xs
xsm
sm
md
lg

รองปลัด ยธ.ชี้ผู้ปกครองสอง นร.มัธยมแจ้งความคดีพรากผู้เยาว์กันไปมาไม่ถูกต้อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - รองปลัดยุติธรรม โพสต์เฟซบุ๊กชี้กรณีผู้ปกครองเด็ก ม.2 และ ม.3 แจ้งความเอาผิดคดีพรากผู้เยาว์ไปมาไม่ถูกต้อง แนะให้หน่วยงานเกี่ยวข้องอบรมดูแลเด็ก เตือนหากรู้เห็นยินยอมมีความผิดทั้งสองฝ่าย

วันนี้ (6 ก.พ.) นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และโฆษกกระทรวงยุติธรรม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า “สังคมเน่า กรณีการแจ้งข้อกล่าวหาพรากผู้เยาว์เพื่ออนาจารนักเรียนไปมาของผู้ปกครองเด็กชายและหญิง

“ผู้เยาว์” หมายถึง บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งจะบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ เนื่องจากเป็นบุคคลที่อ่อนอายุ อ่อนประสบการณ์ และขาดการควบคุมสภาพจิตใจ จึงถือว่าเป็นผู้หย่อนความสามารถ เพราะยังไม่บรรลุนิติภาวะ ไม่อาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของตน ดังนั้น กฎหมายจึงให้ความคุ้มครองช่วยเหลือจนกว่าบุคคลนั้นมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จึงเป็นบุคคลผู้บรรลุนิติภาวะ

“พราก” หมายถึง จากไป, พาเอาไปเสียจาก, แยกออกจากกัน, เอาออกจากกัน (พจนุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542

ดังนั้น การพรากผู้เยาว์ คือ การที่ผู้ใด ไม่ว่าฝ่ายนั้นจะเป็นชายหรือหญิง ที่โดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 6,000 บาทถึง 30,000 บาทเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 317 วรรคแรก

ขณะที่การกระทำความผิดดังกล่าวข้างต้น ถ้าเป็นการกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 279 วรรคแรกด้วย หรือถ้าผู้เยาว์มีอายุมากขึ้น เช่น อายุกว่า 15 ปี ก็ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 4,000 บาทถึง 20,000 บาทตามมาตรา 318 เป็นต้น

นอกจากนี้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26 (3) ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการ บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิด ซึ่งผู้ใดที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าการกระทำความผิดข้างต้นมีโทษตามกฎหมายอื่นที่หนักกว่าก็ให้ลงโทษตามกฎหมายนั้นตามมาตรา 79

ตามกระแสข่าวเห็นว่าเด็กหญิง ม.2 ไปอยู่กับเด็กชาย ม.3 ที่บ้านของเด็กชาย ดังนั้นจึงมีประเด็นพิจารณาว่า บิดามารดาหรือผู้ปกครองทั้งสองฝ่ายรู้เห็นหรือยินยอมหรือไม่ ถ้ายินยอมอาจเข้าข่ายส่งเสริมหรือยินยอมตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ มาตรา 26 (3) ซึ่งก็ต้องดูตามข้อเท็จจริง และอาจต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญาที่หนักกว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กฯ ทั้งหมดประเด็นพิจารณาจึงอยู่ที่ข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร?

อย่างไรก็ตาม มาตรา 74 เด็กอายุกว่า 10 ปี แต่ยังไม่เกิน 15 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดเด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการต่างๆ ได้ เช่น ว่ากล่าวตักเตือนเด็กนั้นแล้วปล่อยตัวไป วางข้อกำหนดให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองหรือกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติ หรือมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้อยู่กับบุคคลหรือองค์การที่ศาลเห็นสมควรเพื่อดูแลอบรม และสั่งสอนตามระยะเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้ หรือส่งตัวเด็กนั้นไปยังโรงเรียน หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก ตลอดระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่อย่าให้เกินกว่าที่เด็กนั้นจะมีอายุครบ 18 ปี เป็นต้น

ถ้าพนักงานสอบสวนรับแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนจะต้องมีหนังสือแจ้งไปยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนเพื่อให้ทำการสืบเสาะและพินิจเสนอความเห็นไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวภายใน 30 วันเพื่อที่จะให้ศาลใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมกับเด็กเป็นรายรายต่อไป

อย่างไรก็ตาม เด็กและเยาวชนเป็นวัยที่เปราะบางด้วยวุฒิภาวะที่ยังไม่ถึงพร้อมและความเจนโลกไม่พอ ผนวกกับการอบรมเลี้ยงดูในครอบครัว สังคม และประเทศ โดยองค์รวมก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยที่ทำให้เด็กหรือเดินตกหลุมตกร่องได้ตลอดเวลา แต่เป็นเพราะทุกห่วงโซ่อ่อนแอและดูแลเขาไม่ดีพอ ครั้นเมื่อเขาก้าวพลาดก้าวผิดจังหวะกระทำความผิด เรากลับนำเขาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมนั้น อาจไม่ใช่เป็นสิ่งที่ดีและอาจเป็นสิ่งที่ซ้ำเติมลงไปในชีวิตของเด็กหรือเยาวชนนั้นอีก ฉะนั้น นานาอารยประเทศเขาจึงเลือกที่จะใช้กระบวนการอื่นแทนกระบวนการยุติธรรมที่จะใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย และเป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งมีกฎอันเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติว่าด้วยการบริหารงานยุติธรรมเกี่ยวแก่คดีเด็กและเยาวชนหรือที่เรียกว่ากฎแห่งกรุงปักกิ่งเป็นตัวกำกับ เมื่อผีเน่ามาเจอโลงผุ เราจะเดินกันอย่างไร?”


กำลังโหลดความคิดเห็น