรม บุคคลที่จะขึ้นมาเป็นบิ๊กตุลาการต้องครบเครื่องทุกด้าน ทั้งคุณธรรมและความสามารถ รวมทั้งไม่มีกลิ่นไม่ดี ไม่มีข้อผิดพลาดประการใดๆให้เคลือบแคลงสงสัย
ดูตัวอย่างจากการแต่งตั้งประธานศาลฎีกาปีที่แล้ว ที่เกิดการพลิกล็อคครั้งใหญ่ โดยตามนิติประเพณีของศาลยุติธรรม คนที่มีอาวุโสอันดับหนึ่งที่จะขึ้นเป็นประมุขศาลก็คือ “ประธานศาลอุทธรณ์”
แต่ปีที่แล้ว อนุกรรมการตุลาการหรือ อนุกต. ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติเห็นว่านายศิริชัย วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์ไม่เหมาะสม ด้วยเสียงท่วมท้น ด้วยที่มีข้อสงสัยในเรื่องการทำงานคดีระหว่างดำรงตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์
ทำให้นายชีพ จุลมนต์ ที่มีตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา ลำดับที่1 แต่มีอาวุโสนับเป็นลำดับ2 ถัดจากนายศิริชัย ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานศาลฎีกา ซึ่งเป็นประธานศาลฎีกาคนที่44 ต่อจากนายวีระพล ตั้งสุวรรณ ส่วนนายศิริชัยพลาดตำแหน่งไป เหมือนมีบุญแต่กรรมมาบัง.
มาจับตาลุ้นในปีนี้ ซึ่งผู้บริหารศาลมีตำแหน่งว่างหลายตำแหน่ง เพราะอายุครบ65ปีที่จะต้องลงจากตำแหน่งบริหารไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโส ตำแหน่งใหญ่และสูงสุดที่ว่างปีนี้คือ “ประธานศาลอุทธรณ์” ที่นายธนฤกษ์ นิติเศรณี เป็นประมุขศาลอุทธรณ์ได้ปีเดียวก็ต้องลงไป
ผู้บริหารที่มีอาวุโสรองลงมาที่ต้องพ้นจากตำแหน่งบริหารมีอีก3คนจากจำนวน6คน คือ นายธนสิทธิ์ นิลกำแหง รองประธานศาลฎีกา คนที่2, นายโสภณ
โรจน์อนนท์ รองประธานศาลฎีกา คนที่4 ,นายพรเทพ อัมพรกลิ่นแก้ว รองประธานศาลฎีกาคนที่6,เท่ากับเก้าอี้รองประธานศาลฎีกาว่างแน่ๆ 3 ตำแหน่ง
มาถึงตำแหน่งประธานแผนกคดีในศาลฎีกาว่างอีก 6 แผนก คือ นายพิศล พิรุณ ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ,นายนิพนธ์ ใจสำราญ ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อม, นายสุนทร ทรงฤกษ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากร,
นาย สู่บุญ วุฒิวงศ์ เสียชีวิตเมื่อสองเดือนก่อนทำให้แผนกคดีเลือกตั้งว่าง , นายทวี ประจวบลาภ ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจ และ นายประยูร ณ ระนอง ประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกา
รวมตำแหน่งว่าง ไล่ลงมาตั้งแต่ประธานศาลอุทธรณ์ ,รองประธานศาลฎีกา และประธานแผนกคดีต่างๆในศาลฎีกา มีเก้าอี้ใหญ่ว่างทั้งหมด 10 ตำแหน่ง ถือว่าการแต่งตั้งครั้งนี้จะพลิกโฉมหน้าผู้บริหาร บิ๊กศาลยุติธรรมไปมาก
สำหรับบุคคลที่คาดว่าจะได้รับการแต่งตั้งมาเป็นเบอร์2 ของศาลยุติธรรมในตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ แทนนายธนฤกษ์ ก็คือรองประธานศาลฎีกาคนที่1 นางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย
ซึ่งเป็นที่คาดว่าจะไม่มีรายการพลิกล็อคอย่างปีที่แล้ว ถ้าเป็นไปตามล็อตนางอุบลรัตน์จะเป็นประธานศาลอุทธรณ์หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ศาลยุติธรรมด้วย
ส่วนในตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา ก็คาดว่าจะเป็นนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ เลื่อนขึ้นมาเป็นรองประธานศาลฎีกาคนที่1 นาย วิชัย เอื้ออังคณากุล มาเป็นรองประธานศาลฎีกาคนที่2 ส่วนรองประธานคนที่3ถึง6 จะมาตามลำดับ คือ
นายชำนาญ ระวิรรณพงษ์ ขึ้นมาจาก ประธานแผนกคดีล้มละลาย, นายสุรพันธุ์ ละอองมณี จากประธานแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญา นายชัยยุทธ ศรีจำนงค์จากประธานแผนกคดีผู้บริโภค และนายธีระพงศ์ จิระภาค จากประธานแผนกคดีแรงงาน
ส่วนตำแหน่งประธานแผนกคดีในศาลฎีกาซึ่งมี11แผนก มีที่น่าจับตาก็เช่น นายประทีป ดุลพินิจธรรมา เป็นประธานแผนกคดีภาษีอากร นายอดิศักดิ์ ปัตรวลี เป็นประธานแผนกคดีล้มละลาย นายโสฬส สุวรรณเนตร์ เป็นประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
นายจินดา ปัณฑะโชติ มาจากประธานศาลอุทธรณ์ ภาค9 เป็นประธานแผนกคดีเลือกตั้ง และนายอุดม
สิทธิวิรัชธรรม เป็นประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกา
คาดว่าปีนี้การแต่งตั้งผู้บริหารศาลยุติธรรม คงเป็นไปตามระบบตามอาวุโส แต่ถ้าจะมีรายการที่ทำให้ตื่นเต้นต้องลุ้นเหมือนกรณีเช่นปีที่แล้ว ก็อาจจะเป็นปีหน้า
เพราะว่าทั้ง ประธานศาลฎีกา และประธานศาลอุทธรณ์ จะลงจากตำแหน่งพร้อมกัน เมื่อถึงเวลานั้นไม่มีใครกล้ารับประกันว่า การแต่งตั้งจะราบรื่นโดยไม่มีการช่วงชิง