MGR Online - ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรกว่า 25 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน ร้องทุกข์ ดีเอสไอ หลังบริษัทเอกชนชักชวนเข้าร่วมโครงการ แต่ไม่รับซื้อคืน ขอให้รับเป็นคดีพิเศษ
วันนี้ (3 พ.ค.) เวลา 10.30 น. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายศรีสุวรรณ จรรยา พร้อมด้วย ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรกว่า 25 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ประมาณ 50 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ กรณีถูกบริษัท พีพี. เท็นกรุ๊ป จำกัด โฆษณาชักชวนเกษตรกรให้เข้าร่วมโครงการเพาะปลูกมันเทศญี่ปุ่น เพื่อผลิตยอดพันธุ์ขายคืนให้กับทางบริษัท ความเสียหายไม่ต่ำกว่ารายละ 1 แสนบาท โดยมี พ.ต.จรัล แสงหิรัญ รอง ผอ.กองบริหารคดีพิเศษ ดีเอสไอ
นางธัญชนก ฤทธิ์บำรุง แกนนำกลุ่มเกษตรกร จ.ลพบุรี หนึ่งในตัวแทนผู้เสียหาย เปิดเผยว่า บริษัทได้กำหนดให้มีตัวแทนเกษตรกรหรือผู้นำกลุ่ม ขึ้นมาเพื่อชักชวนสมาชิกเกษตรกรให้เข้าร่วมโครงการ โดยมีค่าตอบแทนให้ผู้นำและลูกทีม อ้างว่า เป็นการช่วยปลดหนี้ให้เกษตรกรเพื่อเป็นสิ่งล่อใจ ทำให้เกษตรกรเชื่อถือและทยอยเข้าร่วมโครงการหลายร้อยคน โดยเป็นเกษตรกรในพื้นที่มากกว่า 25 จังหวัด อาทิ นครราชสีมา พิษณุโลก ชัยภูมิ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ มหาสารคาม เลย อุดรธานี หนองคาย สกลนคร เชียงใหม่ ลพบุรี ขอนแก่น อุทัยธานี สุพรรณบุรี สุโขทัย สระบุรี กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ สระแก้ว นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ ปราจีนบุรี พิจิตร และ ร้อยเอ็ด
นอกจากนี้ น.ส.พบพร พิภพโยพิณกุล ผู้จัดการของบริษัท และ นายธนกฤต ผันสำโรง ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมการตลาด ได้ลงพื้นที่เพื่อชักชวน และทำการจัดอบรมให้ความรู้การปลูกมันเทศญี่ปุ่น เพื่อเอายอดพันธุ์ส่งขายให้กับบริษัท แต่จะต้องทำหนังสือข้อตกลงซื้อยอดพันธุ์กับทางบริษัทเท่านั้นในราคายอดละ 10 บาท อย่างไรก็ตาม เมื่อแตกยอดเก็บเกี่ยวก็สามารถตัดยอดส่งบริษัทได้ โดยบริษัทอ้างว่าจะรับซื้อคืนทุกยอดหากมีความสมบูรณ์และมีความยาว 30 เซนติเมตร และจะรับซื้อตามที่ตกลงราคากันไว้ ยอดละ 4.50 บาท และจะนำรถไปรับผลผลิตของเกษตรกรถึงแปลง
นางธัญชนก เผยอีกว่า เมื่อเกษตรกรเพาะปลูกตามที่บริษัทต้องการ ทางบริษัทกลับแจ้งว่าให้เกษตรกรนำผลผลิตมาส่งเองยังบริษัท โดยจะจ่ายค่าเดินทางให้ ซึ่งเมื่อเกษตรกรนำผลผลิตมาส่งบริษัท แต่กลับไม่ได้ค่าเดินทางตามที่อ้างไว้ตั้งแต่แรก อีกทั้งเมื่อไปสอบถามบริษัทก็กลับแจ้งว่าผลผลิตเกษตรกรเน่าเสียและความยาวยอดไม่ถึงเกณฑ์กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ จึงไม่สามารถจ่ายค่ายอดให้เกษตรกรได้ ทำให้ต้องตัดจำนวนยอดออก และ ค่าน้ำมันจะให้เพียงกิโลเมตรละ 1 บาท จึงทำให้เกษตรกรได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก เมื่อเกษตรกรรวมตัวเรียกร้องให้บริษัทชี้แจงถึงกรณีดังกล่าว แต่บริษัทชี้แจงว่าจะโอนให้ภายหลัง โดยกำหนดนัดวันให้ แต่เมื่อถึงเวลากลับไม่โอนเงินให้ และมีการไม่รับสายโทรศัพท์เมื่อเกษตรกรโทร.ถาม
ด้าน นายสมบัติ สมแสง ตัวแทนเกษตรกร จ.พิษณุโลก กล่าวว่า บริษัทดังกล่าวได้มีการชักชวนเกษตรกรในพื้นที่ซึ่งต้องการปลูกมันเทศญี่ปุ่นด้วยการสร้างแรงจูงใจว่าหากปลูกประมาณ 40 - 50 ไร่ ก็จะมีการดาวน์รถยนต์ให้ พร้อมส่งค่างวดรถยนต์ให้ด้วยเช่น ตนจึงเป็นคนช่วยประสานเกษตรกรในจังหวัดกับบริษัทดังกล่าว และช่วยหายอดปลูกเพิ่มให้กับบริษัทด้วย โดยตนและกลุ่มเกษตรกร มีการปลูกรวมกัน 30 กว่าไร่ ทำให้บริษัทพาตนไปดาวน์รถยนต์และใช้ชื่อตนเป็นคนซื้อ จากนั้นมีการส่งยอดปลูกได้ประมาณ 2 รอบ พบว่า การเงินเริ่มไม่มั่นคง เพราะส่งยอดปลูกให้กับบริษัทแล้ว แต่ได้รับเงินช้า กระทั่งไม่มีเงินส่งค่างวดรถยนต์เลย ต้องไปกู้เงินจากคนรู้จักมาส่งก่อนเบื้องต้น ล่าสุด จ่ายค่างวดรถยนต์มาเป็นเวลา 6 เดือนแล้ว
“ต่อมาบริษัทดังกล่าวบอกว่าจะนำรถยนต์ไปมอบให้กับตัวแทนคนอื่นต่อ ซึ่งผมก็ยอมรับได้แต่ขอเงินที่ส่งค่ารถยนต์ทั้งหมดที่ผ่านมาคืน ทั้งหมดประมาณ 150,000 บาท โดยตอนแรกบริษัทก็รับปากจะคืนให้ จนมาช่วงกลางเดือน เม.ย. 61 บริษัทนัดขอรถยนต์คืนเพื่อนำไปให้ตัวแทนท่านอื่นและจะเอากลับคืนไปฟรีๆ เพราะอ้างว่าผมไม่ส่งต่อเอง จนกระทั่งขณะนี้ไม่มีการติดต่อกลับมาแต่อย่างใด ทั้งนี้ ผมเห็นความไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง เช่น เกษตรกรบางคนได้เงินช้าบ้าง ขาดทุนบ้าง หรือ ได้เพียงแค่เงินต้นทุนคืนเท่านั้น” นายสมบัติ กล่าว
ส่วนทาง พ.ต.จรัล กล่าวว่า เบื้องต้นรับเรื่องไว้พิจารณาว่าเข้าข่ายคดีพิเศษหรือไม่ พร้อมส่งเรื่องให้อธิบดีดีเอสไอพิจารณาต่อไป