xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : จุดจบ คดี 7 ตุลาฯ บทพิสูจน์ วัชรพล - ป.ป.ช. (ตอน1)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


รายการ “ข่าวลึก ปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม ผู้จัดการ 360 วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม 2560 ตอน จุดจบ คดี 7 ตุลาฯ บทพิสูจน์ วัชรพล-ป.ป.ช. (ตอน1)



สัปดาห์นี้ แวดวงการเมือง พุ่งความสนใจไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพราะจะมีเหตุการณ์สำคัญทางคดีความและการเมืองเกิดขึ้นสองวันติดต่อกัน 

เริ่มจากวันแรก1 ส.ค. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปแถลงปิดคดีรับจำนำข้าว ท่ามกลางข่าวว่า อดีตส.ส.เพื่อไทย จะเดินทางไปให้กำลังใจกันมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา รวมถึงมวลชนผู้สนับสนุนยิ่งลักษณ์ ตระกูล ชินวัตร และเพื่อไทย ก็จะจัดระดมมวลชนทั่วประเทศไปหน้าศาลฎีกาด้วย

จากนั้น คือวันพุธที่2ส.ค. จะเป็นวันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ นัดอ่านคำพิพากษาในคดีสลายการชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือคดี7ต.ค.2551  ที่มีสองอดีตนายกรัฐมนตรี ตกเป็นจำเลย หลัง ป.ป.ช.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี,พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรีในขณะเกิดเหตุ, 

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ น้องชาย บิ๊กป้อม พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา157   ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงฟ้องในความผิดตามพ.ร.บ.ป ป ช. พ.ศ.2542

 คดี7 ต.ค.เป็นคดีที่ประชาชนทั้งประเทศให้ความสนใจ ไม่ใช่แค่มวลชนพันธมิตรฯ สังคมยังลุ้นและติดตามผลคำพิพากษาของศาลฎีกาฯที่จะออกมา ในวันพุธนี้ หากไม่มีการเลื่อนอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาฯออกไป

ข่าวลึก ปมลับ ไม่ขอก้าวล่วง การวินิจฉัยคดีขององค์คณะฯ เพียงแต่อยากว่าคดี7ต.ค. มีอะไรบ้างที่ต้องจับตาและติดตาม

โดยเฉพาะเรื่องสำคัญ คือท่าทีของคณะกรรมการป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน ที่มีพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ อดีตรักษาการผบ.ตร.หลังคสช.ทำปฏิวัติ เป็นประธาน เพราะต้องไม่ลืมว่า กรรมการป.ป.ช.เสียงข้างมากในปัจจุบัน คือ5  คนคือพล.ต.อ.วัชรพล –วิทยา อาคมพิทักษ์-นางสุวณา สุวรรณจูฑะ -สุรศักดิ์ คีรีวิเชียร-พล.อ.บุญยวัจน์ เครือหงส์

 ทั้งหมด5 คน เข้ามาหลังจากที่ ป.ป.ช.มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯในคดีนี้ไปแล้ว ซึ่งในคดีนี้ ทั้งการไต่สวน ชี้มูลคดี จนกระทั่งการทำสำนวนฟ้องคดี 7ต.ค.  ต่อศาลฎีกาฯ หลังอัยการมีความเห็นแย้งกับป.ป.ช. จนอัยการตีสำนวนกลับ ทำให้ป.ป.ช.ต้องไปจ้างทนายความมาเขียนสำนวนฟ้องคดีนั้น เกิดจากป.ป.ช.ยุคก่อนหน้านี้

โดยเฉพาะ อดีตสองป.ป.ช.คนสำคัญ ที่มีบทบาทในคดีนี้คือ กล้าณรงค์ จันทิก และวิชา มหาคุณดังนั้น ที่มาที่ไปของคดีนี้ จึงเกิดจากป.ป.ช.ชุดก่อน ที่มีปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธาน ไม่ได้จากป.ป.ช.ยุค วัชรพล หรือบิ๊กกุ้ย เป็นประธาน จึงทำให้ ป ป ช.เสียงข้างมากในปัจจุบัน ก็อาจไม่ได้รู้สึกมีส่วนร่วมอะไรมากกับคดีนี้

และนอกจากประชาชนต้องติดตามคำพิพากษาของคดีที่จะออกมาแล้ว ก็จับตาท่าทีของป.ป.ช.กันด้วยว่าจะมีปฏิกริยาทางคดี ออกมาอย่างไรเพราะต้องไม่ลืมว่า รธน.ฉบับปัจจุบันในมาตรา195มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงใหม่ ที่บัญญัติให้การอุทธรณ์คดีต่อศาลฎีกาฯ ทำได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังให้ ฝ่ายโจทก์อุทธรณ์คดีได้เช่นกัน

จากเดิมที่โจทก์อุทธรณ์คดีไม่ได้ ทำให้บางคดี พอศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ตัดสินยกฟ้องหรือลงโทษจำเลยบางคน แต่ไม่ลงโทษจำเลยในสำนวนบางคน ก็ทำให้ฝ่ายโจทก์อย่าง ป ป ช.ก็ไม่สามารถอุทธรณ์คดีได้

เช่น คดีกล้ายางพารา- คดีการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร -คดีหวยบนดินแต่หลังจากนี้ โจทก์ ไม่ว่าจะเป็นอัยการหรือป.ป.ช.ก็สามารถอุทธรณ์คดีได้แล้ว โดยเฉพาะหากคดีไหน สังคม เห็นว่า อัยการหรือป.ป.ช.ควรอุทธรณ์เพื่อสู้คดีให้ถึงที่สุด

คดีนี้จะถึงจุดจบอย่างไร ยังมีคำถามถึง ฝ่ายโจทก์คือปปช. จะเข้าเดินหน้าหรือเข้าเกียร์ถอย พรุ่งนี้มาว่ากันต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น