MGR Online - ตำรวจกองปราบฯคุมตัว อาจารย์ “สวัสดิ์” อดีต ปธ.สหกรณ์จุฬาฯ คดีตุ๋นเพื่อนอาจารย์ลงทุนโควตาลอตเตอรี่ ฝากขังครั้งผัดแรก พร้อมค้านประกันตัวหวั่นหลบหนี ก่อนส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
เมื่อเวลา 15.15 น. วันที่ 9 พ.ค. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ร.ต.อ.ธงชัย โตเจริญ พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม ควบคุมตัว นายสวัสดิ์ แสงบางปลา อายุ 79 ปี อดีตประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 989/2560 ลงวันที่ 21 เม.ย. 2560 ข้อหาฉ้อโกงประชาชน มาฝากขังครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 9 - 20 พ.ค. นี้ เนื่องจากการสอบสวนไม่เสร็จสิ้น ต้องรอสอบพยานบุคคลอีกหลายปาก ตรวจสอบหลักฐานทางการเงินของผู้ต้องหา และตรวจสอบประวัติผู้ต้องหาจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร กรณีหลอกลวงข้าราชการประจำ และ ข้าราชการบำนาญ สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงทุนโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาล (ลอตเตอรี่) ที่นายสวัสดิ์หลอกลวงให้เชื่อว่าได้โควตามาจริง มูลค่าความเสียหายรวมทั้งสิ้นกว่า 1,400 ล้านบาท
คำร้องฝากขังระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อระหว่างปี 2553 - 24 มี.ค. 2560 ต่อเนื่องกัน กลุ่มผู้เสียหายซึ่งเป็นข้าราชการประจำและข้าราชการบำนาญ ทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่เป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ได้เดินทางมาทำธุรกรรมทางการเงินที่สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ และพบกับ นายสวัสดิ์ ผู้ต้องหา ซึ่งเป็นประธานสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ในขณะนั้น โดยผู้ต้องหาได้เข้ามาตีสนิทพูดคุยด้วย หลอกลวงว่าได้โควตาสลากกินแบ่งรัฐบาลมา แต่มีเงินลงทุนไม่เพียงพอ จึงชักชวนให้กลุ่มผู้เสียหายที่เป็นข้าราชการประจำและข้าราชการบำนาญของจุฬาฯ นำเงินมาร่วมลงทุน
โดยจะได้รับค่าตอบแทนร้อยละ 10 - 12 ต่อปี สัญญามีตั้งแต่ 2 - 12 เดือน ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจผู้ต้องหาซึ่งเป็นอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ มีเกียรติประวัติการทำงานที่น่าเชื่อถือ และเป็นประธานสหกรณ์ออมทรัพย์มาหลายสมัย กลุ่มผู้เสียหายจึงหลงเชื่อและมอบเงินให้ผู้ต้องหาไป โดยผู้ต้องหาได้มอบใบถอนเงินฝากออมทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ บัญชีของผู้ต้องหาที่สามารถถอนเงินค่าตอบแทนได้ทุกเดือนจากสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ และเดือนสุดท้ายจะได้รับคืนทั้งค่าตอบแทนและเงินต้น เมื่อถึงกำหนดวันจ่ายเงิน กลุ่มผู้เสียหายได้นำใบถอนเงินดังกล่าวไปเบิกเงินในช่วงงวดแรกๆ ก็สามารถเบิกถอนเงินได้ตามปกติ และผู้ต้องหาบางรายเมื่อถึงกำหนดที่จะได้รับเงินต้นคืน ผู้ต้องหาก็หลอกลวงอีก โดยแนะนำให้เอาเงินต้นมาลงทุนต่อ
เมื่อผู้เสียหายโต้แย้ง ผู้ต้องหาก็บ่ายเบี่ยงที่จะไม่ยอมคืนเงินต้น ต่อมาเมื่อเกิดปัญหาเบิกเงินไม่ได้ จึงได้สอบถามกับเจ้าหน้าที่สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ก็แจ้งว่า บัญชีของผู้ต้องหาไม่มีเงิน จึงได้ติดตามทวงถามเรื่อยมา จนกระทั่งไม่สามารถติดต่อผู้ต้องหาได้อีก ทำให้เชื่อว่าถูกหลอกลวงเอาเงินไป ทำให้ได้รับความเสียหายมูลค่าประมาณ 541 ล้านบาท
ต่อมาช่วงต้นเดือน มี.ค. ผู้เสียหายจึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม กระทั่งศาลอาญาได้ออกหมายจับในข้อหาฉ้อโกงประชาชน และกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 และ พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 3, 4, 12 ต่อมาเมื่อวันที่ 8 พ.ค. เวลา 04.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1ป. ได้รับตัวผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา จึงแจ้งข้อหาดำเนินคดี ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ เหตุเกิดที่สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กทม.
ท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนได้ขอคัดค้านการให้ประกันตัว เนื่องจากเกรงว่าผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือหลบหนียากแก่การจับกุมตัวมาดำเนินคดีภายหลัง
วันเดียวกันนี้ พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามได้ยื่นคำร้องขอฝากขังนายสวัสดิ์ในข้อหาโอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด หรือซุกซ่อนปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สิน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานฉ้อโกงประชาชน โดยสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และกระทำความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5, 9, 60
โดยระบุพฤติการณ์ว่าเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2558 - 13 มี.ค. 2560 ผู้ต้องหาได้หลอกลวงชักชวนให้ รศ.บังอร สว่างวโรรส กับพวก ผู้เสียหาย นำเงินมาร่วมลงทุนในโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยอ้างว่าจะได้รับค่าตอบแทนร้อยละ 10 - 12 ต่อปี ซึ่งอัตราผลตอบแทนที่จะจ่ายให้นั้นสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายพึงจะจ่ายให้ได้ ช่วงแรกผู้เสียหายสามารถเบิกเงินค่าตอบแทนได้ตามปกติ จนกระทั่งเดือน มี.ค. 2560 กลุ่มผู้เสียหายได้นำใบถอนเงินไปเบิกเงิน ปรากฏว่า ไม่สามารถเบิกเงินได้ เจ้าหน้าที่สหกรณ์แจ้งว่าไม่มีเงินอยู่ในบัญชีผู้ต้องหา ทำให้ได้รับความเสียหายรวม 339,382,750 บาท
จากรายงานการสืบสวนพบว่าบัญชีธนาคารกสิกรไทย เลขที่บัญชีของผู้ต้องหาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2558 - 13 มี.ค. 2560 พบมีการโอนเงินไปยังบัญชีของ น.ส.เมธวัชร์ หรือพชกร คนมั่น จำนวน 3 บัญชี เป็นเงิน 64,233,944 บาท และบัญชีของ น.ส.จิรัชญา คุณยศยิ่ง เป็นเงินประมาณ 40 ล้านบาท สอบถามแล้วทั้งสองคนไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดในการโอนเงินจำนวนดังกล่าวได้อย่างชัดเจน พร้อมทั้งไม่มีหลักฐานการโอนเงินมายืนยัน
ศาลพิจารณาคำร้องแล้วอนุญาตให้ฝากขังได้ ต่อมาในช่วงเย็นปรากฏว่าไม่มีญาติผู้ต้องหามายื่นขอประกันตัวแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะนำตัวผู้ต้องหาไปควบคุมไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้ พนักงานสอบสวนกองปราบปรามสามารถจับกุม และได้ฝากขังผู้ต้องหาสาวไปก่อนหน้านี้แล้ว 3 คน คือ น.ส.จิรัชญา หรือ ไข่เจียว คุณยศยิ่ง อายุ 24 ปีเศษ ชาวจังหวัดชลบุรี และ น.ส.ภวิษย์พร ใบเกตุ อายุ 29 ปีเศษ กทม. ซึ่งเป็นคนรักกัน ซึ่งถูกตั้งข้อหาร่วมการฟอกเงิน โดย น.ส.จิรัชญาได้รับโอนเงินจากนายสวัสดิ์ประมาณ 40 ล้านบาท แล้วนำเงินไปเล่นพนันออนไลน์ ซึ่งพนักงานสอบสวนกองปราบปราม ได้ยื่นคำร้องฝากขังครั้งแรก ไปเมื่อวันที่ 28 เม.ย. ที่ผ่านมา และได้ขอคัดค้านการให้ประกันตัวเช่นเดียวกัน และ น.ส.เมธวัชร์ หรือ พชกร คนมั่น อายุ 32 ปี สาวหล่อ ได้ยื่นฝากขังครั้งแรกข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันฟอกเงิน ไปเมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่ผ่านมา
โดยพนักงานสอบสวนได้ขอคัดค้านการให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้ง 3 คนด้วย เนื่องจากเป็นคดีมีอัตราโทษสูง เกรงผู้ต้องหาจะหลบหนี หรือเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ซึ่งปัจจุบัน น.ส.จิรัชญา, น.ส.ภวิษย์พร และ น.ส.เมธวัชร์ หรือ พชกร ถูกคุมขังที่ทัณฑ์สถานหญิงกลาง ระหว่างการฝากขังเช่นกัน เนื่องจากไม่ได้ยื่นประกันตัวแต่อย่างใด