รายการ “ข่าวลึก ปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม ผู้จัดการ 360 วันพฤหัสบดีที่ 3 สิงหาคม 2560 ตอน คสช.สั่งผิดไปแล้ว เอาตำรวจสอบสวนคืนมา
ปัญหาการขาดแคลนพนักงานสอบสวน ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่กำลังเป็นประเด็นถูกวิพากษ์วิจารณ์ในขณะนี้ หลังจากพบว่าสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย 2 มีพนักงานสอบสวนปฏิบัติหน้าที่อยู่เพียงแค่ 3 นาย จากอัตราพนักงานสอบสวนทั้งหมด 12 นาย แต่ต้องดูแลคดี 1 พันกว่าคดี
ปัญหาพนักงานสอบสวนขาดแคลนต้องยอมรับว่าเป็นผลพวงมาจากการยุบตำแหน่งพนักงานสอบสวน ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่ 7/2559
ตั้งแต่ช่วงแรกๆที่มีการใช้มาตรา 44 ยุบตำแหน่งพนักงานสอบสวน ก็มีการตั้งคำถามถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในการอำนวยความยุติธรรมทางคดีอาญา และการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในสถานีตำรวจต่อประชาชนจะมีปัญหามากน้อย แค่ไหน และอย่างไร
ซึ่งครั้งนั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำโดยพล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยกคณะทำงาน มาตั้งโต๊ะแถลงชี้แจงการยุบตำแหน่งพนักงานสอบสวนตามคำสั่ง คสช. จะไม่มีผลใดๆต่อประชาชน
ที่สำคัญโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันด้วยซ้ำว่า นอกจากไม่ส่งผลกระทบประชาชนแล้ว ยังเพิ่มประสิทธิภาพงานสอบสวนในการดูแลความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งพนักงานสอบสวนจะมีขวัญกำลังใจเพิ่มขึ้น
เพราะยุบพนักงานสอบสวนปรับเข้าสู่ตำแหน่งหลักแล้วการปรับย้ายทางข้าง และการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น จะทำให้พนักงานสอบสวนสามารถเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับผู้บริหารงานตำรวจที่มีความรอบรู้ หลากหลายมิติในระบบงานตำรวจ
หนึ่งปีเศษๆ นับตั้งแต่มีคำสั่ง คสช. ออกมาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 ผ่านการแต่งตั้งระดับ “นายพัน” ตำแหน่ง สารวัตร ถึง รองผู้บังคับการ ประจำปี มา 2 ครั้ง คือวาระประจำปี 2558 และวาระประจำปี 2559 ปรากฏว่า ขวัญและกำลังใจพนักงานสอบสวนกลับลดลง การแต่งตั้งโยกย้าย การเลื่อนตำแหน่งดีเฉพาะบางกลุ่ม บางพวก บางฝ่ายเท่านั้น
เพราะเมื่อมีการโล๊ะตำแหน่งพนักงานสอบสวน เปิดทางแต่งตั้งโยกย้ายข้ามสายได้ แม้ผลดีจะทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีตำแหน่งในการแต่งตั้งเพิ่มขึ้น ทุกเก้าอี้ที่เคยมีอยู่ทั้งสายปราบปราม จราจร สืบสวน สอบสวน และอำนวยการ นำมาคลุกเคล้ารวมกันได้หมด
ทว่าก็กลายเป็นช่องโหว่ กลายเป็นช่องว่างกลายเป็นโอกาสให้เฉพาะพนักงานสอบสวนเดิมที่เป็นนักเรียนนาย(นรต.) ขยับโยกย้ายไปอยู่สายงานอื่นเกือบ80-90 %
เพราะนักเรียนนายร้อยมีรุ่น มีช่องทาง มีโอกาสในการเติบโต รวมทั้งส่วนใหญ่ก็อยากอยู่สายงานอื่นทั้งสายป้องกันปราบปราม สายสืบสวน สายจราจร ที่มีเพาเวอร์มากกว่าอยู่สายงานสอบสวน
พนักงานสอบสวน ที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่จึงเป็นเหล่านักเรียนนายร้อยอบรม(นรบ.) ที่ไม่มีรุ่น ไม่มีเส้น ไม่มีสาย ที่จะโยกย้ายไปอยู่สายงานอื่นๆ ทำให้ขวัญกำลังใจต่างๆก็ลดลง
พนักงานสอบสวนนรบ. เสมือนลูกเมียน้อย ต่างรู้สึกว่าการยุบแท่งพนักงานสอบสวนไม่ได้ยกระดับให้พนักงานสอบสวนได้ดี ได้เติบโต อย่างที่ผู้บังคับบัญชาบอกไว้ ประสิทธิภาพการทำงานจึงเป็นไปตามขวัญและกำลังใจที่ถูกบั่นถอน
ผู้บริหารสตช. ก็รับรู้ว่าการขาดแคลนพนักงานสอบสวนมาจากปัญหาตำรวจหนีงานสอบสวน ไม่มีใครอยากทำงานสอบสวน เพราะเป็นงานหนัก อยากไปทำงานด้านปราบปราม สืบสวน จราจร มากกว่า และยอมรับในการแต่งตั้งโยกย้ายที่ผ่านมาก็เกิดปัญหาย้ายหนีงานสอบสวน
นอกจากพนักงานสอบสวนวิ่งหนีงานสอบสวนแล้ว การใช้งานพนักงานสอบสวนที่ไม่เต็มประสิทธิภาพ ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้เกิดการขาดแคลนพนักงานสอบสวนเกิดขึ้น เพราะพนักงานสอบสวนโรงพักบางส่วนถูกระดับกองบังคับการ ระดับกองบัญชาการ หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปใช้งานทำคดีที่ผู้บังคับบัญชารับคดีมาจากการร้องเรียน
ทำให้ส่งผลกระทบกับพนักงานสอบสวนโรงพักไม่เพียงพอ รวมทั้งการขอตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวนไปช่วยราชการสำนักงานผู้บังคับบัญชาก็มีจำนวนมาก
ดังนั้นหากพล.ต.อ.จักรทิพย์ ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะแก้ปัญหาการขาดแคลนพนักงานสอบสวน ระยะสั้นต้องนำบุคลกรด้านงานสอบสวน ทั้ง ผกก.นิติกร พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ ที่ตำแหน่งอยู่ระดับ บก.และบช. เข้ามาช่วยเสริมโรงพักที่มีปัญหาขาดแคลนพนักงานสอบสวน
เรื่องที่สำคัญ ต้องออกคำสั่งให้พนักงานสอบสวนที่ไปช่วยงานสำนักงานผู้บังคับบัญชาทุกกรณีกลับมาตำแหน่งเดิม
ต้องเสริมสร้างขวัญกำลังใจในการทำงานให้กับพนักงานสอบสวนเพิ่มขึ้น เปิดทางให้เบื่อนขั้นขึ้นตำแหน่งได้ในแท่งสอบสวน เพื่อจูงใจให้ตำรวจที่ไม่มีเส้น ไม่มีสาย ได้เจริญก้าวหน้า โดยพึ่งผลงานความสามารถของตัวเองไม่ต้องวิ่งเต้นซื้อตำแหน่ง
ถ้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่สามารถแก้ปัญหาพนักงานสอบสวนได้ ก็ควรพิจารณาตัวเองว่าที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจ มีการโอนพนักงานสอบสวนไปให้อัยการ ไปให้หน่วยงานอื่น นั้นสมควรแล้วหรือยัง.