xs
xsm
sm
md
lg

แจงกรณีญาติเหยื่อคดีอุ้มหายร้อง อสส.คดีไม่คืบหน้า สรุปงดส่งอัยการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - “ดีเอสไอ” แจงกรณีญาติเหยื่อคดีอุ้มหายร้องอัยการสูงสุด หลังรวบรวมข้อเท็จจริง และ พยานหลักฐานทั้งจากผู้ร้องและพยานหลักฐานไม่พบตัวผู้กระทำความผิด จึงสรุปเห็นควรงดการสอบสวนส่งพนักงานอัยการ

วันนี้ (8 ก.พ.) คณะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เผยแพร่เอกสาร โดยระบุว่า “ตามที่ปรากฏข่าวในสื่อสาธารณะ กรณี นายประเสริฐ เหล่าโสภาพันธ์ ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด ให้เร่งรัดการสอบสวนคดีพิเศษ ในเรื่องที่ นายกมล เหล่าโสภาพันธ์ พี่ชาย ได้หายไปจากพื้นที่สถานีตำรวจภูธรบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 51 หลังพบเห็นการทุจริตการเช่าที่ดินของหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งในพื้นที่ พร้อมแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง แต่มีนายตำรวจในพื้นที่ในขณะนั้นเกลี้ยกล่อมไม่ให้แจ้งความ และให้หยุดการตรวจสอบ ทำให้ นายกมล แจ้งความดำเนินคดีกับนายตำรวจคนดังกล่าวในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ก่อนหายตัวไป โดยกรณีดังกล่าวมีการโอนคดีจากพื้นที่มาเป็นคดีพิเศษในความรับผิดชอบของดีเอสไอ แล้ว แต่คดีไม่มีความคืบหน้า ซึ่งผู้ร้องเคยยื่นเรื่องขอความเป็นธรรมต่อสำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อเดือน ต.ค. 59 แล้วครั้งหนึ่ง และอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วพบว่า อาจมีเหตุจูงใจให้มีผู้กระทำความผิดจึงให้ส่งข้อมูลไปยังอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ และส่งไปให้ ดีเอสไอ ดำเนินการ แต่ ดีเอสไอ ไม่มีการดำเนินการตามคำสั่งของพนักงานอัยการ และผู้ร้องประสงค์จะขอรับความคุ้มครองพยาน ซึ่งจะประสานงานต่อไปด้วย นั้น

ดีเอสไอ ขอชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวคณะกรรมการคดีพิเศษได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 5/2552 เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 52 ได้รับการกระทำผิดอาญากรณีการหายตัวไปของ นายกมล เหล่าโสภาพันธ์ เป็นคดีพิเศษ เพื่อดำเนินการสืบสวนและสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 โดยเป็นคดีพิเศษที่ 70/2552 และดำเนินการสืบสวนสอบสวน รวมทั้งรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานทั้งจากผู้ร้องและพยานหลักฐานอื่นตลอดมา แต่ไม่ทราบตัวผู้กระทำความผิด จึงสรุปสำนวนการสอบสวน เห็นควรงดการสอบสวนส่งพนักงานอัยการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140 แต่ได้ดำเนินการสืบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับคำสั่งของพนักงานอัยการ ที่ให้งดการสอบสวน หากพบพยานหลักฐานว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำผิดก็ให้สอบสวนต่อไป อันเป็นกระบวนการที่เป็นไปตามกฎหมายแล้ว และในส่วนที่ผู้ร้องไปยื่นขอความเป็นธรรมต่อสำนักงานอัยการสูงสุดเมื่อเดือน ต.ค. 59 พนักงานอัยการก็ส่งมารวมสำนวนสืบสวนแล้ว ซึ่งคณะพนักงานสืบสวนก็อยู่ระหว่างการสืบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำความผิด โดยการสืบสวนเรื่องนี้อยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษดีเอสไอ หากผู้ร้องมีข้อมูลเพิ่มเติม สามารถแจ้งให้ ดีเอสไอ ทราบเพื่อดำเนินการสืบสวนได้

สำหรับประเด็นที่ผู้ร้องประสงค์ขอรับการคุ้มครองพยานนั้น ดีเอสไอ ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 ซึ่งกำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาไว้ และผู้ร้องเคยยื่นเรื่องขอให้ ดีเอสไอ ดำเนินการมาแล้ว แต่ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย จึงไม่อาจให้ความคุ้มครองได้ อย่างไรก็ตาม หากผู้ร้องประสงค์เห็นว่ามีภัยคุกคามและจะยื่นเรื่องขอให้พิจารณาใหม่ ก็สามารถยื่นเรื่องพร้อมข้อเท็จจริงและหลักฐานใหม่ได้ ดีเอสไอ พร้อมอำนวยความยุติธรรมตามกฎหมาย จึงชี้แจงมาเพื่อทราบ”


กำลังโหลดความคิดเห็น