xs
xsm
sm
md
lg

ร้อง ปปง.ยึดทรัพย์แชร์ลูกโซ่เหมืองทองคำเคเคที สูญ 1.6 พันล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ผู้เสียหายแชร์ลูกโซ่เหมืองทองคำ เกสูมาโกตา เคเคที ร้อง ปปง. หลังถูกหลอกขายหุ้น โดยคดีนี้ดีเอสไอได้รับเป็นคดีพิเศษ แต่ผู้ต้องหาได้หลบหนีไปประเทศมาเลเซียแล้ว จึงขอให้ติดตามยึดทรัพย์ มูลค่าความเสียหายกว่า 1,680 ล้านบาท

วันนี้ (11 ก.ย.) ที่ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย พร้อมผู้เสียหายจากการถูกหลอกลวงชักชวนให้ลงทุนในคอร์สเหมืองทองคำ ของบริษัทเหมืองทองคำเกสูมาโกตา (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เคเคที เดินทางเข้าเขียนคำร้องทุกข์ต่อ พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาธิการ ปปง. เพื่อให้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินติดตามเงินและทรัพย์สินมาคืนให้กับผู้เสียหาย ซึ่งคดีนี้ มีการแจ้งความตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา จนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้รับเป็นคดีพิเศษที่ 102/60 แล้ว โดยมีนายสนธยา เหลืองเจริญลาภ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและมาตรการ ปปง. เป็นตัวแทนรับเรื่องดังกล่าว

นายสามารถ กล่าวว่า ในวันนี้ทางสมาพันธ์ฯนำเอกสารและข้อมูลของผู้เสียหายที่ถูกหลอกจากบริษัทเกสูมาโกตาฯ ซึ่งอ้างว่าลงทุนเหมืองทองคำ และชักชวนให้บุคคลมาร่วมลงทุนในหุ้นเหมืองทองคำ โดยพฤติการณ์มีการเสนอขายหุ้นละ 2,800 บาท แล้วจะได้รับผลตอบแทนสัปดาห์ละ 200 - 300 บาท โดยจะได้ผลตอบแทนทุกสัปดาห์เมื่อถึงสัปดาห์ที่ 17 ก็จะได้รับเงินต้นคืน ซึ่งผู้เสียหายไม่มีใครได้รับผลตอบแทนตามที่ กล่าวอ้าง อีกทั้ง เมื่อไปติดตามทวงถามเงินต้นก็ไม่ได้รับคืนเช่นกัน ซึ่งมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ทั้งนี้คาดว่ากรณีดังกล่าวจะมีผู้เสียหายหลายพันราย ดังนั้น จึงอยากให้ปปง. ดำเนินการติดตามทรัพย์สินมาคืนให้กลับผู้เสียหายมากที่สุด

นายสามารถ กล่าวอีกว่า คดีนี้ดีเอสไอได้รับเป็นคดีพิเศษที่ 102/2560 แล้ว และได้มีการอายัดทรัพย์สินได้บางส่วน โดยทรัพย์สินของ เคเคที ที่ดีเอสไอ ยึดมาแล้ว ประกอบด้วย 1 เงินสด มูลค่า 1,000,000 บาท ที่ดินและรถยนต์รถแบ็กโฮ 10,000,000 บาท และสิ่งก่อสร้าง 5,000,000 บาท มูลค่ารวมประมาณ 16,000,000 บาท ที่ยึดทรัพย์มาได้ ซึ่งจากการคาดการณ์ความเสียหาย พบว่า ทางเหมืองทองคำ เคเคที ได้มี การประกาศขายหุ้นจำนวน 600,000 หุ้น โดยขายในหุ้นละ 2,800 บาท ดังนั้น จึงคาดการณ์ว่า เงินที่ถูกหลอกให้ลงทุนไปสูญถึง 1,680 ล้านบาท เนื่องจากพบว่า ผู้ต้องหาได้หลบหนีไปประเทศมาเลเซีย จึงได้เดินทางมาร้องทุกข์กับท่านเลขาธิการ ปปง.เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของท่าน ตามกฏหมาย พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542

ด้าน นายธนพงษ์ รู้คงประเสริฐ และ นายวรพงษ์ รู้คงประเสริฐ ผู้เสียหายที่สูญเงินทุนรายละกว่า 6 ล้านบาท กล่าวว่า ตนรู้จักกับบริษัทแห่งนี้ผ่านทางสื่อโซเชี่ยลมีเดียต่างๆ โดยมีการโฆษณาว่าหากร่วมลงทุนกับบริษัทนี้ก็จะได้รับเงินปันผลสูง อีกทั้งตนได้สอบถามไปยังกลุ่มเพื่อนของตนที่ร่วมลงทุนก่อนหน้านี้ก็ทราบว่าได้รับเงินปันผลจริงตามที่มีการโฆษณา จึงทำให้ตนตัดสินใจร่วมลงทุน ซึ่งในช่วงแรกก็ได้ผลตอบแทนจริง จนทำให้ลงทุนไปเรื่อยๆ เป็นเงินประมาณ 8 ล้านบาท ทั้งนี้ ตนได้รับเชิญให้เดินทางไปดูกิจการเหมืองทองคำของบริษัทดังกล่าว ซึ่งอยู่ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งตนไม่ได้พบกับเจ้าของบริษัท มีเพียงพนักงานของบริษัทเท่านั้นที่เป็นผู้พาไป เมื่อไปถึงเหมืองแร่ทองคำก็พบว่ามีกิจการจริง ได้เห็นเครื่องจักรและร่วมร่อนทองด้วย อย่างไรก็ตาม ตนก็ไม่มั่นใจว่าเหมืองทองคำดังกล่าว จะเป็นของบริษัท เกสูมาโกตาฯ จริงหรือไม่

สำหรับแผนการลงทุนที่นำมาใช้จูงใจให้ร่วมลงทุน ระบุว่า บริษัทดังกล่าว เป็นเจ้าของกิจการเหมืองทองในประเทศมาเลเซีย ก่อตั้งเมื่อปี 2537 และขยายกิจการมาเปิดสาขาในประเทศไทยในปี 2559 โดยจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในเดือน มี.ค. 2559 ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท เพื่อประกอบการสินค้าสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ การขายส่งแร่โล่หะที่เป็นเหล็กและนอกกลุ่มเหล็ก ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 45 ม.7 ถ.รามโกมุท ต.ยี่งอ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส โดยต้องการขยายการลงทุนผ่านการขายหุ้น 1 ล้านหุ้น โดยจะจ่ายปันผลทุกวันพฤหัสบดีของสัปดาห์ลงทุนขั้นต่ำหุ้นละ 280 บาทปันผลสัปดาห์ละ 200 บาท ครบ 17 สัปดาห์คืนทุน หากลงทุน 100 หุ้น 280,000 บาท ปันผลสัปดาห์ละ 20,000 บาท ครบ 17 สัปดาห์รับเงิน 880,000 บาท ในระยะแรกผู้ร่วมลงทุนได้รับเงินปันผลตามกำหนด กระทั่งเดือนพ.ย. 2559 บริษัทหยุดจ่ายเงินปันผลอ้างว่าจะนำเงินมาคืนในเดือน ม.ค. 2560 และเลื่อนไปเป็นเดือนก.พ. แต่สุดท้ายไม่มีการชำระค่าเสียหาย

กำลังโหลดความคิดเห็น