xs
xsm
sm
md
lg

ปราบเหี้ยน! แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หนีซุก ตปท.เหลือแค่ 2-3 แก๊ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ตร.-ปปง.พร้อมตัวแทนสถาบันการเงิน แถลงผลจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติรายวัน หลังกดดนอย่างหนักทำให้ต้องให้หนีไปในซุกในต่างประเทศ เหลือแค่ 2-3 แก๊ง ยันไทยเป็นประเทศแรกใช้ฟอกเงิน ติดตามเงินคืนผู้เสียหายได้กว่า 3 ล้าน

วันนี้ (2 ก.พ.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ธนิตศักดิ์ ธีระสวัสดิ์ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบช.ทท. พ.ต.ท.อาริศ คูประสิทธิ์รัตน์ รอง ผกก.บก.สปพ. นายพีระพัฒน์ อิงพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการกองคดี 1 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พร้อมด้วยผู้แทนธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ผู้แทนธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้แทนธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และผู้แทนธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ส่งมอบเงินของผู้เสียหายบางส่วนที่สามารถยั้งยั้งการถอนจากมิจฉาชีพได้ ร่วมกันคืนเงินจากการถูกหลอกลวงของ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) คืนเงินให้กับผู้เสียหายจำนวน 16 ราย รวมเป็นเงินจำนวน 3,291,887 บาท

พล.ต.ต.สุรเชษฐ์กล่าวว่า ตำรวจยังคงเดินหน้าติดตามกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติอย่างต่อเนื่อง โดยประสานงานกับ ปปง.ในการตรวจสอบเส้นทางการเงินเพื่ออายัดเงินคืนผู้เสียหาย รวมถึงประสาน กสทช.เพื่อบล็อกหมายเลขโทรศัพท์ที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้โทรหลอกลวงเหยื่อ จากการสืบสวนสอบสวนพบว่ามีกลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จำนวน 7-8 กลุ่ม ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามจับกุม บางส่วนก็หนีไปต่างประเทศ ทำให้จำนวนคนร้ายลดน้อยลง สถิติการจับกุมก็ลงตามไปด้วย ขณะนี้เหลืออยู่ประมาณ 2-3 กลุ่มเท่านั้นที่ต้องทำการสืบสวนจับกุม ซึ่งขณะนี้ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศเดียวและประเทศแรกที่สามารถอายัดและคืนเงินให้กับผู้เสียหายได้จำนวนมาก

“ส่วนกรณีที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้ช่องทางนำเงินไปลงทุนโดยโอนเข้าระบบสกุลเงินดิจิตอล หรือบิตคอยน์นั้น ตำรวจได้เสนอไปยังรัฐบาลให้พิจารณาเพิ่มกฎหมายในการควบคุมสกุลเงินดิจิตอลแล้ว อีกทั้งยังประสานกับบริษัทตัวกลางบิตคอยน์ในประเทศไทย เพื่อช่วยตรวจสอบและอายัดก่อนที่เงินจะถูกโอนไปยังต่างประเทศ เพราะหากเงินถูกโอนเข้าสู่ระบบกลางในต่างประเทศจะไม่สามารถอายัดได้ ฉะนั้นเหยื่อที่รู้ตัวว่าถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงให้รีบโทร.แจ้งเจ้าหน้าที่ ที่สายด่วน 1155 และ 1710 โดยเร็ว เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เร่งดำเนินการอายัดเงินได้ทัน ยิ่งแจ้งเร็วเท่าไหร่ก็จะทำให้ผู้เสียหายได้เงินคืนเต็มจำนวนเร็วเท่านั้น ฝากถึงประชาชนทั่วประเทศ ไม่ต้องกังวลการทำธุรกรรมทางการเงิน สามารถทำธุรกรรมได้ตามปกติ” รอง ผบช.ทท.ระบุ

สำหรับสถิติการรับแจ้งการกระทำผิดเกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตั้งแต่มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงาน ปปง.มีผู้แจ้งผ่านสายด่วน 1710 ของ ปปง.ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. 2560 จนถึงวันที่ 1 ก.พ. 61 มีผู้เสียหายหลงเชื่อและโอนเงิน จำนวน 210 ราย เหตุเกิดแล้วรีบแจ้ง 88 ราย เหตุเกิดแล้วแจ้งภายหลัง 122 ราย รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 81,517,259.53 บาท สามารถยับยั้งและช่วยเหลือได้จำนวน 33 ราย มูลค่ารวม 15,189,532.08 บาท



กำลังโหลดความคิดเห็น