xs
xsm
sm
md
lg

เปิดฉากแฉ “อดีตบิ๊กกรมอุทยานฯ” รับจ็อบที่ปรึกษา บ.ก่อสร้างยักษ์ใหญ่ ขอไฟเขียวคณะ “เปรมชัย” ล่าสัตว์ทุ่งใหญ่ฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


อดีตบิ๊กกรมอุทยานฯ ผันตัวเป็นที่ปรึกษาบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ ยันเป็นคนติดต่อขอไฟเขียวตั้งแคมป์เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ขออนุญาตแต่ยังไม่อนุญาตจึงเท่ากับลักลอบเข้า “ธัญญา เนติธรรมกุล” เตรียมกวาดบ้านตัวเองครั้งใหญ่

หลังจากจัดการกับแก๊งนายพรานมหาเศรษฐีเรียบร้อยแล้ว คงถึงคราวจัดระเบียบภายใน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กันขนานใหญ่ โดยเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ของ น.ส.กาญจนา นิตยะ ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า มีความบกพร่องอย่างใดหรือไม่ จากกรณีอนุญาตให้คณะของ นายเปรมชัย กรรณสูต ซีอีโอบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กับพวกเข้าไปตั้งแคมป์ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี และก่อเรื่องอื้อฉาวขึ้น

รายงานข่าวแจ้งว่า รายละเอียดขั้นตอนการติดต่อขออนุญาตเข้าพื้นที่นั้น เบื้องต้นมีข้อมูลในเชิงลึกว่ามีอดีต ผอ.สำนักฯ แห่งหนึ่งของกรมอุทยานฯ ชื่ออักษรย่อ ผอ. “น.” ที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว และทำงานในฐานะที่ปรึกษากับบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ลำดับต้นๆ ของเมืองไทยได้โทรศัพท์ติดต่อมายัง น.ส.กาญจนา เมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อขอให้อำนวยความสะดวกกับกลุ่มนายเปรมชัย แต่เนื่องจากเวลากระชั้นชิดจึงออกหนังสือไม่ทัน ประเด็นนี้แม้กลุ่มพรานมหาเศรษฐีจะอ้างว่าได้ขออนุญาตแล้วแต่เมื่อยังไม่ได้รับการพิจารณาจึงถือว่าเป็นการลักลอบเข้าไปซึ่งเป็นความผิดชัดเจน

แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ อดีต ผอ. “น.” ใช้ความเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกรมอุทยานฯ และปัจจุบันเปลี่ยนสภาพไปเป็นที่ปรึกษา หรือลูกน้องของบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ มีส่วนทำให้ น.ส.กาญจนา รู้สึกเกรงใจหรือมีการสั่งด้วยวาจากับเจ้าหน้าที่คนใดหรือเปล่า ตรงนี้ต้องมีการสอบสวน และหากยังคงอยู่ในตำแหน่ง ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าต่อไปก็อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนหาข้อเท็จจริง หากออกมาแนวนี้สถานการณ์ของ น.ส.กาญจนา จะอยู่หรือไปจึงล่อแหลมเป็นอย่างยิ่ง

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับงานจ็อบของข้าราชการเกษียณฯ ที่ไปนั่งเป็นที่ปรึกษาให้แก่นายทุนเอกชนเป็นอีกปัญหาหนึ่งของสังคมไทยที่ไม่มีใครพูดถึง บางรายเป็นที่ปรึกษาทั้งยังอยู่ในราชการ จึงมีโอกาสสูงมากที่จะใช้ความคุ้นเคย ใช้อำนาจหน้าที่ซึ่งเคยมีในอดีตหรือรู้ช่องทางระเบียบต่างๆ ของหน่วยงานมาสร้างความได้เปรียบ หรืออภิสิทธิ์ให้แก่บริษัทเอกชนนั้นๆ ดังเช่นกรณีของอดีต ผอ. “น.” เป็นต้น การเอื้อประโยชน์ทั้งทางตรง-ทางอ้อมจึงเป็นการสร้างวัฒนธรรมเลวร้าย ไม่เกิดประโยชน์ต่อสังคมในภาพรวมแม้แต่น้อย


กำลังโหลดความคิดเห็น