Manager Online - ดีเอสไอตัดวงจรการกระทำความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกง ยึดอายัดทรัพย์สินจากขบวนการหลอกลงทุน ธุรกิจจัดหาห้องพักให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศ ย่านบางมด มูลค่าประมาณ 50 ล้านบาท
วันนี้ (5 พ.ค.) เวลา 10.00 น. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ พร้อมด้วย พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล รองอธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 ดีเอสไอ ร่วมแถลงดำเนินการยึดอายัดทรัพย์สินจากขบวนการหลอกลงทุนในธุรกิจจัดหาห้องพักให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศ มูลค่าประมาณ 50 ล้านบาท
พ.ต.อ.ไพสิฐกล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมมีนโยบายให้ดีเอสไอดำเนินการเชิงรุกในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 หรือคดีแชร์ลูกโซ่ ซึ่งถือเป็นภัยต่อสังคม ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและกระทบต่อสถานะทางการเงินของประชาชนผู้ตกเป็นเหยื่อโดยตรง โดยให้เร่งดำเนินการป้องกันและปราบปรามอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนและต่อเนื่อง ซึ่งดีเอสไอได้ใช้มาตรการเชิงรุกในการดำเนินคดีด้วยการผสานกำลังและบูรณาการข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งใช้มาตรการยึดอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทุกคดี เพื่อตัดวงจรการกระทำผิด และเพื่อเป็นทรัพย์สำหรับนำมาเฉลี่ยคืนผู้เสียหายตามคำสั่งศาลเมื่อคดีถึงที่สุดด้วย
พ.ต.อ.ไพสิฐกล่าวอีกว่า เรื่องนี้ดีเอสไอได้รับการร้องทุกข์จากประชาชนผู้เสียหายว่ามีการโฆษณาหรือประกาศชักชวนให้มาร่วมลงทุนในธุรกิจจัดหาห้องพักให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยแบบกรุ๊ปทัวร์ซึ่งจองในนามบริษัท ไนซ์ เดย์ ทราเวล จำกัด ที่มีนายปริญญา บุรัสการ และ น.ส.จิรฐา ทองเหลือ เป็นกรรมการ และอ้างว่าการร่วมลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในอัตราสูงซึ่งเมื่อคำนวณแล้วสูงว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสถาบันการเงินในประเทศ จึงมีผู้เสียหายหลงเชื่อร่วมลงทุนจำนวนมาก แต่เมื่อลงทุนแล้วกลับไม่ได้รับค่าตอบแทนตามสัญญา เบื้องต้นมีผู้มาร้องทุกข์จำนวน 142 คน มีมูลค่าความเสียหาย 180 ล้านบาทเศษ ทั้งนี้ จากการสอบสวนขยายผลผู้ต้องหา 2 ราย พบความเชื่อมโยงถึงนายอภิวัฒน์ อัครเดชช์ และว่าที่นาวาตรีแพทย์หญิงประจำโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง สองสามีภรรยากัน เนื่องจากนายอภิวัฒน์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับนายปริญญา
ด้าน พ.ต.ท.พเยาว์เปิดเผยว่า อธิบดีดีเอสไอได้มีคำสั่งให้สอบสวนกรณีดังกล่าวและตรวจสอบทราบว่าได้มีการหลอกผู้เสียหายเป็นเพื่อนสมัยเรียนและอาชีพแพทย์ด้วยกัน จึงรับเป็นคดีพิเศษที่ 38/2560 ก่อนเข้าดำเนินการตรวจค้นสถานที่เป้าหมายจำนวน 2 แห่ง เพื่อยึดอายัดทรัพย์สินที่ได้มาหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด 1. บ้านเลขที่ 579/216 หมู่บ้านเดอะคอนเนค ซอย 8 ถนนสุขสวัสดิ์ 26 แขวงบางมด เขตจอมทอง กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัท ไนซ์ เดย์ ทราเวล จำกัด และปรากฏชื่อ น.ส.จิรฐา ทองเหลือ เป็นเจ้าของและภรรยาของกรรมการบริษัท และ 2. บ้านเลขที่ 117/7 หมู่บ้าน astera pride ถนนพระราม 2 แขวงบางมด เขตจอมทอง กรุงเทพฯ ซึ่งมีนายปริญญา บุรัสการ ตัวการสำคัญในขบวนการแชร์ลูกโซ่ดังกล่าวได้ซื้อไว้เป็นสินทรัพย์มูลค่า 30 ล้านบาท เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา
“พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ใช้อำนาจตามมาตรา 24 ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษฯ ยึดอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ได้แก่ รถยนต์ จำนวน 3 คัน มูลค่ารวมประมาณ 7 ล้านบาท จักรยานยนต์บิ๊กไบค์ จำนวน 7 คัน มูลค่ารวมประมาณ 3 ล้านบาท รวมทั้งอายัดเงินสดจำนวน 6 ล้านบาท ที่นายปริญญา บุรัสการ นำไปวางมัดจำเพื่อซื้อรถหรูยี่ห้อแลมโบกีนี่ รวมมูลค่าการยึดอายัดทั้งสิ้นประมาณ 50 ล้านบาท เพื่อยุติความเสียหายไม่ให้ลุกลามเป็นวงกว้าง รวมทั้งยังต้องสืบเสาะทรัพย์สินและยึดทรัพย์สินที่ได้มาหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดกลับมาเยียวยาผู้เสียหายต่อไป” พ.ต.ท.พเยาว์กล่าว
พ.ต.ท.พเยาว์เผยอีกว่า นอกจากนี้ จากการสอบสวนยังพบว่ามีการชักชวนให้ร่วมลงทุนผลิตภัณฑ์น้ำดื่มและตุ๊กตา หลอกขายให้นักท่องเที่ยวอีกด้วย อย่างไรก็ตาม มีผู้เสียหายบางส่วนไปแจ้งความดำเนินคดีที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ต่อนายปริญญา บุรัสการ จึงเตรียมประสานข้อมูลพร้อมโอนสำนวนคดี หากมีผู้เสียหายเพิ่มเติมสามารถเดินทางมาที่ดีเอสไอได้เลย
ขณะที่ พ.ต.ท.ประวุธกล่าวว่า ดีเอสไอขอฝากเตือนไปยังพี่น้องประชาชนให้ระมัดระวังในการร่วมลงทุนทำธุรกิจที่อ้างว่ามีผลตอบแทนสูง ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีคือกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากการหลอกหลวงประชาชน จึงขอให้ระมัดระวังในการชักชวนผู้อื่นให้ลงทุนในลักษณะดังกล่าวด้วย โดยดีเอสไอได้พัฒนาแอปพลิเคชันลงในโทรศัพท์มือถือเพื่อป้องกันและปราบปรามคดีแชร์ลูกโซ่ในรูปแบบต่างๆ รวมถึง สามารถบันทึกข้อมูลภาพถ่ายและคลิปวิดีโอส่งมาร้องเรียนยังดีเอสไอ หากเข้าข่ายคดีพิเศษก็จะมอบให้สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 ดำเนินการ ส่วนในต่างจังหวัดจะส่งไปยังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และจะให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบว่าเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่จริงหรือไม่ต่อไป นอกจากนี้ยังใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีตามกฎหมายได้เช่นกัน