xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องหลังเด้ง “ชาญเชาวน์” ทำรัฐขายหน้ากรณีเลิกจ้าง จนท.2 พันอัตรา กับพัวพัน “ธาริต”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ(ภาพจากแฟ้ม)
MGR Online - ฟ้าผ่า “ตราชั่ง” ครม.โยก “ชาญเชาวน์” เป็นผู้ตรวจราชการสำนักนายกฯ แต่งตั้ง “วิศิษฏ์” ขึ้นเป็นปลัดฯ เผยเบื้องหลังเด้งบิ๊กยุติธรรม ใช้เงินผิดประเภทจนหน่วยงานบักโกรก ขนาดมีข่าวเลิกจ้างเจ้าหน้าที่ 2 พันอัตรา แถมเคยถูกฟ้องร่วม “ธาริต” ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

วันนี้ (23 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติโยกย้ายนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ไปปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งผู้ตรวจราชการพิเศษ สำนักนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ มาดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรมคนใหม่ บรรยากาศที่ชั้น 8 สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม บริเวณหน้าห้องปลัดกระทรวงยุติธรรม พบเจ้าหน้าที่ได้เริ่มทยอยเก็บแฟ้มเอกสารราชการนำใส่ลังกระดาษหลังมีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่วนนายชาญเชาวน์อยู่ระหว่างเดินทางไปปฏิบัติราชการที่ประเทศออสเตรีย และมีกำหนดเดินทางกลับในวันที่ 27 พ.ค.นี้

สำหรับนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ หลังขึ้นตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรมประมาณปีเศษ ได้พยายามสนองนโยบายรัฐบาล แต่กระทั่งมีข่าวลือกระทรวงยุติธรรมเลิกจ้างลูกจ้างชั่วคราวและลูกจ้างเหมาบริการ 2,000 อัตรา กระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นการใช้งบประมาณผิดประเภทนำเงินดอกเบี้ยของกรมบังคับคดีมาใช้จ้างลูกจ้างชั่วคราว เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนระบบการจ่ายเงินเป็น e-Payment (อีเพย์เมนต์) ทำให้เงินดอกเบี้ยไม่เพียงพอในการใช้จ้างลูกจ้าง สะท้อนการบริหารงาน นอกจากนี้ นายชาญเชาวน์ยังถูก พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ อดีต ผบ.สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญาฯ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ฟ้องในความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 83 กรณีร่วมกับนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตอธิบดีดีเอสไอ ย้ายไปเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะคดี ซึ่งมีระดับต่ำกว่าตำแหน่งเดิมอันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกนายชาญเชาวน์เป็นเวลา 2 ปี แต่ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี แม้จะไม่ได้ติดคุกจริงแต่ก็ถือเป็นมลทิน

ด้านนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ถือเป็นข้าราชการซี 10 ที่อาวุโสอันดับหนึ่งในกระทรวงยุติธรรม โดยก่อนหน้าโอนย้ายมาสังกัดกระทรวงยุติธรรม นายวิศิษฏ์เคยเป็นข้าราชการตุลาการ ตำแหน่งรองเลขาธิการส่งเสริมงานตุลาการ โดยในยุคแยกกระทรวงยุติธรรมออกจากศาล นายวิศิษฏ์ได้รับการทาบทามจากนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม ให้มารับตำแหน่งรองอธิบดีกรมบังคับคดี ก่อนจะขยับขึ้นเป็น ผอ.สำนักกิจการยุติธรรม อธิบดีกรมบังคับคดี และเคยมีบทบาทยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ร่วมกับนายชัยเกษม นิติสิริ อดีตรมว.ยุติธรรม จนกระทั่ง คสช.รัฐประหารจึงถูกย้ายเข้ากรุผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม ต่อมา พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี และอดีต รมว.ยุติธรรม ได้ดึงมารับตำแหน่งอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็ก เพื่อรับผิดชอบงานจัดระเบียบแก้ปัญหาเด็กแว้น และสถานบันเทิงเปิดเกินเวลา รวมถึงการจัดการจัดโซนสถานบันเทิงไม่ให้ใกล้กับสถานศึกษา

ประวัติ นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ชื่อเล่น “โจ”

- บิดาชื่อ พ.ต.อ.โดม วิศิษฏ์สรอรรถ รับราชการตำรวจ
- มารดาชื่อ นางวันเพ็ญ วิศิษฏ์สรอรรถ แม่บ้าน
- เกิดเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2508 จ.กรุงเทพมหานคร
- พี่น้องทั้งหมด 4 คน เป็นคนที่ 2 ของครอบครัว
วุฒิการศึกษา
- มัธยมโรงเรียนสวนกุหลาบ
- ปริญญาตรีนิติศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ประกาศนียบัตร เนติบัณฑิตไทย สํานักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิต
- LL.B. (Second Class Honors, Upper Division) University of Wales, United Kingdom
- Barrister-at-Law of Gray's Inn (เนติบัณฑิตอังกฤษ)
ประวัติการรับราชการ
- พ.ศ. 2537-2538 ผู้พิพากษาแขวงสงขลา
- พ.ศ. 2538-2541 ผู้พิพากษาประจำกระทรวง ทำงานธุรการในตำแหน่งรองเลขาธิการส่งเสริมงานตุลาการ สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
- พ.ศ. 2541-2542 ผู้พิพากษาประจำกระทรวง ทำงานธุรการในตำแหน่งรองอธิบดีกรมบังคับคดี
- พ.ศ. 2542-2543 ผู้อำนวยการสำนักฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้กระทรวงยุติธรรม (นิติกร 9) กรมบังคับคดี
- พ.ศ. 2543-2546 รองอธิบดีกรมบังคับคดี (นักบริหาร 9)
- พ.ศ. 2546-2551 ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม (นักบริหาร 10)
- พ.ศ. 2551-2553 รองปลัดกระทรวงยุติธรรม (นักบริหาร 10)
- พ.ศ. 2553-2557 อธิบดีกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม
- พ.ศ. 2557-2558 หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงยุติธรรม

การดำรงตำแหน่งอื่นในปัจจุบัน

- กรรมการกฤษฎีกา
- กรรมการบริหารกองทุนประกันวินาศภัย

งานด้านวิชาการ

- ศาสตราจารย์พิเศษ สาขากฎหมายธุรกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- กรรมการบัณฑิตศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมหาวิทยาลัย หลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- อาจารย์พิเศษระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้แก่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะนิติศาสตร์ และคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
กำลังโหลดความคิดเห็น