MGR Online - ตำรวจตามรวบสาวแสบตั้งแก๊งหลอกไปทำงานต่างประเทศ เปิดเฟซบุ๊ก “หาแฟนต่างประเทศ หางานต่างประเทศ” วางอุบายจัดอบรมภาษาสร้างความมั่นใจ ก่อนเรียกเก็บเงินแลกเอกสารปลอม สุดท้ายชวด เสียหายกว่า 2 ล้านบาท
วันนี้ (12 พ.ค.) เมื่อเวลา 17.30 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น. พล.ต.ต.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผบช.ก. พร้อมด้วย พล.ต.ต.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผบก.สส.บช.น. พ.ต.อ.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบก.สส.บช.น. พ.ต.อ.อรรถพล อนุสิทธิ์ ผกก.สส.2 บก.สส.บช.น. พ.ต.ท.บุญโรจน์ โลจายะ รอง ผกก.สส.2 บก.สส.บช.น. พ.ต.ท.เจษฎาภรณ์ อ่อนทองคำ สว.กก.สส.2 บก.สส.บช.น. แถลงจับกุม น.ส.สุปรียา หรือ แยม หรือ แอน เอนกนันท์ อายุ 27 ปี บ้านเลขที่ 182/50 หมู่ที่ 4 ต.ป่าสัก อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 221/256 ลง 16 ม.ค. 2560 และหมายจับศาลอาญาที่ 494/2560 ลงวันที่ 16 ก.พ. 2560 ข้อหาร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ โดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้หลอกลวง อัตราโทษ 3 - 10 ปี จับกุมได้ที่บริเวณโรงแรมพราว เอ็กซ์คลูซีฟ ถ.ราชมรรคา ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม
พล.ต.ท.ศานิตย์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากการร่วมกันปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) ร่วมกับกองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บก.สส.บช.น.) ได้ติดตามขบวนการหลอกลวงกลุ่มประชาชนที่ต้องการหางานไปทำงานในต่างประเทศ โดยอาศัยช่องทางเว็บไซต์ Facebook ในหน้าเพจ “หาแฟนต่างประเทศ หางานต่างประเทศ” (@hagnanthangphated) โดยมีการทำงานร่วมกันเป็นขบวนการ โดยมีการจัดฝึกอบรมภาษา โดยใช้สถานที่อบรมในกรุงเทพมหานคร จากนั้นจะมีการส่งมอบเอกสารที่ทำให้ผู้เสียหาย เชื่อว่า สามารถเดินทางไปทำงานในต่างประเทศได้ และจะให้โอนเงินไปยังบัญชีของ นายธนากร นารอต แฟนหนุ่ม จนกระทั่งนำไปสู่การจับกุม น.ส.ตรีชนก หรือ ต้า เรียงผา อายุ 23 ปี ทำหน้าที่เป็นครูสอนภาษา เป็นหนึ่งในผู้ร่วมขบวนการทำให้เกิดความเสียหาย มูลค่ากว่า 2 ล้านบาท ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขยายผลจนนำไปสู่การจับกุมผู้ต้องหาในคดีดังกล่าว ก่อนหน้านี้ 3 ปีก่อน น.ส.สุปรียา เคยถูกดำเนินคดีข้อหาปลอมแปลงเอกสารโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามทำการจับกุม อย่างไรก็ตาม เชื่อได้ว่า ยังมีผู้ร่วมขบวนการที่ยังหลบหนีอยู่อีกจำนวนหนึ่ง ประชาสัมพันธ์ให้ผู้เสียหาย ที่ถูกหลอกลวงลักษณะเช่นนี้ มาดูตัวผู้ต้องหาและไปดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ที่ บก.ปคม. ต่อไป
ด้าน น.ส.สุปรียา ผู้ต้องหาให้การว่า ตนร่วมมือกับเพื่อนดำเนินการ 2 แบบ ส่วนใหญ่ในเฟซบุ๊กจะเป็นส่วนน้อย นอกนั้นจะเป็นนายหน้ามากกว่า ทำมาแล้ว 2 ปี ทำมาแล้วประมาณ 40 คน โดยเป็นคนนับพาสปอร์ต มีเพื่อนร่วมกันประมาณ 5 - 6 คน ก่อนหน้านี้ เคยทำมาแล้วส่งไปเรียนและไปทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ไปต่างประเทศ แต่ไม่มี พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ครั้งหนึ่งได้ประมาณ 20,000 บาท ตอนแรกสมัครไปจะไปประเทศออสเตรเลีย แต่วีซ่าไม่ผ่าน แต่มีคนที่ประเทศออสเตรเลียทำแบบนี้ เป็นคนไทยทำงานที่โน้นแต่งงานกับฝรั่ง
ส่วนรายจ่ายที่ถูกแบ่งออกถูกหักค่าใช้จ่ายในเรื่องของการสอนภาษา ค่าสถานที่ และค่านายหน้า ส่วนการทำวีซ่าเพื่อนเป็นคนพาไปส่วนใหญ่เป็นตึกที่มีการดำเนินการจริง แต่ไปเช่นตึกใกล้ตรงนั้น ตนไม่ได้พาไป ส่วนการให้วีซ่าตรงนั้นไม่รู้ แต่จ้างสถานที่รับทำเอกสารปลอม โดยปลอมขึ้นมาหลายประเทศที่ประกาศผ่านเฟซบุ๊ก คนทำส่งมาแล้วจ่ายเงินอย่างเดียว ทำครั้งแรกประมาณ 20,000 บาท แต่บางคนที่ไปเสียเงินมากกว่านั้น 50,000 หรือเสียเป็นแสน ไม่ได้โอนเข้าบัญชีตนเองเป็นการโดนหลอกผ่านนายหน้า ยิ่งบอกว่า 5 ปีที่แล้วเป็นไปไม่ได้ ส่วนการยึดพาสปอร์ตเป็นขบวนการที่เพื่อนทำ
ด้านผู้เสียหายรายหนึ่ง กล่าวว่า ตนทำงานเปิดร้านอาหารตามสั่งย่านพระราม 9 ตอนแรกได้ค้นหาข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต เขียนว่าหางาน และหาแฟนชาวต่างชาติ เคสนี้มีการเคลื่อนไหวอยู่ เราก็เกิดความเชื่อว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ โทร.ไปหาว่ามีบริษัทอยู่จริงหรือไม่ ถ้าเราอยากจะไปก็ต้องโอนเงินเข้าบัญชีนายธนากร แล้วทางทีมงานก็จะดำเนินการทำเอกสารให้ ทุกบริษัทจัดหางานก็จะเป็นแบบนี้ และจะมีการสอนภาษา เพื่อให้การสื่อสารกับ ตม. ประเทศนั้นๆ สรุปวันที่ 27 เม.ย. ของตนจะไปประเทศแคนาดา ทำงานที่ฟาร์มเห็ด ก็ไม่ได้ไป เสียเงินไปประมาณ 70,000 บาท เป็นเงินก้อนสุดท้าย เอาร้านไปเซ้งต่อให้เพื่อน แล้วก็ได้เอกสารวีซ่าเป็นแผ่นกระดาษมาเท่านั้น จึงรู้ว่าเป็นการหลอกลวง จึงได้เข้าแจ้งความที่กระทรวงแรงงาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าวการไปทำงานต่างประเทศต้องผ่านกระทรวงแรงงาน บริษัทจัดหางานก็ต้องขึ้นทะเบียนกับกระทรวงแรงงาน และกรมการจัดหางานมี 5 วิธี คือ 1. วิธีที่นิยมคือบริษัทที่จัดหางานต้องมีการขึ้นทะเบียนกับกระทรวงแรงงาน เนื่องจากการขึ้นทะเบียน หรือได้รับอนุญาตควบคุมการเรียกค่าหัว และค่าใช้จ่าย มีการไปแล้วมีปัญหาเกิดขึ้นมีหลักประกันไว้อยู่แล้วจำนวน 5 ล้านบาท ก็จะมีคณะกรรมการพิจารณานำเงินดังกล่าวจ่ายคืนผู้เสียหาย 2. ไปด้วยตนเอง การได้ตำแหน่งมา ก็คือ การติดต่อระหว่างนายจ้างกับคนหางาน 3. นายจ้างมีคนประมูลงานได้ส่งคนงานไปทำงานต้องผ่านกระทรวงแรงงาน 4. ไปฝึกงาน หรือไปเรียนหนังสือ 5. รัฐบาลทำเอ็มโอยูจัดส่งไป ทั้งนี้ สามารถเข้าไปดูในเว็บไซต์จะมีรายชื่อบริษัทจัดหางานอยู่ได้ที่ https://www.doe.go.th/