xs
xsm
sm
md
lg

กรมคุ้มครองสิทธิฯ พัฒนาการคุ้มครองพยานและเหยื่อในคดีค้ามนุษย์ร่วมอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - กรมคุ้มครองสิทธิฯ พัฒนาทักษะ “การคุ้มครองพยานในคดีค้ามนุษย์อาเซียน” หลังได้กำหนดให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนตั้งแต่ปี 47 เพื่อการคุ้มครองพยานและเหยื่อร่วมกับประเทศในเครืออาเซียน

วันนี้ (15 ส.ค.) เวลา 10.00 น. ณ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ จ.นครปฐม ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการคุ้มครองพยานในคดีค้ามนุษย์อาเซียน โดยมี น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และ ผู้แทนจากประเทศสมาชิกในภูมิอาเซียน อาทิ มาเลเซีย ลาว อินโดนิเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ กัมพูชา และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เข้าร่วม

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี พ.ศ. 2559 อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป้าหมายร่วมกันประการหนึ่งในการรวมตัวของประเทศในกลุ่มอาเซียน คือ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านความร่วมมือระหว่างกันในทุกด้าน และการรวมตัวกันยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางสังคม และเศรษฐกิจหลายประการต่อประเทศสมาชิกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงการทวีความรุนแรงและความซับซ้อนของปัญหาอาชญากรรม โดยเฉพาะปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งประเทศไทยได้กำหนดให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนและจริงจัง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา เพราะถือว่าการค้ามนุษย์ เป็นการทำลายซึ่งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง การเปลี่ยนแปลงและปัญหาที่กล่าวมานั้น ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินกระบวนการยุติธรรม และภารกิจคุ้มครองพยานของประเทศสมาชิกอาเซียน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับบทบาท โครงสร้างองค์กร และการพัฒนาบุคลากร ให้สอดคล้องกับกระบวนการยุติธรรมภายใต้บริบทประชาคมอาเซียนที่มีมิติด้านความหลากหลาย และความยากลำบากในการแสวงหาพยานหลักฐาน เพื่อนำมาพิสูจน์ความจริงในการพิจารณาคดีทางอาญา

น.ส.ปิติกาญจน์ เปิดเผยว่า กรมคุ้มครองสิทธิฯ ได้เข้าร่วมประชุมเครือข่ายอาเซียนเพื่อการคุ้มครองพยานและเหยื่อ ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการประชุมระดับภูมิภาคด้านการปฏิบัติภารกิจคุ้มครองพยาน เหยื่อ และผู้ให้เบาะแสในคดีอาญา และนับเป็นการเสริมสร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างเครือข่ายสมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียน โดยที่ประชุมได้มีความเห็นร่วมกันถึงแนวทางในการสนับสนุนความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากรและการพัฒนาระบบการคุ้มครองพยาน ให้เอื้อประโยชน์ร่วมกันในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยในส่วนของการพัฒนาบุคลากรนั้น ประเทศไทยได้ให้คำมั่นต่อที่ประชุมในการรับเป็นเจ้าภาพจัดฝึกอบรมยุทธวิธีให้แก่เจ้าหน้าที่คุ้มครองพยานภายในกลุ่มประเทศสมาชิก เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความพร้อมของประเทศ และการเข้าไปมีส่วนร่วมในบทบาทของการเป็นผู้นำด้านการพัฒนาบุคลากรในด้านการคุ้มครองพยานในอนาคต

น.ส.ปิติกาญจน์ กล่าวอีกว่า กรมคุ้มครองสิทธิฯ โดยสำนักงานคุ้มครองพยาน ในฐานะหน่วยงานหลักตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 จึงได้จัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตร “การคุ้มครองพยานในคดีค้ามนุษย์อาเซียนขึ้นระหว่างวันที่ 14 - 18 ส.ค. 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานที่มีภารกิจในการคุ้มครองพยานภายในประเทศ และประเทศสมาชิกอาเซียน พร้อมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการคุ้มครองพยานคดีค้ามนุษย์ระหว่างผู้เข้ารับการฝึกอบรมอันจะนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ที่มีลักษณะเฉพาะด้านและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการคุ้มครองพยานในคดีค้ามนุษย์ รวมถึงจะทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ร่วมกันสังเคราะห์ความรู้ ประสบการณ์ และมีทักษะเชิงยุทธวิธีในการปฏิบัติงานคุ้มครองพยานในคดีค้ามนุษย์ สามารถนำไปเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเป็นหลักสูตรการคุ้มครองพยานขั้นสูงได้

ด้าน ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ กล่าวว่า การคุ้มครองพยานมีความสำคัญต่อการดำเนินคดีเป็นอย่างยิ่ง โดยรัฐธรรนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กำหนดให้บุคคลซึ่งเป็นพยานในคดีอาญา มีสิทธิได้รับความคุ้มครอง การปฎิบัติที่เหมาะสม และค่าตอบแทนที่จำเป็นและสมควรจากรัฐ และต่อมาได้ตราพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2546 เพื่อให้เป็นกฎหมายกลาง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกระเบียบแนวปฏิบัติในการคุ้มครองพยานในคีอาญา ซึ่งที่ผ่านมา มีผลสัมฤทธิ์เป็นที่พอใจ โดยเฉพาะคดีค้ามนุษย์ ซึ่งมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2559 กำหนดให้กระทรวงยุติธรรมร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการคุ้มครองพยานคดีค้ามนุษย์ กอรปกับประเทศไทยได้เข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป้าหมายร่วมกันประการหนึ่งในการรวมตัวของประเทศในกลุ่มอาเซียน คือ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านความร่วมมือระหว่างกันในทุกด้าน และการรวมตัวกันยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางสังคม และเศรษฐกิจหลายประการต่อประเทศสมาชิกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงการทวีความรุนแรงและความซับซ้อนของปัญหาอาชญากรรม โดยเฉพาะปัญหาการค้ามนุษย์ สำหรับประเทศไทยได้กำหนดให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนและจริงจัง การเปลี่ยนแปลงและปัญหาที่กล่าวมานั้น ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินกระบวนการยุติธรรมและภารกิจคุ้มครองพยานของประเทศสมาชิกอาเซียน

“ทั้งนี้ กลุ่มประเทศในอาเซียน ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้มีการจัดประชุมเครือข่ายอาเซียน ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เพื่อการคุ้มครองพยานและเหยื่อ ในการนี้ ประเทศไทยได้รับมอบเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานคุ้มครองพยานและเหยื่อให้แก่เจ้าหน้าที่คุ้มครองพยานภายในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ให้มีความรู้ ความสามารถ เท่าทันต่อสถานการณ์ตามกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น การจัดโครงการในครั้งนี้ จึงนับได้ว่าเป็นโอกาสอันดีในการประสานการทำงานร่วมกันทุกมิติของการคุ้มครองพยานคดีค้ามนุษย์ ไม่ว่าด้านองค์ความรู้ การแลกเปลี่ยนปัญหาอุปสรรคและประสบการณ์ ระหว่างผู้เข้ารับการฝึกอบรมของแต่ละประเทศ อันจะนำไปสู่การประสานความร่วมมือและการพัฒนาองค์ความรู้ที่มีลักษณะเฉพาะด้านการคุ้มครองพยานในคดีค้ามนุษย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่พยานในคดีค้ามนุษย์ของประเทศในอาเซียนต่อไป”

กำลังโหลดความคิดเห็น