xs
xsm
sm
md
lg

นิติวิทย์ ยธ.เปิดบริการตรวจพิสูจน์เข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เปิดบริการประชาชน ตรวจพิสูจน์สารเสพติดในเส้นผม, พิสูจน์เอกสาร และดีเอ็นเอ เพื่อให้เข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม เริ่ม 1 มิ.ย.นี้

วันนี้ (25 พ.ค.) ที่ห้องรับรอง กระทรวงยุติธรรม ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ กรุงเทพฯ นายสมณ์ พรหมรส ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วย พ.ต.ต.หญิง ปวีณา กสิกิจวิวัฒน์ นักนิติวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ น.ส.สุปราณี พันธะทัน นักนิติวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มตรวจพิสูจน์ทางเคมี และ นพ.วรวีร์ ไวยวุฒิ แพทย์เชี่ยวชาญ กองสารพันธุกรรม ร่วมแถลงข่าวสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เปิดให้บริการตรวจพิสูจน์แก่ประชาชน 3 ด้าน ประกอบด้วย พิสูจน์เอกสาร, สารเสพติดในเส้นผม และดีเอ็นเอพ่อแม่ลูก โดยจะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2560

นายสมณ์เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการนำกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดความยุติธรรมและโปร่งใส โดยเล็งเห็นความสำคัญของการให้ประชาชนเข้าถึงการอำนวยความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม สถาบันนิติวิทยาศาสตร์จึงเปิดบริการตรวจพิสูจน์ความจริงด้วยนิติวิทยาศาสตร์โดยมุ่งเน้นให้บริการที่ได้มาตรฐานและแก้ไขปัญหาของประชาชน 3 ด้าน คือ 1. การตรวจพิสูจน์เอกสารโดยทั่วไปจะหาผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ได้น้อยมาก และมี 2 หน่วยงานที่ดำเนินการ คือ องค์กรตำรวจ กับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ที่ให้บริการตรวจพิสูจน์ลายเซ็นเอกสารว่าเป็นบุคคลเดียวกันเป็นคนเขียนหรือไม่ ตรวจพิสูจน์ร่องรอยการขูดลบ เปลี่ยนแปลงแก้ไข และตรวจหาข้อความเดิมบนเอกสาร หรือตรวจพิสูจน์เอกสารปลอมแปลง เช่น ธนบัตร หนังสือเดินทาง รอยตราประทับ พินัยกรรม มีค่าบริการขั้นต่ำ 1,000 บาท จนสูงสุดประมาณ 50,000 บาท

นายสมณ์เผยอีกว่า 2. การตรวจพิสูจน์สารเสพติดในเส้นผมจะเลือกเส้นผมบริเวณกลางศีรษะด้านหลังประมาณ 1 กำมือ ซึ่งทำให้ทราบถึงประวัติการใช้สารเสพติดย้อนหลังชนิดต่างๆ เช่น ยาบ้า มอร์ฟีน เฮโรอีน โคเคน ยานอนหลับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความยาวของเส้นผมด้วย เฉลี่ยความยาว 1 ซม.จะย้อนหลังได้ 1 เดือน และต้องได้รับการยินยอมจากผู้ตรวจ ค่าบริการประมาณ 5,000 บาท และ 3. การตรวจดีเอ็นเอเพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์พ่อแม่ลูก หรือเครือญาติสายตรง โดยใช้อุปกรณ์ไปตรวจบริเวณเซลล์เยื่อบุกระพุ้งแก้ม หากผลเฉลี่ยเกิน 99 เปอร์เซ็นต์จึงนับว่ามีสายสัมพันธ์กัน วัตถุประสงค์นั้นจะเป็นเรื่องการรับมรดกของทายาท ค่าบริการประมาณ 5,000-6,000 บาท

“สำหรับการตรวจพิสูจน์ทุกประเภทได้รับรองมาตรฐานสากล ผลการตรวจพิสูจน์เป็นไปตามหลักวิชาการ และสามารถนำไปใช้ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท มุ่งเน้นคดีอาญาและนำข้อมูลไปให้ศาลประกอบการพิจารณา หรือใช้เป็นเครื่องมือในการติดตามเฝ้าระวังการใช้สารเสพติด ตลอดจนป้องกันไม่ให้ผู้เสพกลับมาเสพซ้ำ” นายสมณ์กล่าว

นายสมณ์เผยต่อว่า โดยสามารถใช้บริการด้วยตนเองได้ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ชั้น 9 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ เริ่มเปิดบริการวันที่ 1 มิ.ย.นี้ และยังไม่มีค่าธรรมเนียมการใช้บริการ จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. แต่รับจำนวนจำกัด คือ การตรวจพิสูจน์พยานเอกสาร 10 ราย, การตรวจสารเสพติดในเส้นผม 20 ราย และการตรวจดีเอ็นเอ 50 ราย เน้นให้บริการประชาชนที่มีความเดือดร้อนและฐานะยากจน หลังจากนั้นจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมตามประกาศคณะกรรมการกำกับการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ และประชาชนผู้สนใจต้องนัดหมายล่วงหน้าที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2142-3620, 06-2323-9000 และสายด่วน 1111 หรือติดตามรายละเอียดการใช้บริการและอัตราค่าธรรมเนียมได้ทางเว็บไซต์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ www.cifs.moj.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น