xs
xsm
sm
md
lg

รอฟังคำสั่ง “พล.ท.มนัส-โกโต้ง” พลเรือน 103 ราย ร่วมค้ามนุษย์โรฮีนจา ญาติรอลุ้นจนแน่นศาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดี “พล.ท.มนัส-โกโต้ง” อดีตนายก อบจ.สตูล พร้อมพลเรือน 103 ราย ร่วมกระทำผิดค้ามนุษย์โรฮีนจา โดยกระทำเป็นขบวนการ จัดส่งผู้เสียหายชาวบังกลาเทศและพม่าไปประเทศที่ 3 วันนี้ โดย จนท.ราชทัณฑ์ได้เบิกตัวจำเลยทั้งหมดมาฟังคำพิพากษา และเปิดโอกาสให้ญาติเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีด้วยจนแน่นศาล

วันนี้ (19 ก.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดี 701 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาค้ามนุษย์โรฮีนจา ที่พนักงานอัยการยื่นฟ้อง นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง หรือเสี่ยโต้ง อดีตนายก อบจ.สตูล, พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก และกลุ่มข้าราชการกับพลเรือน เป็นจำเลย 11 สำนวน รวม 103 คนว่า ภายหลังที่แผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญาสืบพยานจำเลยนัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมาแล้ว

กรณีเมื่อระหว่างต้นเดือน ม.ค. 2554 - 1 พ.ค. 2558 ต่อเนื่องกัน มีขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติชักชวนหลอกผู้เสียหายชาวบังกลาเทศ ชาวโรฮีนจา หรือโรฮิงญา จากประเทศบังกลาเทศ และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ (พม่า) จำนวน 80 คนเพื่อมาทำงาน โดยมีการชักชวนผู้เสียหายให้หลงเชื่อว่าจะพาเดินทางมายังประเทศไทยแล้วจะจัดส่งไปประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะได้รับเงินค่าตอบแทนสูงถึง 60,000 บาท โดยลักลอบขนผู้เสียหายจากกลางทะเลทั้งในเขตน่านน้ำต่างประเทศและประเทศไทย ขณะที่ผู้เสียหายซึ่งถูกหลอกมานั้นบางรายอายุไม่เกิน 15 ปี และหากมีการขัดขืนจะถูกใช้กำลังบังคับจากผู้คุมที่มีอาวุธปืน มีด ไม้ และแส้ และหากพบว่าผู้เสียหายคนใดมีเบอร์โทรศัพท์ญาติมาก็จะเก็บเบอร์โทรศัพท์ไว้เพื่อใช้เรียกค่าไถ่ พร้อมกับทรมานผู้เสียหายจนส่งเสียงร้องได้ยินเข้าไปในโทรศัพท์เพื่อให้ญาติส่งเงินมาเรียกค่าไถ่ด้วย

ส่วนการลำเลียงผู้เสียหายจะพาไปขึ้นฝั่งที่ จ.ระนอง ผ่าน จ.สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช และพัทลุง เพื่อไปยัง อ.ปาร์ดังเบซา จ.สงขลา แล้วพาผู้เสียหายเดินเท้าไปยังเทือกเขาแก้วเข้าแคมป์ซึ่งมีสภาพความเป็นอยู่อย่างแออัด ถูกบังคับให้นอนสลับหัวเท้า และมีการทรมานผู้เสียหายเพื่อใช้ในการเรียกค่าไถ่ หากไม่มีญาติมาไถ่ตัวก็จะขายผู้เสียหายรายละ 60,000-70,000 บาท ซึ่งระหว่างการควบคุมตัวนั้นมีการจำกัดอาหารและน้ำดื่ม ส่งผลมีผู้เสียหายหลายรายที่เสียชีวิต โจทก์จึงขอให้ศาลลงโทษ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 4, 6, 9, 10, 11, 13, 52, 53/1, พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2546 มาตรา 3, 5, 6, 8, 25, พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 62, 64 พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199, 270, 309, 312, 312 ทวิ, 312 ตรี, 313, 320, 371

ทั้งนี้ สำหรับคดีค้ามนุษย์โรฮีนจานั้น พนักงานอัยการคดีค้ามนุษย์ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายบรรจง หรือจง ปองพล จำเลยที่ 1, นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง หรือเสี่ยโต้ง อดีตนายก อบจ.สตูล จำเลยที่ 29, พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก จำเลยที่ 54 กับพวกซึ่งเป็นข้าราชการและพลเรือน เป็นจำเลยที่ 1-88 เป็นคดีหมายเลขดำ คม.27/2558, คม.28/2558 และ คม.29/2558 ที่ซึ่งอัยการได้ทยอยฟ้องจำเลยตั้งแต่เมื่อเดือน ก.ค. 58 ในความผิด 16 ข้อหา ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ พ.ศ. 2551, พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติฯ พ.ศ. 2546 ภายหลังจากที่ได้มีการโอนคดีจากศาลนาทวี มาพิจารณาคดีที่แผนกคดีค้ามนุษย์ของศาลอาญา เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2558 ที่ผ่านมา

จากนั้นได้มีการยื่นฟ้องจำเลยอื่นๆ ที่ถูกกล่าวหาร่วมกระทำผิดค้ามนุษย์ที่เป็นเครือข่ายอีกในสำนวนคดีหมายเลข คม.19, 32, 35, 36, 40, 41, 47, 63/2558

โดยศาลพิจารณาสืบพยานรวม 116 นัด ต่อเนื่องตั้งแต่เดือน มี.ค. 2559 เดือนละ 8 วัน โดยไม่มีการเลื่อนคดีหรือยกเลิกนัด ซึ่งฝ่ายโจทก์สืบพยานจำนวน 98 ปาก ส่วนฝ่ายจำเลยจำนวน 111 ปาก และพยานเอกสาร ขณะที่การสืบพยานฝ่ายจำเลยได้ร้องขอให้พิจารณาคดีลับสำหรับพยานจำเลยบางปากด้วยที่ต้องเบิกความในข้อเท็จจริงซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศชาติ

โดยวันนี้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้เบิกตัวจำเลยทั้งหมดมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในชุดนักโทษเพื่อมาฟังคำพิพากษาที่ห้องพิจารณาคดี 701 ขณะที่ญาติและบุคคลใกล้ชิดต่างมาร่วมฟังคำพิพากษาและให้กำลังใจประมาณ 300 คน จนแน่นห้องพิจารณาคดี 806 และห้องโถงชั้น 2 ที่ศาลอาญาได้จัดเตรียมไว้ให้พร้อมกับมีระบบโทรทัศน์วงจรปิดถ่ายทอดสัญณาณภาพและเสียงจากห้องพิจารณาคดี 701 มาให้ญาติและสื่อมวลชนฟังด้วย

 ซึ่งการอ่านคำพิพากษาคดีนี้ตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงเวลา 11.00 น. องค์คณะผู้พิพากษาคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญา ได้พิเคราะห์พยานหลักฐานในคดีมาถึงจำเลยกลุ่มผู้บริหารท้องถิ่น ประกอบไปด้วย นายบรรณจง หรือจง ปองผล อดีตนายกเทศมนตรีเมืองปาดังเบซาร์ จำเลยที่1 , นายอ่าสัน หรือหมู่สัน หรือบังสัน อินทธนู อดีตสมาชิกสภาเทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ จำเลยที่ 2 , และ นายประสิทธิ์ หรือเดช หรือบังเบส หรือบังเค เหล็มเหล๊ะอดีตรองนายกเทศมนตรี ต.ปาดังเบซาร์ จำเลยที่ 6

ศาลเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ รับฟังได้ว่า จำเลยเป็นขบวนจัดหาแรงงานในพื้นที่ ต.ปาดังเบซาร์ จ.สงขลา โดยการกระทำนั้นเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ ต่อบุคคลที่อายุ 15-18 ปี และมีส่วนร่วมองค์อาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งจำเลยเป็นผู้บริหารท้องถิ่นถือเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ที่ต้องรับโทษ 2 เท่า

โดยการอ่านคำพิพากษาจนถึงเวลา 13.00 น. ศาลได้พิเคราะห์ถึงพฤติการณ์จำเลยอีกกลุ่ม ที่เป็นผู้ขนส่งแรงงานและเป็นผู้ดูแลเส้นทางโดยพยานหลักฐานโจทก์ พบความเชื่อมโยงระหว่างจำเลย ซึ่งมีการใช้โทรศัพท์ติดต่อกัน แม้จำเลยบางคนจะต่อสู้อ้างว่ารับจ้างขนส่งสินค้าไม่ทราบว่ามีการขนส่งแรงงานโรฮีนจา นั้น ก็เป็นข้ออ้างเลื่อนลอยเนื่องจากมีหลักฐานตรวจสอบการใช้โทรศัพท์ เมื่อจำเลยมีความเชื่อมโยงกันก็ย่อมจะรับรู้ถึงเหตุการณ์ค้ามนุษย์ด้วย





กำลังโหลดความคิดเห็น