xs
xsm
sm
md
lg

ศาลแพ่งสั่ง บ.อุตสาหกรรมการบินจ่าย 2.75 ล้าน "น้องโยโย่"นรต.โดดร่มไม่กางดับ! พ่อจ่อยื่นอุทธรณ์(มีคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ศาลแพ่งสั่งบริษัทอุตสาหกรรมการบินและพนักงานสั่งซื้อสายลวดสลิง ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้พ่อน้องโยโย่ นรต.กระโดดร่มไม่กางเสียชีวิต ที่เพชรบุรีเมื่อปี 59 จำนวน 2.75 ล้านบาท เนื่องจากประมาทเลินเล่อ ส่วนจำเลยอื่นให้ยกฟ้อง ด้านพ่อผู้ตายยังติดใจเตรียมอุทธรณ์



วันนี้ (18 ต.ค.) ที่ห้องพิจารณา 703 ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษา คดี พ.250/2559 ที่ นายสาธร พุทธชัยยงค์ บิดาของ นรต.ชยากร พุทธชัยยงค์ หรือน้องโยโย่ ที่กระโดดร่มไม่กางเสียชีวิต จ.เพชรบุรี พร้อมนายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด, พล.อ.อ.วีรนันท์ หาญสวธา, ร.ต.กณพ อยู่สุข, พ.อ.อ.สมชาย อำภา, จ.อ.กีรติ สุริโย, จ.อ.รัชเดช เถาว์เพ็ง, ร.ท.สมเจต สวัสดิรักษา, นายวัชรพงษ์ วงศ์สุบรรณ และนายสุพร ธนบดี จำเลยที่ 1-10 ให้ชดใช้เงินค่าเสียหายจำนวน 40 ล้านบาท เป็นค่าจัดการศพ และค่าขาดไร้อุปการะ โดยคดียื่นฟ้องเมื่อปี 2559

โดยวันนี้ นายสาธร พุทธชัยยงค์ โจทก์และครอบครัว มาฟังคำพิพากษา ส่วนโจทก์อื่นทราบภายหลังว่าได้ถอนฟ้องจำเลยบางคนไปแล้ว จึงมาเพียงบางคน ส่วนจำเลยไม่มีใครมาศาล

ศาลพิพากษาว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยทั้ง 10 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ซ่อมแซมเครื่องบินให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในฐานะเป็นผู้รับจ้าง ส่วนบริษัทอุตสาหกรรมการบิน จำกัด จำเลยที่ 2 เป็นบริษัทรับจ้างช่วงจากจำเลยที่ 1 มีหน้าที่จัดซื้อจัดหาอะไหล่และอุปกรณ์สำหรับเครื่องบินสำเลียงสำหรับกระโดดร่มคาซ่า รวมทั้งการผลิตสายสลิง จำเลยที่ 9 มีหน้าที่สั่งซื้อสายสลิง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 10 มีหน้าที่ควบคุมดูแลการซ่อมแซมอุปกรณ์ของจำเลยที่ 1 จำเลย 5-7 นอกจากนี้ยังต้องตรวจสอบดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐาน พยานโจทก์มี พ.ต.อ.ธนสิทธิ แตงจันทร์ เบิกความว่าได้ควบคุมการติดตั้งแล้วได้แจ้งว่าสายสลิงไม่ได้มาตรฐานไม่แน่นหนาไม่มีความสมมาตร ที่ปลายสลิงมีรอยตัดเป็นวงรีอีกทั้งมีการเจียนทำให้มีขนาดไม่เท่าเดิมนอกจากนี้อุปกรณ์ปอกรัดข้อต่อไม่เหมาะสม ทั้งนักบินได้แจ้งแล้วจำเลยที่ 1 ได้บอกจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ก็ได้บอกจำเลยอื่นเป็นทอดๆ

ดังนั้นเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2556 นายช่วงอากาศยานได้ตรวจซ้ำและพบเห็นดังกล่าว จริงตามที่แจ้งจึงบอกว่าสายชำรุดเกิดจากการใช้งาน เกรงว่าจะเป็นอุปสรรคในการกระโดดร่ม จึงได้แจ้งผู้บังคับบัญชาเพื่อให้กองทัพอากาศซ่อม แต่ซ่อมไม่ได้ จึงต้องจ้างบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด จำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 10 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบอุปกรณ์ดังนั้นความเสียหายจึงไม่ได้เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 10 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 10 จึงไม่ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดไปด้วย ส่วนการกระทำของจำเลยอื่นๆ นั้นเห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับจ้างช่วงของจำเลยที่ 1 และมีจำเลย 9 เป็นลูกจ้าง การติดตั้งลวดสลิงดังกล่าวมีการแจ้งถึงเหตุบกพร่องไปตามลำดับชั้น เช่น จำเลยที่ 2 ดังนั้น เมื่อความผิดพลาดเสียหายเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 9 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ดังนั้นจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดฐานละเมิดไปด้วย มีประเด็นต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยต้องรับผิดต่อผู้เสียหายเป็นจำนวนเท่าใด เห็นว่า การที่จะให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเต็มตามฟ้องหรือไม่ ต้องดูจากความร้ายแรงและพฤติการณ์แห่งละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 438 ซึ่งต้องพิจารณากับ ประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 223ที่ว่า ค่าเสียหายที่จำเลยต้องชดใช้เพียงสถานใด ให้พิจารณาจากพฤติการณ์แห่งความผิดว่าผู้เสียหายมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วยหรือไม่เห็นว่าการฝึกดังกล่าวเป็นการฝึกกระโดดร่วมของนักเรียนนายร้อย ครั้งที่ 1 ของปีการศึกษาในหลักสูตร จะต้องมีการฝึกภาคทฤษฎี 3 สัปดาห์และภาคปฏิบัติ 10 วัน ในการกระโดดร่มจะมีผู้บังคับบัญชาและครูฝึกควบคุม เห็นว่าในการฝึกต่อเที่ยวบิน จะมีการกระโดดร่ม 3 ชุด ชุดละ 9 คน ในการกระโดดครั้งนี้เป็นเที่ยวแรก โดยนรต.ชยากรบุตรของโจทก์อยู่ในสำดับที่ 4 โดยครูฝึกจะคล้องข้อต่อกับลวดสลิง ซึ่งในการฝึกกระโดดร่ม ครูได้แจ้งว่าในการกระโดดร่มระดับ 1200 ฟุต เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2557 โดยการกระโดดร่มจะต้องกระโดดห่างกันคนละ 1 -2 วินาที จากนั้นเมื่อกระโดดพ้นเครื่องลงไปแล้ว นักเรียนจะต้องตะโกนขานรับ 1-5 หรือหมายถึง 1-5 วินาที เมื่อนับถึง 5 ร่างของนักเรียนจะอยู่สูงจากพื้น 700 ฟุต ซึ่งเป็นค่ามาตรฐาน ซึ่งเวลานั้นหากร่มไม่กางนักเรียนจะต้องกระตุกร่มสำรองที่ความสูง 700 ฟุตนั่นเอง แต่จากการตรวจสภาพศพ พยานจำเลยเบิกความว่า นรต.ชยากร ไม่ได้กระตุกร่มสำรอง ขณะที่นักเรียนนายร้อยคนที่ 5,6,7 ซึ่งร่มไม่กางเช่นกัน ได้กระตุกร่มสำรอง ทำให้ปลอดภัยไม่เสียชีวิต เห็นว่าผู้เสียหายเองก็มีส่วนผิดไม่กระตุกร่มสำรอง

ทั้งที่ได้มีการฝึกภาคทฤษฎีและปฏิบัติ หากได้ปฎิบัติตามก็จะไม่เสี่ยชีวิต แต่จำเลยที่ 2 และ 9 เป็นผู้สั่งซื้ออุปกรณ์สายสลิง ย่อมมีส่วนในการกระทำความผิดมากกว่า ดังนั้นที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนมาตามฟ้องนั้น ศาลเห็นว่า สมควรให้ค่าปลงศพจำนวน 2.5 แสนบาท และค่าขาดไร้อุปการะ 2.5 ล้านบาท รวมทั้งหมด 2.75 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีให้กับนายสาธรบิดาของนรต.ชยากร ผู้เสียชีวิต นับตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค. 2559 ซึ่งเป็นวันหลังจากวันฟ้องคดีนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ รวมทั้งให้ชำระค่าทนายความแทนโจทก์อีก 10,000 บาทด้วย

ส่วนจำเลยอื่นๆ ให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า ไม่ได้กระทำการประมาทเลินเล่อ จนทำให้นรต.ชยากรต้องเสียชีวิต ภายหลังฟังคำพิพากษา นายอนันตชัย ไชยเดช ทนายความกล่าวว่า ศาลพิพากษาว่า บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด จำเลยที่ 2 และ จำเลยที่ 9 ซึ่งเป็นพนักงาน เป็นผู้จัดซื้อลวดสลิง มีส่วนกระทำผิด ส่วนจำเลยคนอื่นๆ ที่ติดตั้งสลิงศาลมองว่าไม่มีส่วนผิด อย่างจำเลยที่ 10 ไม่รู้ว่าลวดสลิงที่นำมาติดตั้งเป็นลวดที่ชำรุดบกพร่องที่ไม่มีคุณภาพ ศาลจึงพิพากษาว่าจำเลยที่ 10 ไม่ต้องรับผิด ทั้งนี้โจทก์และตนเคารพคำพิพากษาของศาล แต่ยังไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในบางส่วน โดยเฉพาะประเด็นที่ศาลมองว่าผู้ตาย มีส่วนในการกระทำผิดด้วย เพราะไม่ได้ดึงร่มสำรองช่วย ซึ่งตนเห็นว่าขณะนั้นผู้ตายมีอาการเซจนไปล้มไปโดนครูฝึกซึ่งอยู่ท้ายเครื่องบิน จึงไม่ได้อยู่ในสภาพที่สามารถดึงร่มช่วยได้ ซึ่งประเด็นนี้ทำให้คำพิพากษาในเรื่องค่าเสียหายลดลง และยังคำพิพากษาคนที่ติดตั้งลวดสลิงทั้งหมดไม่มีความผิด มีความผิดเพียงคนจัดซื้อ และอุตสาหกรรมการบินที่เป็นนายจ้างและจะยื่นอุทธรณ์คดีต่อไป

“ค่าเสียหายเรียกไปจำนวน 40 ล้านบาท ได้มาจำนวน 2,750,000 บาท เฉพาะตัวคุณสาทรคนเดียว เพราะ ส่วนโจทย์ที่ 2-4 ได้รับค่าเสียหายในชั้นประนีประนอมยอมความแล้ว จำนวน 2,500,000 บาท ความผิดฐานละเมิดเป็นดุลพินิจศาลในการกำหนดค่าเสียหาย ขณะเดียวกันก็ได้ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ศาลปกครองจ.เพชรบุรี ศาลจึงกำหนดค่าเสียหายมากไม่ได้”

ด้านนายสาทร บิดาน้องโยโย่กล่าวว่า ตนเคารพในคำตัดสินของศาล แต่ไม่เห็นด้วยในประเด็นที่มองว่าลูกชายมีส่วนผิดในการทำให้เกิดเหตุร้ายขึ้น เพราะไม่ดึงร่มช่วยนั้นตนไม่เห็นด้วย เพราะในวันที่เกิดเหตุ เป็นการฝึกกระโดดชุดแรก มีนักเรียนนายร้อยจำนวน 9 คน ลูกชายกระโดดเป็นคนที่ 4 ซึ่งเป็นคนแรกที่ลวดสลิงหลุด โดยมีครูฝึกก็ให้การเป็นพยานว่า หลังจากที่ลูกชายลวดสลิงหลุด ลูกชายเสียการทรงตัว เซไปชนครูฝึก ตนคิดว่าลูกชายไม่ได้กระโดดออกจากเครื่องบินในท่าปกติที่ฝึกมา ดังนั้นจะอุทธรณ์ต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น