รายการ “ข่าวลึก ปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม ผู้จัดการ 360 วันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน 2560 ตอน “รมต. จับกัง”ตัวเต็งล้น ที่นี่!ส่วยเยอะงานก็ท้าทาย
ท่ามกลางการรอลุ้นโฉมหน้าคณะรัฐมนตรีประยุทธ์5 กันอย่างระทึกใจ ว่าการปรับครม. จะปรับอย่างไร ปรับใหญ่แบบล้างท่อเลย หรือปรับเล็ก ทหารจะยึดเก้าอี้เพิ่มหรือถูกลดโควต้าลง ทีมเศรษฐกิจจะมีใครหน้าใหม่เข้ามาเสริมทัพอีกหรือไม่ เหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นน่าสนใจ คงต้องรออีกไม่กี่อึดใจก็น่าจะได้รู้กัน
แต่ในส่วนที่น่าพูดถึงที่สุด ก็คือเก้าอี้ จับกัง 1 รมว.แรงงาน ที่จะมาแทน พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล ที่ลาออกไปเพราะมีแคนคิเดตมาก ที่ผ่านมามีการกะเก็งกันไว้หลายคน ทั้งสายสีเขียว ที่มีตัวเต็ง เช่น พลเอกอุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ,พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม,
พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ซึ่งเป็นเพื่อนรักพลเอก ประยุทธ์ แต่หลังช่วงหลัง ยังมีข่าวว่า เก้าอี้ จับกัง1จะเป็นอดีตข้าราชการพลเรือน โดยมีตัวเต็งเช่น กฤษฏา บุญราช อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย
กฤษฎา เป็นลูกพี่เก่าของ จรินทร์ จักกะพาก ปลัดก.แรงงาน อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย หรือไม่ก็ สุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ อดีตรองปลัดกระทรวงแรงงาน และอดีตเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ที่ว่ากันว่า อยู่สายบิ๊กป้อม พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ
ก็เป็นเรื่องที่ต้องจับตากันว่า สุดท้าย เก้าอี้ จับกัง1 จะเป็นสีเขียวแบบเดิม ตามรอย พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ และ พลเอกศิริชัย ดิษฐ์กุล หรือจะเป็นสีกากี หรือสายพลเรือน ทำให้ยังเดากันยากเพราะเบียดกันเดือดกว่าทุกกระทรวง
ไม่ว่าใครจะมา รัฐมนตรีว่าการแรงงานก็ต้องมาทำภารกิจสำคัญ คือการเข้าไปบริหารจัดการเรื่อง แรงงานต่างด้าว ที่ตอนนี้ แรงงานถือเป็นปัจจัยหลัก ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะกับการเข้าไปจัดการจัดระเบียบเรื่องนี้ หลัง บิ๊กตู่ ใช้มาตรา 44..ออกพรก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว
แต่เกิดปัญหาขึ้น ในเรื่องแรงงานต่างด้าว อพยพกลับหมด จนรัฐบาลต้อง มีการขยายให้ 6 เดือนและจะสิ้นสุด 31 ธ.ค.60 หลังจากนั้น เริ่มใช้พ.ร.ก. ในวันที่ 1 ม.ค.61 เป็นต้นไป การเข้ามาของรมว.แรงงานคนใหม่ จึงมีภารกิจสำคัญเรื่องแรงงานต่างด้าว รออยู่
เรื่องแรงงานต่างด้าว ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ กระทรวงแรงงาน ต้องมีการเตรียม จัดซื้อเครื่องสแกนม่านตา เพื่อใช้ตรวจสอบแรงงานต่างด้าว ที่กลายเป็นประเด็นขัดแย้งในทางการเมืองของรัฐบาล เป็นปมเหตุในการที่บิ๊กตู่ใช้ มาตรา 44 เด้ง นายวรานนท์ ปีติวรรณ อดีตอธิบดีกรมการจัดหางาน ไปเป็นรองปลัดกระทรวง
และบานปลายเป็นทำให้พล. อ. ศิริชัย ไขก๊อกลาออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ไปแบบวางระเบิดเวลาลูกอันตรายไว้เรื่องหนึ่ง คือการจัดซื้อเครื่องสแกนม่านตา โดยมีการเปิดโปงว่าเพราะคนในกระทรวงแรงงานไม่ยอมชงเรื่องซื้อเครื่องสแกนม่านตามาที่มีบิ๊กจากทำเนียบสั่งลงมา เลยเป็นเรื่องที่สั่งปลดอธิบดีและบีบให้รัฐมนตรีลาออก
เรื่องนี้ หลังตกเป็นจำเลยสังคม ฝ่ายนายกฯและปลัดกระทรวงแรงงานก็มีการชี้แจงแล้วถึงความจำเป็นในการการจัดซื้อ เครื่องสแกนม่านตา ที่สรุปได้ว่า รัฐบาลจำเป็นต้องนำมาใช้พิสูจน์อัตลักษณ์ เพราะไทยถูกต่างชาติ และองค์การระหว่างประเทศ จับตามองเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะแรงงานประมง
แรงงานเป็นส่วนสำคัญในปัญหาการทำประมงผิดกฎกติกาสากล จึงต้องรื้อฟื้นเรื่องแรงงานเพื่อพิสูจน์ให้ชัดเจนว่า แรงงานผิดกฎหมายที่เข้ามาทำงานในประเทศเป็นใคร ทำอะไรอยู่ที่ไหน เพราะเคยมีปัญหาก่อนหน้านี้ มีการเก็บข้อมูลม่านตาแรงงานกลุ่มประมงที่มีปัญหาลายนิ้วมือลบเลือนไปแล้วกว่า 2 หมื่นคน
เนื่องจากการทำงานบนเรือประมง หรือใช้มือในการทำงานหนักอาจทำให้ลายนิ้วมือเลือนลาง และไม่สามารถนำมาใช้ตรวจสอบหรือระบุตัวตนได้ แต่เครื่องสแกนม่านตาสามารถตอบโจทย์ได้
ความจำเป็นที่ต้องจัดซื้อเครื่องสแกนม่านตาเพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง โดยกระทรวงแรงงานอ้างว่าตอนนี้ยืมกรมเจ้าท่า มีแค่ 30 เครื่องใช้ใน 22 จังหวัด ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน และงบประมาณในการจัดซื้อก็ไม่ได้สูงเป็นพันล้านบาทอย่างที่เป็นข่าว
เพราะราคาต่อเครื่องซึ่งอยู่ที่ประมาณ 1 แสนบาท เป็นราคามาตรฐาน รวมเงินที่โครงการนี้จะใช้เพียง120 ล้านบาท กับค่าบริการรายเดือนในการเก็บข้อมูลถังกลางก็ไม่สูง สรุปว่าเครื่องนี้ซื้อมาก็คุ้มถ้าเอามาแก้ปัญหาจริง
จึงจำเป็นที่รัฐมนตรีคนใหม่ที่เข้ามาแล้ว ต้องสามารถแก้ปัญหาเรื่องแรงงานเถื่อนแรงงานทาสที่กองสุมอยู่อย่างมีผลลัพธ์จับต้องได้ ไม่ใช่คนที่น้ำลายไหลคิดจะเข้ามารับส่วยแรงงานต่างด้าว ต้องรอดูว่า ผลงานของกระทรวงแรงงานกับรัฐมนตรีคนใหม่จะเป็นผลงานติดโบว์แดงหรือตราบาปของรัฐบาลคสช.