รายการ “ข่าวลึก ปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม ผู้จัดการ 360 วันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม 2560 ตอน ยกเครื่องผู้บริหารมหา'ลัย ถ่ายเทน้ำเน่า-ไม่เอาทหาร
วันนี้มาพูดถึงเรื่องการแก้ไขปัญหาการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐบาลพลเอกประ ยุทธ์ จันทร์โอชา โดยการใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่37/2560ให้สถาบันอุดมศึกษามีอํานาจแต่งตั้งบุคคลใดที่มิได้เป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา หรือเป็นพนักงานในสถาบันฯมาดํารงตําแหน่งอธิการบดี ลงมาถึงคณบดีหรือหัวหน้าหน่วยงานที่มีฐานะเทียบเท่าคณะได้
การออกคำสั่งยกเครื่องสถาบันอุดมศึกษาในครั้งนี้ ถ้าถามว่ากลไกการบริหารสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นอยู่ดีอยู่แล้วมั้ย? ต้องตอบว่า ไม่อย่างแน่นอน และการใช้กลไกอำนาจจากการรัฐประหารแก้ไขปัญหาการแต่งตั้งผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นส่วนราชการและเป็นนิติบุคคล เหมาะสมมั้ย? ยิ่งต้องตอบว่า ไม่ OK
หากมองจากสภาพความเป็นจริง ภารกิจของสถาบันอุดมศึกษา ตามกำหนดของ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. ที่ประกอบด้วยภารกิจ 4 ประการคือ ผลิตบัณฑิต วิจัย บริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม แค่ภารกิจแรกก็ล้มเหลวแล้วทั้งระบบ
ภารกิจที่แท้จริงของสถาบันอุดมศึกษา คือผลิตบัณฑิตให้ได้ประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ไม่ใช่การผลิตบัณฑิตที่ไม่มีหน่วยงานใดรับเข้าทำงานและไม่สามารถประกอบอาชีพอิสระได้ หรืออย่างดีควรผลิตนักวิชาการ นักวิจัย หรืออาจารย์
ยังมีการหาประโยชน์จากการบริการวิชาการ เรียกเก็บผลประโยชน์จากการบริการวิชาการคือการขายคอร์สอบรม หรือการใช้ตำแหน่งทางวิชาการและชื่อเสียงของสถาบันหาประโยชน์นอกระบบให้ตนเองและพวกพ้อง
โดยเฉพาะ ปัญหาการแย่งชิงตำแหน่งบริหารผ่านระบบเส้นสาย เด็กใครเด็กมัน พวกมากลากไป อาศัยช่องว่างต่างๆ นานา เช่น การให้ทุนวิจัยเอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่ม
ปัจจุบัน สถาบันอุดมศึกษาโดยสภามหาวิทยาลัยมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งอธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดี ซึ่งมีทั้งมาจากหลายวิธี เช่น การเสนอชื่อ เลือกตั้ง คัดสรร หรือข้อตกลงหมุนเวียนตำแหน่งเป็นการภายในตั้งแต่ระดับภาควิชา และระดับคณะขึ้นไป
คำสั่งหัวหน้า คสช.35/60 จึงเหมือนมีดผ่าตัดมาแก้ประเด็นปัญหาในแวดวงอุดมศึกษาที่หมักหมมมาอย่างยาวนาน
ทั้งกรณีทุจริตประพฤติมิชอบ ใช้ตำแหน่งทางวิชาการ และสถานะข้าราชการ-พนักงานมหาวิทยาลัยไปหาประโยชน์นอกรั้วสถาบันการศึกษาที่เคยปรากฏเป็นข่าวผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาจำนวนมากไม่ยอมยื่นบัญชีทรัพย์สินกับ ปปช.
อีกทั้งปัญหาความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ภายในที่น้ำเน่ายิ่งกว่านักการเมือง ถึงขนาดควักปืนมายิงกันในห้องพักอาจารย์ ทั้งหลายทั้งปวงล้วนเกิดจากความผิดพลาด ไร้จรรยาบรรณ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือผู้บริหารไม่มีฝีมือในการบริหารสถาบันอุดมศึกษา
ประเด็นคำสั่งคสช. ฉบับ วิเคราะห์ได้สองทาง คือนอกจากประการแรกเป็นการแก้ไขปัญหาที่หมักหมมกันมาอย่างยาวนาน ทั้งขยะใต้พรมของ สกอ.และการฮั้วกันของสถาบันอุดมศึกษา
ประการที่สองคือถ้าย้อนไปดูนโยบายหนึ่งของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เคยเป็นข่าวครึกโครมในแวดวงการศึกษาช่วงหนึ่ง คือการเปิดเสรีทางการศึกษา อนุญาตให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศมาเปิดในไทยได้อย่างอิสระ
ประเด็นนี้เกิดจากสภาพปัจจุบันที่วงการการศึกษากำลังพูดกันมากคือการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเน้นกันที่การเสริมสร้างทักษะของผู้เรียนให้จบออกไปเผชิญกับโลกความเป็นจริงที่ต้องแข่งขันกันในตลาดแรงงานที่พัฒนาไปมากในยุค 4.0
อันนำไปสู่ความต้องการและการเรียกร้องให้มืออาชีพในสาขาวิชาต่างๆเข้ามาสอนแทน พร้อมกับการถ่ายน้ำเสียน้ำเน่า ที่เป็นผู้บริหารสถานศึกษาที่ไร้ประสิทธิภาพ ออกไป
การแก้ไขปัญหาด้วยมาตรการนี้ มองอีกด้านที่น่าจะเป็นข้อเสีย ก็คือ ห่วงว่ารัฐบาลและคสช. จะอาศัยช่องทางที่เปิดไว้ส่งสีเขียวเข้ามายึดสถาบันอุดมศึกษา เหมือนเป็นอยู่กับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั้งหลาย ถ้าไม่ทำก็ควรจะส่งเสียงยืนยันดังๆมา ครูบาอาจารย์จะได้สบายใจ