หน.คณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต หรือ ไทแคค (TICAC) เผยผลงานรอบ 2 ปี รวบแล้ว 71 คดี เชื่อแนวโน้มกระทำผิดยังสูง เหตุเยาวชนสื่อออนไลน์เข้าถึงง่าย
วันนี้ (11 ม.ค.) ที่ห้องประชุม TICAC ชั้น 19 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ ที่ปรึกษา (สบ10) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต หรือ ไทแคค (TICAC) พร้อมกับ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) และ นางวีรวรรณ มอสบี้ ผู้ก่อตั้งโครงการฮัก (HUG Project) ได้รับรางวัลนักต่อสู้ด้านค้ามนุษย์ หรือ TIP Hero แถลงผลความร่วมมือในการปฏิบัติงานของ TICAC ที่ผ่านมา ตลอดจนสถานการณ์การล่วงละเมิดทางเพศเด็กผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตในประเทศไทย
พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ กล่าวว่า ศูนย์ TICAC เป็นความร่วมมือกับสำนักงานสอบสวนกลาง สหรัฐอเมริกา หรือ เอฟบีไอ ในการร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลในการปฏิบัติงาน การล่วงละเมิดทางเพศเด็กผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตในประเทศไทย โดยเน้นการสืบสวนแฝงตัวเข้าไปในกลุ่มสื่อออนไลน์ต่างๆ เพื่อหาข้อมูลสำหรับป้องกันและปราบปรามคดีล่วงละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่มักตกเป็นเหยื่อคดีทางเพศ และยอมรับว่า ปัจจุบันสื่อออนไลน์เข้าถึงได้ง่าย กลุ่มผู้กระทำผิดเปลี่ยนพฤติกรรมใช้สื่อออนไลน์ เป็นช่องทางในการล่อลวงผู้เสียหายมากขึ้น โดยข้อมูลของ TICAC ยังพบว่ามีการล่อลวงเด็กและเยาวชน ถ่ายคลิปทางเพศเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ ที่ยังต้องสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิด ส่วนแนวโน้มเชื่อว่ายังมีการลักลอบกระทำผิดอีกมาก และยังต้องการข้อมูลจากผู้ที่พบเห็นการกระทำความผิดให้แจ้งเบาะแสเข้ามา เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการสืบสวนจับกุม แต่ยอมรับว่าในขณะนี้ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของการฝึกอบรมบุคลากร เนื่องจากเป็นงานที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเทคโนโลยี
สำหรับสถิติแบ่งตามฐานความผิดของคณะทำงานของศูนย์ TICAC ระหว่างปี 2558 - 2561 จับผู้กระทำผิดคดีค้ามนุษย์ จำนวน 21 คดี, คดีล่วงละเมิดทางเพศเด็ก จำนวน 13 คดี, คดีครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก จำนวน 31 คดี และส่งกลับออกนอกราชอาณาจักร จำนวน 6 คดี โดยพบว่าผู้กระทำความผิดเป็นผู้ต้องหาชาวไทย จำนวน 38 คน และผู้ต้องหาต่างชาติ จำนวน 35 คน จากทั้งหมด 71 คดี และที่ผ่านมาศูนย์ TICAC ได้รับเบาะแส จำนวน 209 เรื่อง ดำเนินคดีไปแล้ว 121 คดี และที่เหลืออยู่ระหว่างการสืบสวนขยายผลต่อ
พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ศูนย์ TICAC ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมา สามารถดำเนินคดีได้ทั้งสิ้น 71 คดี โดยในปี 2559 สามารถดำเนินคดีได้ 24 คดี และในปี 2560 ได้ 43 คดี จะเห็นว่าผลงานของศูนย์ TICAC ในปีที่ 2 เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า จากการทำงานในปีแรก และคาดการณ์ว่า ในปีนี้จะมีคดีเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเห็นว่าในอนาคตแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นจะมีงานต้องทำอีกเป็นจำนวนมาก อาทิ ของกลางที่ตรวจยึดได้ที่เป็นไฟล์รูปภาพหรือวีดีโอของผู้เสียหาย เป็นจำนวนมากกว่าร้อยกิ๊กกะไบท์ ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญในการคัดแยกเหยื่อและติดตามผู้เสียหาย ของผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งในอนาคตมีความต้องการรับสมัครจิตอาสาที่มีความเชี่ยวชาญทางคอมพิวเตอร์ รวมถึงผู้มีความสามารถในการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อเตือนภัยทางอินเทอร์เน็ตให้กับเด็กเข้ามาช่วยงาน โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดระบบ คุณสมบัติ ความต้องการ ซึ่งจะได้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านทางเฟซบุ๊กต่อไป