MGR Online - “ดีเอสไอ ชี้แจงกรณีถูกกล่าวหาการคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์” ยันทุกขั้นตอนมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ อ้าง พ.ร.บ. การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 พนักงานสอบสวนคดีพิเศษไม่จำเป็นวุฒิต้องจบกฎหมาย
วันนี้ (6 ธ.ค.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้เผยแพร่เอกสารชี้แจง โดยระบุว่า ตามที่ปรากฏข่าวในสื่อมวลชนแห่งหนึ่ง กล่าวถึงการคัดเลือกข้าราชการเพื่อเสนอแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษของดีเอสไอ ว่า ผู้บริหารดีเอสไอ ไม่คำนึงถึงความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในสาขางานแต่ละด้าน คัดเลือกคนไม่มีผลงานที่ชัดเจน นั้น
ดีเอสไอ ขอชี้แจงว่า ตาม พ.ร.บ. การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ได้กำหนดให้ตำแหน่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เป็นตำแหน่งที่เป็นสหวิชาชีพ กล่าวคือ ไม่จำกัดวุฒิการศึกษาว่าต้องเป็นกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่ประกอบด้วย วุฒิการศึกษา หรือความรู้ความสามารถที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินคดีพิเศษ โดยในการดำเนินคดีพิเศษจะมีการแต่งตั้งเป็นคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ประกอบด้วย ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องที่สืบสวนสอบสวน ทั้งนี้ เพื่อให้การสืบสวนและสอบสวนคดีพิเศษซึ่งเป็นคดีสำคัญที่มีผลกระทบต่อประเทศในด้านต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และ เป็นการสั่งสมความเชี่ยวชาญตามความถนัดของแต่ละบุคคล
สำหรับตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษของดีเอสไอ ก็มีความสอดคล้องกับหลักการดังกล่าว ซึ่ง สำนักงาน ก.พ. ได้กำหนดให้มีผู้เชี่ยวชาญหลายด้าน หลายสาขา ทั้งการสืบสวนสอบสวน กฎหมายเกี่ยวกับการสอบสวน การปฏิบัติการทางยุทธวิธี เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่สนับสนุนการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษให้มีประสิทธิภาพทั้งสิ้น และในการคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ ก็ดำเนินการตามหนังสือ สำนักงาน ก.พ. ที่ นร. 1006/ว 7 ลงวันที่ 6 มี.ค. 2552 และ ที่ นร. 0708.4/ว 16 ลงวันที่ 29 ก.ย. 2538 ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์กลางที่ สำนักงาน ก.พ. กำหนด
โดย ดีเอสไอ มีการประกาศคุณสมบัติและเกณฑ์การให้คะแนนที่ชัดเจนเป็นการล่วงหน้า มีการคัดเลือกในรูปแบบคณะกรรมการ ประกอบด้วย อธิบดีดีเอสไอ เป็นประธานกรรมการ และมี รองอธิบดีดีเอสไอ เป็นคณะกรรมการ รวมทั้งมีคณะกรรมการพิจารณาผลงานที่สำนักงาน ก.พ. แต่งตั้ง และเมื่อผลงานผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการที่สำนักงาน ก.พ. ตั้งขึ้นแล้ว จึงจะเสนอ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ลงนามแต่งตั้ง ไม่ใช่ อธิบดีดีเอสไอ เป็นผู้แต่งตั้ง ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติเช่นเดียวกันกับหน่วยงานในสังกัดข้าราชการพลเรือนทั่วไป
ในห้วงเวลาที่ผ่านมา ดีเอสไอ มีการประกาศรับสมัครข้าราชการเข้ารับการคัดเลือกให้เข้ารับประเมินผลงานเพื่อเลื่อนตำแหน่งและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ จำนวน 8 ตำแหน่ง ซึ่ง ดีเอสไอ มีความโปร่งใสในการดำเนินการ กระบวนการคัดเลือกเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว และผู้มีส่วนได้เสียในการคัดเลือกสามารถขอตรวจดูคะแนนผลการประเมินได้ตามกฎหมาย