MGR Online - “ทนายสงกานต์” ยื่นหนังสือกระทรวงยุติธรรม ขอกรมคุกพิจารณาขอพระราชทานอภัยโทษตายายคดีบุกรุกป่า โดยคดีสิ้นสุดแล้วเมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา ศาลฎีกามีคำพิพากษาพิพากษาจำคุกคนละ 5 ปี ด้านอธิบดีกรมราชทัณฑ์เผยยังไม่เข้าเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น
วันนี้ (8 พ.ค.) เวลา 10.30 น. ที่ศูนย์บริการร่วม กระทรวงยุติธรรม นายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ประธานเครือข่ายต่อต้านการบ่อนทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อกระทรวงยุติธรรม พิจารณาขอพักโทษ และพระราชทานอภัยโทษ กรณีนายอุดม และนางแดง ศิริสอน เข้าไปเก็บเห็ดในเขตป่าสงวนแห่งชาติ บ้านหนองกุงไทย หมู่ 6 ต.โนนสะอาด อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษา คดีถึงที่สุดแล้วเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 60 ให้จำคุกคนละ 5 ปี โดยมีนายอินทราวุธิ สมมาตร หัวหน้าศูนย์บริการร่วม เป็นผู้รับเรื่อง
นายสงกานต์กล่าวว่า คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกสองสามีภรรยา 30 ปี แต่นายอุดมและนางแดงรับสารภาพ ศาลจึงพิจารณาลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 15 ปี ต่อมาศาลอุทธรณ์ก็พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ก่อนที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา ให้จำคุกคนละ 5 ปี โดยคดีนี้นายอุดมถูกต้องขังมาแล้ว 595 วัน ส่วนนางแดงถูกต้องขังมาแล้ว 622 วัน โดยให้นำวันที่ต้องขังมาแล้วหักจากโทษจำคุก 5 ปี ด้วยตามขั้นตอนกฎหมาย ซึ่งขอให้กระทรวงยุติธรรมได้พิจารณาร่วมกับกรมราชทัณฑ์ ทั้งนี้ นายอุดมและนางแดงถือเป็นนักโทษชั้นกลางเพราะคดีเพิ่งสิ้นสุด จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์การขอพักโทษ เนื่องจากต้องเป็นนักโทษชั้นดี ชั้นดีมาก และชั้นเยี่ยม จึงจะขอพักโทษได้
“นายอุดม และนางแดง จะต้องได้รับการเลื่อนชั้นเป็นนักโทษชั้นดีเสียก่อน ซึ่งการพิจารณาเลื่อนชั้นนักโทษของกรมราชทัณฑ์จะมีการพิจารณาปีละ 2 ครั้ง คือ ปลายเดือน มิ.ย. และ ธ.ค. โดยหลังสิ้นสุดคดี นักโทษต้องถูกคุมขังอย่างน้อย 6 เดือน จึงจะเข้าหลักเกณฑ์ให้พิจารณาขอพักโทษ ซึ่งการพิจารณาเลื่อนชั้นของนายอุดมและนายแดงจะมีขึ้นได้เร็วที่สุดก็คือเดือน ธ.ค.นี้ หากได้รับการเลื่อนชั้นจากนั้นก็ต้องมาพิจารณาเรื่องข้อกำหนดของการขอพักโทษต่อไป โดยการขอพักโทษนั้นนักโทษไม่ต้องทำเรื่องขอ เพราะเป็นขั้นตอนปกติของกรมราชทัณฑ์ในการพิจารณาความประพฤติของนักโทษแต่ละคนอยู่แล้ว” นายสงกานต์กล่าว
ด้านนายอินทราวุธกล่าวว่า เบื้องต้นได้รับเรื่องดังกล่าวและจะส่งไปให้กรมราชทัณฑ์พิจารณาตามหลักเกณฑ์ต่อไป
ขณะที่นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า เงื่อนไขการพักการลงโทษของผู้ต้องขังไม่ใช่เพียงรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 จะได้รับการพักโทษทุกราย แต่ยังมีคุณสมบัติเป็นเงื่อนไขสำคัญอีก 3 ข้อ คือ 1. ต้องเป็นนักโทษพิการ แขนและขาขาดทั้งสองข้าง ตาบอดทั้งสองข้าง 2. เป็นนักโทษป่วยร้ายแรง เช่น เป็นเอดส์ มะเร็ง หรือไตวายระยะสุดท้าย 3. เป็นนักโทษที่รับโทษมาแล้วและมีอายุเกิน 70 ปี ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย หรือเป็นนักโทษที่ป่วยติดเตียงติดบ้าน ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ยืนยันว่าเงื่อนไขการพักโทษ 1 ใน 3 ไม่ได้หมายความว่านักโทษจะเข้าเกณฑ์ได้รับการปล่อยตัวทุกราย แม้แต่นักโทษชราอายุ 70 ปีก็ต้องมีเงื่อนไขอื่นๆ
นายกอบเกียรติกล่าวอีกว่า เกณฑ์ในการพักโทษที่กำหนดไว้ 1 ใน 3 นั้น กำหนดไว้เพื่อมนุษยธรรมส่วนใหญ่ใช้กับนักโทษที่มีอาการป่วยร้ายแรงใกล้เสียชีวิต ซึ่งโทษจำคุกไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ฝ่ายใดเลย ดังนั้น การพักการลงโทษจะดำเนินการให้กับผู้ต้องขังที่ได้รับโทษจำคุกมาแล้ว 2 ใน 3 ซึ่งเงื่อนไขจะผ่อนปรนมากกว่านี้ โดยจะกำหนดเงื่อนไขเพียงประพฤติดี ขยันหมั่นเพียร สำหรับนายอุดม และนางแดง ที่มีอายุ 54 ปี ยังไม่เข้าเกณฑ์เป็นนักโทษชราที่กำหนดอายุไว้ที่ 70 ปี ดังนั้นจึงยังไม่เข้าเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น