MGR Online - นักธุรกิจเปิดร้านขายสินค้านำเข้ามือสองจากญี่ปุ่นได้ 4 เดือน มีกลุ่มคนอ้างมาจากหน่วยงานรัฐเข้ามาตรวจจับ 4 ครั้ง เจ้าของร้านเคลียร์เงินให้ไปกว่า 1 แสนบาท แถมถูกบังคับต้องจ่ายเงินรายเดือนเพิ่มเติมเป็นค่าดูแลเดือนละ 2,000 บาท
เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 23 พ.ย. 60 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น หุ้นส่วนร้านขายของมือสองนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ปากทางเข้าซอยวัดลาดปลาดุก ย่านบางบัวทอง ว่าตนเองเพิ่งเปิดร้านค้าขายสินค้านำเข้าของมือสองมาจากประเทศญี่ปุ่นได้ประมาณ 4 เดือน ได้มีกลุ่มคนอ้างมาจากหน่วยงานภาครัฐเข้ามาตรวจจับถึง 4 ครั้ง และเคลียร์เงินให้เจ้าหน้าที่ไปกว่า 1 แสนบาท พร้อมถูกบังคับว่าต้องจ่ายเงินรายเดือนเพิ่มเติมเป็นค่าดูแลเดือนละ 2,000 บาท จึงเดินทางไปตรวจสอบ
สอบถามนายเอ (นามสมมติ) ผู้ดูแลร้านเล่าว่า ร้านแห่งนี้เปิดมา 4 เดือนแล้ว โดยมีเจ้าของเป็นชาวญี่ปุ่น นำเข้าของใช้มือสองจากประเทศญี่ปุ่นมาจำหน่าย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นและเมื่อเดือนสิงหาคม 1 ครั้ง เสียเงินไป 15,000 บาท ครั้งที่ 2 เดือนตุลาคม เสียเงินไปอีกแต่ไม่ทราบจำนวน และยังบอกว่าต้องเสียรายเดือน เดือนละ 2,000 บาท เป็นค่าดูแล
ล่าสุดวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา เวลา 11.00 น. ก็มีกลุ่มคนอ้างตัวว่ามาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาค 1 เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ CPPD (บก.ปคบ.) เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศษฐกิจ หรือ ECD ซึ่งกลุ่มคนที่ได้อ้างตัวมาจากหลายหน่วยงานดังกล่าวได้เข้ามาตรวจสอบสินค้าภายในร้าน พร้อมทั้งอ้างว่าภายในร้านพบมีสินค้าบางชนิดที่ละเมิดลิขสิทธิ์และผิดกฎหมาย จะขอเข้าจับกุมและทำการยึดสินค้าไปด้วยหลายรายการ โดยที่ไม่มีหมายศาลมายื่นแสดงให้ตนเองและพนักงานในร้านดูแต่อย่างใด แต่ละกลุ่มที่เข้ามาทำการตรวจค้นประมาณ 3-7คน มีทั้งชายและหญิง ใส่เครื่องแบบสีกากีเต็มยศและมีเสื้อคลุมปักชื่อหน่วยงานสวมทับมา ตนและผู้ดูแลร้านก็ให้ความร่วมมือด้วยดี จากนั้นกลุ่มคนดังกล่าวก็ได้ตรวจยึดนำสินค้าติดมือออกไปด้วย เช่น ของเล่นตัวต่อหุ่นยนต์ที่นิยม เครื่องชามเซรามิก กระเป๋า เสื้อผ้า และได้แจ้งต่อทางร้านว่าไม่มีเครื่องหมาย มอก.ติดที่สินค้า หรือไม่สามารถระบุแหล่งที่ผลิตได้ จากนั้นจะนำตัวพนักงานไปดำเนินคดี แต่เมื่อพนักงานภายในร้านได้แจ้งว่าจะช่วยเหลืออะไรกันได้บ้าง ทางกลุ่มคนดังกล่าวได้เรียกพนักงานขึ้นไปบนรถและทางพนักงานของร้านได้นำเงินเข้าไปให้จำนวน 30,000 บาท ชายที่แต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่จึงได้ปล่อยตัวพนักงานออกมาพร้อมทั้งคืนสินค้ากลับมาให้กับทางร้านบางรายการเท่านั้น
นายเอ (นามสมมติ) เล่าต่อว่า ผ่านไป 1 ชั่วโมง ก็มีกลุ่มชายฉกรรจ์ที่แต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่ได้ผลัดกันเข้ามาตรวจจับสินค้าภายในร้านอีกครั้ง โดยกลุ่มที่ 2 นี้ได้อ้างตัวมาจากเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ CPPD (บก.ปคบ.) มากันทั้งชายและหญิง ประมาณ 6 คนและได้เข้าตรวจสอบสินค้าภายในร้านอีกเช่นเดิมจากนั้นได้ตรวจยึดสินค้าไปและจะดำเนินคดีต่อทางร้าน เมื่อผู้ดูแลร้านถามกลุ่มคนดังกล่าวว่าต้องการให้ช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง สุดท้ายมาจบลงด้วยการให้เงินจำนวน 30,000 บาท ไปกับทางเจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่มาด้วยและแต่งกายด้วยเครื่องแบบเต็มยศ จึงได้พากันออกไปจากร้าน พร้อมกับนำสินค้าบางอย่างติดมือออกไปด้วย และอ้างว่าต้องเอาไปตรวจสอบก่อนว่ามีความผิดตามกฎหมายหรือไม่ พร้อมทั้งขอเก็บรายเดือนอีกเดือนละ 2,000 บาท
นายหมู (นามสมมติ) ผู้ดูแลร้านกล่าวต่อว่า จากนั้นมีเจ้าหน้าที่อ้างตัวว่ามาจากตำรวจภูธรภาค 1 ได้โอนเงินกลับคืนมาให้ทางเจ้าของร้านค้าขายของมือสองญี่ปุ่นแห่งนี้แล้วจำนวน 30,000 บาท แต่เจ้าหน้าที่กลุ่มอื่นๆ ที่ได้เข้ามาตรวจและรับเงินจากทางร้านไปยังคงนิ่งเฉยอยู่และกล่าวว่าไม่อยากให้มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้นั้นทราบว่ามีการพูดถึงกันในวงกว้างของกลุ่มชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาทำธุรกิจและข่าวได้แพร่กระจายไปถึงกลุ่มชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ภายในประเทศไทยด้วย
ในขณะที่ พล.ต.ต.สุศักดิ์ ปรักกมะกุล ผบก.ภ.จว.นนทบุรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าในคดีนี้ว่า ร้านขายของมือสองนำเข้าจากญี่ปุ่นแห่งนี้มีสินค้าขายหลากหลายชนิด จึงไม่แปลกที่จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบเกี่ยวข้องด้วย โดยขณะนี้ได้ตรวจภาพจากกล้องวงจรปิดเจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวและตรวจสอบข้อมูลยืนยันกับทางร้านให้แน่นอนก่อน ตามที่ปรากฏกลุ่มภาพเจ้าหน้าที่ตามคลิปวิดีโอที่ทางสื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวออกไปแล้วนั้น ตอนนี้ได้สั่งการลงไปที่ พ.ต.อ.อรรณพ นวมนาคะ ผกก.สภ.บางบัวทอง ให้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลจากทางผู้เสียหายถึงรายละเอียดในข้อเท็จจริงถึงกลุ่มเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานที่เข้ามาตรวจสอบสินค้าภายในร้านขายของมือสองแห่งนี้ว่าเข้ามาในลักษณะใด จากหน่วยงานไหนบ้าง หากตรวจสอบพบหรือทราบข้อมูลที่แน่ชัดแล้วว่ามาจากหน่วยงานใดก็จะทำหนังสือไปยังต้นสังกัดเพื่อให้ชี้แจงมาถึงในเหตุที่เกิดขึ้น และหากพบว่ามีลักษณะการกระทำผิดจริง มีการเรียกรับเงินจริง ก็จะดำเนินคดีเอาผิดทางวินัยและจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายด้วย เพราะถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่มาอาศัยใช้หน้าที่กระทำผิดขึ้นเสียเอง
นายคูโบตะ ซัง อายุ 43 ปี ชาวญี่ปุ่น เจ้าของร้านจำหน่ายของมือสอง เปิดเผยว่า มาทำธุรกิจที่ประเทศไทย จึงมาเปิดร้านทำกิจการที่นี่ ต้องการค้าขาย เพื่อให้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจดีขึ้น ไม่เข้าใจว่าทำไมมีตำรวจมาขอเงิน ตนทำธุรกิจถูกกฎหมาย ที่ประเทศญี่ปุ่นไม่มี ไม่เคยเจอ ทำไมประเทศไทยมี ตอนนี้ยังเชื่อใจประเทศไทย รักประเทศไทย