xs
xsm
sm
md
lg

ปคม.ชี้บริษัทลวงแรงงานกว่า 100 คนไปดูไบ ผิดการค้าแรงงานไม่เข้าข่ายค้ามนุษย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


 
MGR Online - ผบก.ปคม.ชี้กรณีบริษัทลวงแรงงานกว่า 100 คนไปทำงานดูไบ โดยยกเลิกสัญญาและให้บังคับเซ็นยอมรับว่ามีการหยุดงาน แลกกับการได้รับพาสปอร์ตคืน เพื่อเดินทางกลับประเทศ ผิดการค้าแรงงาน ยังไม่เข้าข่ายค้ามนุษย์

วันนี้ (17 พ.ย.) เวลา 15.00 น. ที่กองบังคับการตำรวจปราบปรามการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) กลุ่มแรงงานไทยล็อตที่ 5 จำนวน 36 คน เดินทางเข้าพบ พล.ต.ต.กรไชย คล้ายคลึง ผบก.ปคม. เพื่อให้ปากคำกรณีกลุ่มแรงงานไทยทั้งหมด 130 คน เดินทางไปทำงานที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยบริษัทจัดหางานเป็นผู้ดำเนินการให้ แต่เมื่อไปถึงกับไม่ได้ทำงานตามตำแหน่งที่สมัครไป ทำให้แรงงานถูกยกเลิกการจ้างงานและบริษัทจัดหางานในประเทศไทยลอยแพ จึงเข้าขอความช่วยเหลือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่กลุ่มแรงงานไทยได้ทยอยเดินทางกลับประเทศไทย

พล.ต.ต.กรไชยเปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังเรียกผู้เสียหายมาสอบปากคำข้อเท็จจริง โดยรอคำสั่งจาก สตช.ว่าจะให้หน่วยงานใดดำเนินการ หากเป็นทาง บก.ปคม.ก็พร้อมทำงานอย่างเต็มความสามารถ ทั้งนี้ กลุ่มแรงงานเดินทางไปทั้งหมด 130 คน ล่าสุดวันนี้เดินทางถึงไทยเพิ่มอีก 36 คน ขณะนี้กลับมาแล้วทั้งสิ้น 97 คน เหลืออีกประมาณ 30 คนที่อยู่ระหว่างช่วยเหลือกลับประเทศ เบื้องต้นทางตำรวจ บก.ปคม.จะต้องสอบปากคำแรงงานทั้งหมด รวมถึงเรียกบริษัทนายหน้ามาสอบปากคำก่อน จากนั้นจึงจะสรุปว่าเข้าข่ายความผิดการค้ามนุษย์หรือไม่

“เบื้องต้นคาดว่ากรณีดังกล่าวน่าจะเข้าข่ายความผิดการค้าแรงงาน ผิดสัญญาจ้างงาน การโฆษณาชวนเชื่อ หรือการฉ้อโกงประชาชน เนื่องจากความผิดฐานค้ามนุษย์นั้นแรงงานจะถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว ไม่ให้ได้รับอิสรภาพ แตกต่างจากคดีนี้ที่แรงงานยังสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ ส่วนกรณีการยึดพาสปอร์ตนั้นจะต้องพิจารณาถึงเจตนาของผู้ยึดก่อนว่ามีเจตนากักขังหน่วงเหนี่ยวแรงงาน หรือเพียงเก็บรักษาเอกสารสำคัญ อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณกรมการกงสุลที่ทำหน้าที่สำคัญในการประสานงานช่วยเหลือแรงงานดังกล่าว” พล.ต.ต.กรไชยกล่าว

ด้านตัวแทนแรงงานเปิดเผยว่า รู้จักบริษัทจัดหางานจากเพื่อนที่เคยไปทำงานด้วยกัน โดยทางบริษัทอ้างว่าจะจ้างให้ไปทำงานในตำแหน่งเชื่อมเหล็ก ได้ค่าจ้าง 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง โดยไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายผ่านทางกรมแรงงาน เเละมีสวัสดิการต่างๆ เช่น ที่พัก ค่าอาหาร และการรักษาพยาบาล จึงตกลงไปทำงานและจ่ายค่าดำเนินการ ค่าตั๋ว และค่าวีซ่า รวม 25,000 บาท แต่เมื่อไปถึงกลับถูกยึดพาสปอร์ต และให้ทำงานในตำแหน่งงานที่ไม่ตรงตามสมัครเอาไว้ ซึ่งควรจะได้รับค่าจ้าง 7-8 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง รวมถึงยังไม่ได้รับสวัสดิการตามที่ตกลงกันไว้ ทำให้แรงงานไม่พอใจและหยุดงานเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม แต่ทางบริษัทที่เมืองดูไบได้มีคำสั่งยกเลิกสัญญาโดยไม่จ่ายค่าจ้าง และบังคับให้แรงงานเซ็นยอมรับว่ามีการหยุดงานจริง แลกกับการได้รับพาสปอร์ตคืนเพื่อเดินทางกลับประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น