MGR Online - ป.ป.ท.จี้สอบคดีช่างตัดผมชาวซีเรียถูกอุ้มรีดเงิน ชี้หากมี ขรก.ระดับสูงกว่าซี 8 ต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.เชือดต่อ ด้านทนายล่ามชี้พิรุธแก๊งมีสีลวงเหยื่อออกจากที่พัก ก่อนพาตัวไปพบ ผกก.กลางดึก เป็นการกระทำผิดขั้นตอน เชื่อกระทำเป็นขบวนการจึงต้องพึ่ง ยธ.ขอเข้าระบบคุ้มครองพยาน ด้าน “ศานิตย์” ลั่น 99.9 เปอร์เซ็นต์ ตำรวจทำงานเอง ย้ำไม่ควรเรียกอาสาตำรวจ
สืบเนื่องจากนายอัลฮลาบิ โมฮัมหมัด ยาสเซอร์ อายุ 47 ปี ชาวซีเรีย พร้อมด้วยนายปัณชพัฒน์ เลิศธีรเรืองกุล ล่ามแปลภาษา มาขอความเป็นธรรมต่อ พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กรณีนายอัลฮลาบิ โมฮัมหมัด วาเอล ลูกชาย อายุ 23 ปี ชาวซีเรีย ถูกอาสาสมัครตำรวจ สน.ลุมพินี จับกุม และพาไปที่ สน.ลุมพินี ดำเนินคดีข้อหาอยู่อาศัยในประเทศไทยเกินระยะเวลาที่กำหนด และโดนรีดไถเงินไปกว่า 5.5 แสนบาทแลกการปล่อยตัว แต่กลับถูกส่งตัวไปสถานกักตัวคนต่างด้าว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สวนพลู กทม.เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา กระทั่งล่าสุดกระทรวงยุติธรรมได้ประสานสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว
วันนี้ (23 ส.ค.) นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการ ป.ป.ท.เปิดเผยว่า ป.ป.ท.ได้รับมอบหมายดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงหากพบผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ตำแหน่งข้าราชการต่ำกว่าซี 8 จะเป็นอำนาจของ ป.ป.ท. หากเป็นข้าราชการระดับสูงกว่าซี 8 ขึ้นไปจะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. แต่ถ้าไม่ได้เป็นข้าราชการ ก็จะส่ง สน.ท้องที่เกิดเหตุ ดำเนินคดีตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเรียกรับผลประโยชน์จริงก็ต้องพิจารณาว่าอยู่ในอำนาจที่ ป.ป.ท.ตรวจสอบได้หรือไม่ หากอยู่ก็จะเสนอตั้งอนุกรรมการสอบสวน ขณะนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงทุกอย่างก่อน
ด้านนายปัณชพัฒน์เผยว่า นายยาสเซอร์โทรศัพท์มาบอกว่าตำรวจ สน.ลุมพินี บอกให้คนรู้จักหลอกให้ออกจากห้องพักย่านสุขุมวิท เวลาประมาณ 19.00 น. ก่อนพาตัวไปพบ ผกก.สน.ลุมพินี และให้เซ็นเอกสารบางอย่างซึ่งไม่แน่ใจว่านายยาสเซอร์จะรู้ความหมายในเอกสารที่ตำรวจให้เซ็นหรือไม่ หลังจากนั้นตำรวจปล่อยตัวกลับที่พักในเวลา 01.00 น. รวมถึงอาสาตำรวจ สน.ลุมพินี 3 คนที่เป็นต้นเรื่องนี้ หากไม่มีตำรวจหนุนหลังจะกล้าทำเรื่องดังกล่าวหรือไม่
“การที่ตำรวจหลอกให้นายยาสเซอร์ออกจากที่พักขณะเก็บตัว เป็นการกระทำผิดขั้นตอน เพราะขณะนี้ผู้เสียหายกำลังจะเข้าระบบคุ้มครองพยานของกระทรวงยุติธรรม ตำรวจทำแบบนี้ไม่ถูกต้อง และที่ผ่านมานายยาสเซอร์เคยไปร้องเรียนหลายหน่วยงานจนสุดท้ายต้องมาพึ่งกระทรวงยุติธรรม ซึ่งก็ได้รับความเป็นธรรม โดยเวลา 10.00 น.วันที่ 24 ส.ค. นายยาสเซอร์จะเดินทางไปกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อแจ้งความดำเนินคดี และขอเข้าระบบคุ้มครองพยาน”
ด้าน พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น. ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวผู้จัดการออนไลน์ ถึงกรณีมีผู้แอบอ้างเป็นตำรวจอาสา สน.ลุมพินี รีดไถเงิน 6 แสนบาท ของชาวซีเรียแลกกับการที่ไม่ต้องถูกดำเนินคดีข้อหาอยู่ในราชอาณาจักรไทยเกินเวลา ว่าไม่ควรจะเรียกว่าอาสาตำรวจ ต้องเรียกว่าคนช่วยงานตำรวจ ความจริงผู้ที่ทำหน้าที่ในโรงพักคือตำรวจ โดยส่วนมากอาสาตำรวจจะอยู่ตามภูธร ส่วนในนครบาลกว่า 99.9 เปอร์เซ็นต์จะเป็นตำรวจที่ทำงานเองมากกว่า