xs
xsm
sm
md
lg

“เดอะจ้อน” ขึ้นศาลปฏิเสธสู้คดีใส่ร้าย อผศ.-สตช.จัดซื้อเสื้อเกราะ สูญ 32 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - “อลงกรณ์ พลบุตร” อดีตรอง ปธ.สภาขับเคลื่อนการปฏิรูป ตรวจสอบทุจริตฯ ขอสู้คดีอดีต ผอ.องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และ สตช.แจ้งความเท็จกรณีให้สัมภาษณ์จัดซื้อเสื้อเกราะ 2 พันตัว 32 ล้าน นัดสืบพยานครั้งแรก 21 ส.ค.ปีหน้า



วันนี้ (6 พ.ย.) ที่ห้องพิจารณา 811 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดสอบคำให้การและตรวจหลักฐานคดีหมายเลขดำ อ.2700/2560 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอลงกรณ์ พลบุตร อายุ 61 ปี อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คนที่ 1 เป็นจำเลยในความผิดฐานแจ้งความเท็จ กรณีเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2546 นายอลงกรณ์ จำเลย ได้เข้าแจ้งความต่อ พ.ต.ท.สมควร พึ่งทรัพย์ และ พ.ต.ต.ประหยัด เฮ้ารัง พนักงานสอบสวนกองปราบปรามขณะนั้น ทำนองว่า พล.ต.ต.ประเสริฐ พิทักษ์ธรรม ผบก.สรรพาวุธสำนักงานส่งกำลังบำรุง สตช. (ตำแหน่งเมื่อปี 2546 ปัจจุบันเกษียณราชการ) และ พล.อ.ทสรฐ เมืองอ่ำ ผอ.องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก หรือ อผศ. (ตำแหน่งเมื่อปี 2546 ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ร่วมกันสมคบกันทุจริตในการจัดซื้อเสื้อเกราะอ่อนป้องกันกระสุน จำนวน 2,000 ตัว ราคาตัวละ 16,000 บาท รวม 32 ล้านบาท ซึ่งทำให้พล.ต.ต.ประเสริฐ และพล.อ.ทสรฐ ได้รับความเสียหาย โดยการจัดซื้อเสื้อเกราะป้องกันกระสุนนั้นเกิดขึ้นในช่วงปี 2546 ระหว่าง อผศ.กับกองสรรพาวุธ สำนักงานส่งกำลังบำรุง สตช.จำนวน 2,000 ตัว เพื่อนำไปปฏิบัติงานในภาคใต้ ระหว่างนั้นนายอลงกรณ์ที่เป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และเป็นประธานคณะทำงานตรวจสอบทุจริตของคณะกรรมการพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ทำการตรวจสอบกรณีดังกล่าว

โดยวันนี้ นายอลงกรณ์ซึ่งได้รับการประกันตัวหลังอัยการยื่นฟ้อง ได้เดินทางมาศาลพร้อมกับนายธนิก ชินปัญจะพล ทนายความ เพื่อสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน

เมื่อถึงเวลานัด ศาลได้อ่านและอธิบายคำฟ้องให้นายอลงกรณ์ จำเลยฟังแล้ว นายอลงกรณ์ให้การปฏิเสธ พร้อมแถลงมีพยานบุคคลนำสืบสู้คดี รวม 2 ปาก คือ นายอลงกรณ์เอง กับคณะกรรมการตรวจสอบทุจริตฯ โดยทนายความยังได้ยื่นเอกสารต่อสู้ประเด็นข้อกฎหมายเรื่องการฟ้องซ้ำกับมูลเหตุข้อเท็จจริงเดียวกันในคดีหมิ่นประมาทฯ ที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดยกฟ้องนายอลงกรณ์ด้วย

ขณะที่อัยการโจทก์ได้แถลงศาลเตรียมพยาน 6 ปากเพื่อนำสืบตามรูปคดี พร้อมพยานเอกสาร 26 ฉบับ อย่างไรก็ดีเมื่อศาลสอบถามนายอลงกรณ์แล้ว สามารถรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพยานซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนในการรับแจ้งความได้ อัยการโจทก์จึงจะนำสืบพยานเพียง 3 ปาก ประกอบด้วย พล.ต.ต.ประเสริฐ พิทักษ์ธรรม อดีต ผบก.สรรพาวุธสำนักงานส่งกำลังบำรุง สตช. ผู้เสียหายที่ 1, ผู้รับมอบอำนาจของผู้เสียหายที่ 1 และพนักงานสอบสวน

ทั้งนี้ ศาลพิจารณาแล้วก็ให้โจทก์-จำเลย นำสืบพยานตามแถลง โดยให้ทั้งสองฝ่ายนำสืบพยานฝ่ายละ 1 นัด โดยนัดสืบพยานโจทก์-จำเลยในวันที่ 21-22 ส.ค. 61 เวลา 09.00 น.

ภายหลังนายอลงกรณ์ อดีตประธานคณะทำงานตรวจสอบทุจริตของคณะกรรมการพรรคร่วมฝ่ายค้าน กล่าวถึงการทำหน้าที่ว่า ในส่วนของการต่อสู้คดี ตนได้นำผลคำพิพากษาศาลฎีกาที่ยืนตามศาลอุทธรณ์ยกฟ้องตนในคดีหมิ่นประมาทฯ (อัยการยื่นฟ้องปี 2551) อดีต ผบก.สรรพาวุธ สำนักงานส่งกำลังบำรุง สตช. และ อดีต ผอ.อผศ. แสดงต่อศาลเพื่อให้เห็นข้อเท็จจริงด้วยมูลคดีเป็นเรื่องเดียวกับคดีอาญานี้ซึ่งจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเรื่องการฟ้องซ้ำ ส่วนการทำหน้าที่และเจตนาก็ยืนยันว่าขณะนั้นตนเป็นประธานการตรวจสอบทุจริตของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่ตรวจสอบมากถึง 30-40 เรื่อง ไม่ได้กลั่นแกล้งหรือปรักปรำบุคคลใด เมื่อมีผู้ร้องเรียนเข้ามาเมื่อเห็นว่าพอที่จะมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าน่าจะมีการกระทำก็ได้ตรวจสอบตามขั้นตอน ตนไม่รู้สึกกังวลใจ โดยช่วงที่ตนเป็นประธานคณะทำงานตรวจสอบทุจริตของคณะกรรมการพรรคร่วมฝ่ายค้าน และในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปี 2544-2549 ก็ได้มีการตรวจสอบการจัดซื้อเสื้อเกราะของ สตช.ซึ่งคดีดังกล่าวเป็น 1 ใน 30 กว่าคดีที่มีการตรวจสอบ เช่น คดีทุจริตปุ๋ยปลอม ที่ได้ตรวจสอบภายหลังมีการฟ้องคดีจนเวลา 15 ปี ศาลพิพากษาจำคุกรัฐมนตรีและเลขาฯ รัฐมนตรี ส่วนการตรวจสอบจัดซื้อเสื้อเกราะเวลาผ่านมา 14 ปีแล้ว

“เหมือนทุกคดีที่เราได้รับการร้องเรียนก็ตรวจสอบเบื้องต้น ถ้าเห็นว่าไม่มีมูล ไม่มีเหตุควรสงสัยก็ไม่ได้เปิดการสอบสวน นี่คือการทำหน้าที่ของ ส.ส.และพรรคร่วมฝ่ายค้าน เหมือนการทำหน้าที่ของตำรวจ อัยการ ที่สืบสวนสวนสอบสวนแล้วสั่งฟ้อง ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะชนะทุกคดี การตรวจสอบการทุจริตก็เหมือนกัน แม้ทุกคดีเราก็คาดหวังว่าจะตัดสินลงโทษ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงก็ไม่ใช่อย่างนั้น มีปัจจัยเงื่อนไขหลายประการ แต่การทำหน้าที่ของเราคือการตรวจสอบเบื้องต้น ซึ่งก็ต้องรับความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้อง เป็นเรื่องธรรมดา แต่การพิพากษาลงโทษหรือไม่อยู่ที่ดุลพินิจของศาล”

นายอลงกรณ์กล่าวต่อว่า ตนเชื่อว่าการตรวจสอบการทุจริตโดยการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติมีความสำคัญในการดูแลประโยชน์ของแผ่นดินในการที่จะก่อให้เกิดธรรมาภิบาล ความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง และที่มีการปฏิรูปประเทศ ให้มีการจัดตั้งศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ จะช่วยแก้ปัญหาการคอร์รัปชันได้อย่างมาก ทำให้การพิจารณาตัดสินคดีทุจริตเป็นไปโดยรวดเร็ว รุนแรง ฉับไว ทำให้ผู้ที่ประสงค์ทุจริตต่อบ้านเมือง โกงกินเงินของแผ่นดินก็จะไม่กล้า และลดน้อยลง

กำลังโหลดความคิดเห็น